มะเร็งโคนลิ้น เป็นมะเร็งปากหรือมะเร็งในช่องปากชนิดหนึ่ง มักเกิดจากสเควมัสเซลล์ (Squamous Cell) ที่อยู่บนผิวลิ้น และอาจทำให้เกิดแผลหรือเนื้องอกที่ลิ้นของคุณได้
คำจำกัดความ
มะเร็งโคนลิ้น คืออะไร
โรคมะเร็งโคนลิ้น เป็นมะเร็งปากหรือมะเร็งในช่องปากชนิดหนึ่ง มักเกิดจากสเควมัสเซลล์ (Squamous Cell) ที่อยู่บนผิวลิ้น และอาจทำให้เกิดแผลหรือเนื้องอกที่ลิ้นของคุณ สัญญาณที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของมะเร็งโคนลิ้น คือ อาการเจ็บลิ้นที่ไม่หาย
หากมะเร็งโคนลิ้นเกิดบริเวณด้านหน้าของลิ้นจะเรียกว่า “มะเร็งลิ้นในช่องปาก” แต่หากเกิดที่โคนลิ้นใกล้กับที่ติดกับปากล่างจะเรียกว่า “มะเร็งช่องปาก” มะเร็งผิวหนังชนิดสเควมัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma) เป็นมะเร็งโคนลิ้นชนิดที่พบบ่อยที่สุด มะเร็งชนิดนี้มักเกิดในบริเวณต่อไปนี้
- ด้านบนสุดของผิวหนัง
- ในเยื่อบุปาก จมูก กล่องเสียง ไทรอยด์ และลำคอ
- ในเยื่อบุทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร
เนื้องอกที่เกิดขึ้นจาก โรคมะเร็งโคนลิ้น สามารถพัฒนาได้ในต่อมที่ผลิตน้ำลาย ต่อมทอนซิลที่ด้านหลังของปาก และส่วนของลำคอที่เชื่อมต่อปากของคุณกับหลอดลม (คอหอย)
มะเร็งโคนลิ้น พบบ่อยเพียงใด
โรคมะเร็งโคนลิ้น เป็นมะเร็งที่พบได้น้อยกว่าชนิดอื่น ๆ และพบได้น้อยในเด็ก นอกจากนั้น โรคมะเร็งโคนลิ้นจะพบได้บ่อยในผู้ชายที่มีอายุมากกว่าในผู้หญิง และมักพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี
อาการ
อาการของ โรคมะเร็งโคนลิ้น
อาการของ โรคมะเร็งโคนลิ้น ในระยะแรก มักจะสังเกตได้ค่อนข้างยาก อาการเริ่มต้นที่พบได้บ่อยที่สุดของมะเร็งโคนลิ้น คือ อาการเจ็บที่ลิ้นไม่หาย และเลือดออกง่าย นอกจากนั้น คุณอาจสังเกตเห็นอาการปวดปากหรือลิ้นร่วมด้วย ส่วนอาการอื่น ๆ ของ โรคมะเร็งโคนลิ้น ได้แก่
- บนลิ้นของคุณจะมีรอยสีแดงหรือขาวปรากฏอยู่
- เกิดแผลที่ลิ้นอยู่ตลอดเวลาไม่ยอมหาย
- ปวดบริเวณใกล้ ๆ ลิ้น
- เสียงเปลี่ยนไป เช่น เสียงแหบ
- ปวดเมื่อกลืน หรือมีปัญหาในการกลืน
- อาการชาในปาก
- อาการเจ็บคอที่ไม่หาย
- เลือดออกจากลิ้นโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน
- เกิดก้อนบนลิ้นแบบไม่ยอมหาย
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากคุณมีอาการเจ็บที่ลิ้นหรือในปากแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ คุณควรไปพบคุณหมอ หากปัญหาอยู่ที่โคนลิ้น คุณอาจสังเกตอาการได้ยาก แต่ทันตแพทย์หรือแพทย์ประจำตัวของคุณอาจพบความผิดปกติหรือสัญญาณของ โรคมะเร็งโคนลิ้น ในระหว่างการตรวจสุขภาพทั่วไป หรือการตรวจสุขภาพฟันประจำปีได้
สาเหตุ
สาเหตุของ โรคมะเร็งโคนลิ้น
ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่า ทำไมบางคนถึงได้เป็น โรคมะเร็งโคนลิ้น แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่เฉพาะเจาะจง สามารถเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคนี่ได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งโคนลิ้น
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิด โรคมะเร็งโคนลิ้น ได้แก่
- การสูบบุหรี่ ซิการ์ และไปป์
- เป็นฟันปลา
- ไม่ดูแลฟันและเหงือก
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- ไม่ค่อยรับประทานผักและผลไม้
- รับประทานเนื้อแดงหรืออาหารแปรรูปเป็นประจำ
- ติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human Papillomavirus หรือ HPV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ยีนของคุณอาจมีส่วนทำให้คุณเป็นโรคมะเร็งโคนลิ้นได้
- เคี้ยวหมาก ส่วนใหญ่นิยมในทวีปเอเชีย พฤติกรรมนี้อาจกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งโคนลิ้น
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งโคนลิ้นหรือปาก
- เคยเป็นมะเร็งมาก่อน โดยเฉพาะมะเร็งที่มีสเควมัสเซลล์และอื่น ๆ
