มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตประชากรโลกในทุก ๆ ปี โดยหนึ่งในสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็คือพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้นเอง แต่จะมี พฤติกรรมเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ อะไรบ้าง และพฤติกรรมใดบ้างที่คุณทำอยู่เป็นประจำ ตามไปหาคำตอบได้ที่บทความนี้จาก Hello คุณหมอ กันค่ะ
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นอย่างไร
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหารส่วนลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนท้ายสุดของกระบวนการย่อยอาหาร โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเริ่มจากเซลล์ขนาดเล็กหรือติ่งเนื้อที่ไม่มีอันตรายในลำไส้ใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปติ่งเนื้อดังกล่าวก็อาจพัฒนากลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย แต่โดยมากแล้วมักจะพบได้ในกลุ่มผู้สูงอายุ
สัญญาณและอาการที่บ่งบอกได้ถึงความเสี่ยงในการเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่
- อาการท้องร่วงท้องเสียเป็นประจำ
- อุจจาระออกมาเป็นเลือด หรือมีเลือดปนมากับอุจจาระ
- อาการปวดท้องอย่างรุนแรงเป็นประจำ ก๊าซในช่องท้อง
- ลำไส้แปรปรวน
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- น้ำหนักลดลงอย่างเห็นได้ชัดโดยไม่ทราบสาเหตุ
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วในระยะแรกเริ่มของ มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะไม่มีอาการแสดงออกอย่างชัดเจน รวมไปถึงอาการหรือสัญญาณของมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน เนื่องจากขนาดและตำแหน่งของเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่ในแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
พฤติกรรมเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีอะไรบ้าง
มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ก่อให้เกิด มะเร็งลำไส้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น
- อายุที่มากขึ้น
- พันธุกรรม
- สมาชิกในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- อาการลำไส้อักเสบ
- โรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับลำไส้ใหญ่
- โรคเบาหวาน
- โรคอ้วน
- การได้รับรังสี
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็คือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ดังนี้
1. การดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์ ถือเป็นหนึ่งในพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกสุขลักษณะ แต่ถ้าหากจำเป็นหรือต้องการที่จะดื่ม ควรดื่มไม่เกิน 1-2 แก้วต่อวัน เพราะผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่า 1-2 แก้วต่อวัน จากผลการศึกษาพบว่ามีความเสี่ยงที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากถึง 6 %
2. มีน้ำหนักตัวมาก
ผู้ที่ปล่อยปละละเลยการดูแลตนเอง จนกระทั่งมีน้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น จากผลการวิจัยพบว่ามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ รวมถึง มะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วย ซึ่งจากผลการสำรวจในสหราชอาณาจักรพบว่า ผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงถึง 11 %
3. การรับประทานเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปมากเกินไป
เนื้อแดงหรือเนื้อแปรรูปในปัจจุบัน ไม่ว่าจะในอาหารบุฟเฟ่ต์หรือปิ้งย่าง พบว่ามีความเสี่ยงที่จะได้รับสารเร่งเนื้อแดงและสารเคมีที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร อย่าง มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งจากผลการสำรวจในสหราชอาณาจักรพบว่า ผู้ที่รับประทานเมนูเนื้อแดงเป็นประจำ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงถึง 13 %
4. รับประทานไฟเบอร์น้อย
ไฟเบอร์ เป็นหนึ่งในอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ทั้งช่วยกระตุ้นการย่อยอาหาร และช่วยในการขับถ่าย แต่ถ้าหากรับประทานไฟเบอร์น้อย จะมีผลต่อระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่ายทันที และในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งจากผลการสำรวจในสหราชอาณาจักรพบว่า ผู้ที่รับประทานไฟเบอร์น้อย มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงถึง 30 % เลยทีเดียว
ป้องกัน มะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้อย่างไรบ้าง
การปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตบางประการดังต่อไปนี้ อาจมีส่วนช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
1. เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจคัดกรอง มะเร็งลำไส้ใหญ่
หลายคนมักจะถือคติ ไม่ตรวจเท่ากับไม่เป็น ซึ่งถือว่าเป็นแนวความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะเราไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้เกิดอาการก่อนแล้วจึงทำการรักษา การเข้ารับการตรวจสุขภาพปีละครั้ง หรือทุก ๆ 6 เดือน จะช่วยให้เราทราบถึงแนวโน้มความเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองความเสี่ยงของ มะเร็งลำไส้ใหญ่ หากพบความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถที่จะหาทางป้องกันหรือรักษาได้ทันท่วงที อย่ารอให้ป่วยหนักก่อนแล้วจึงเข้ารับการตรวจวินิจฉัย
2. รับประทานอาหารที่ให้ไฟเบอร์สูง
ไฟเบอร์เป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่ร่างกายควรได้รับอย่างเพียงพอ เพราะมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย ทั้งยังมีส่วนช่วยให้สุขภาพลำไส้ดีด้วย ดังนั้นควรเน้นรับประทานผักและผลไม้ในทุก ๆ มื้อของการรับประทานอาหาร
3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การไม่ค่อยออกกำลังกาย นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อสุขภาพหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีส่วนช่วยให้ระบบทางเดินอาหาร ระบบย่อยอาหาร ระบบเผาผลาญ และระบบขับถ่ายทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ช่วยลดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับลำไส้ และลดความเสี่ยงของอาการทางสุขภาพอื่น ๆ
4. รักษาน้ำหนักให้เหมาะสม
หากน้ำหนักเกินมาตรฐานค่าเฉลี่ยหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วน ถือว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรหมั่นออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อดูแลให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและห่างไกลจากโรคอ้วน
5. ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง
หากเป็นไปได้ควรเลิกดื่มแอลกอฮอล์ แต่ถ้าหากอยู่ในสภาวะที่เลี่ยงได้ยาก ควรรู้จักยับยั้งปริมาณในการดื่ม ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่า 1-2 แก้วต่อวัน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้