การมีปัจจัยเสี่ยง หมายความว่า ความเสี่ยงในการเป็น โรคมะเร็งโคนลิ้น ของคุณจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นมะเร็งเสมอไป
ภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งโคนลิ้น
โรคมะเร็งโคนลิ้น และการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งส่งผลต่อลักษณะปากของคุณ ทำให้เกิดปัญหาในการพูด และกลืนอาหารลำบากขึ้น ซึ่งอาการกลืนอาหารลำบาก อาจเป็นปัญหาร้ายแรง หากอาหารชิ้นเล็ก ๆ เข้าไปในทางเดินหายใจของคุณ เมื่อคุณพยายามกลืนอาหาร แล้วอาหารเข้าไปติดอยู่ในปอดของคุณ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่หน้าอก หรือที่เรียกว่า “ปอดบวมจากการสำลัก”
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยมะเร็งโคนลิ้น
ในการวินิจฉัย โรคมะเร็งโคนลิ้น คุณหมอของคุณจะซักประวัติทางการแพทย์ก่อน คุณหมอจะถามคุณเกี่ยวกับครอบครัว หรือประวัติส่วนตัวว่าเคยเป็นมะเร็งหรือไม่ หากคุณสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คุณดื่มในปริมาณเท่าใด คุณเคยตรวจพบเชื้อไวรัส HVP หรือไม่
จากนั้น คุณหมอจะทำการตรวจร่างกายในช่องปากของคุณ เพื่อหาสัญญาณของมะเร็ง เช่น แผลที่ไม่ได้รับการเยียวยา คุณหมอจะตรวจดูต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง เพื่อตรวจหาอาการบวม
หากคุณหมอพบสัญญาณของ โรคมะเร็งที่โคนลิ้น คุณหมอจะตรวจชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง การตรวจชิ้นเนื้อฟันเป็นประเภทของการตรวจชิ้นเนื้อที่ใช้บ่อยที่สุด ในการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งที่โคนลิ้น
คุณหมออาจทำการตรวจชิ้นเนื้อแบบใหม่ที่เรียกว่า “การตรวจชิ้นเนื้อด้วยแปรงแทนการตัดชิ้นเนื้อ” ในการตรวจชิ้นเนื้อประเภทนี้ คุณหมอจะใช้แปรงเล็ก ๆ แปรงบริเวณที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง สิ่งนี้ทำให้เลือดออกเล็กน้อย จากนั้นคุณหมอก็จะรวบรวมเซลล์ไปทดสอบ
เซลล์จากการตรวจชิ้นเนื้อทั้ง 2 ประเภท จะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการ เพื่อทำการวิเคราะห์ หากคุณเป็น โรคมะเร็งที่โคนลิ้น คุณหมออาจทำการ CT Scan หรือ MRI เพื่อดูว่ามันอยู่ลึกแค่ไหน และแพร่กระจายไปไกลแค่ไหนแล้ว
การรักษามะเร็งโคนลิ้น
การรักษา โรคมะเร็งโคนลิ้น จะขึ้นอยู่กับว่า เนื้องอกของคุณอยู่บริเวณไหนและมีขนาดใหญ่แค่ไหน การผ่าตัดมักเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเอาเนื้องอกส่วนที่มองเห็นได้ออกจากลิ้นของคุณ คุณหมออาจเอาเนื้อเยื่อที่มีสุขภาพดีและต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงออกไปด้วย เพื่อให้แน่ใจว่า มะเร็งทั้งหมดจะหาย
หากมะเร็งอยู่ที่หลังลิ้น คุณอาจได้รับการรักษาด้วยรังสี เช่น รังสีเอกซเรย์ และรังสีอื่น ๆ บางครั้งการรักษาที่ดีที่สุด คือ การใช้เคมีบำบัดร่วมกับยาต้านมะเร็งและการฉายรังสี คุณอาจต้องได้รับการบำบัดในภายหลัง เพื่อช่วยให้คุณเคี้ยว ขยับลิ้น กลืน และพูดได้ดีขึ้น นอกจากนั้น คุณต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่ามะเร็งจะไม่กลับมา
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือมะเร็งโคนลิ้น
คุณสามารถลดความเสี่ยงในการเป็น โรคมะเร็งโคนลิ้น ได้โดยการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำไปสู่ โรคมะเร็งโคนลิ้น และด้วยการดูแลช่องปากของคุณ เพื่อลดความเสี่ยงของคุณ ดังนี้
- เลิกสูบบุหรี่
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มเป็นครั้งคราวเท่านั้น
- อย่าเคี้ยวหมากฝรั่ง
- รับวัคซีน HPV ให้ครบตามกำหนด
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อออรัลเซ็กส์ (Oral Sex)
- พยายามรับประทานผักและผลไม้ให้มาก
- แปรงฟันทุกวัน และใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ
- พบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือนถ้าเป็นไปได้