backup og meta

Triglyceride คืออะไร ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/09/2022

    Triglyceride คืออะไร ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร

    Triglyceride (ไตรกลีเซอไรด์) คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่อยู่ในกระแสเลือด ส่วนใหญ่มาจากอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากสะสมในร่างกายมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ดังนั้น จึงควรควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายเป็นประจำ

    Triglyceride คืออะไร

    ไตรกลีเซอไรด์ คือ ไขมันชนิดหนึ่งในกระแสเลือดที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นในตับ รวมถึงได้จากอาหารที่รับประทาน โดยเฉพาะอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และน้ำตาลสูง เช่น เนย ข้าวขาว คุกกี้ ไอศกรีม พุดดิ้ง น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ร่างกายจะเก็บไตรกลีเซอไรด์สะสมไว้ในเซลล์ไขมันตามส่วนต่าง ๆ  เช่น สะโพก แขน ขา หน้าท้อง เพื่อใช้เป็นพลังงาน แต่ไตรกลีเซอไรด์จะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อร่างกายเกิดการเผาผลาญเท่านั้น ถ้าหากไม่มีการเผาผลาญก็อาจก่อให้เกิดการสะสมของไตรกลีเซอไรด์ในปริมาณมาก จนส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มและอ้วนขึ้น

    เหตุผลที่ควรลด Triglyceride

    เนื่องจาก ไตรกลีเซอไรด์จัดอยู่ในกลุ่มไขมันไม่ดี หากร่างกายมีปริมาณของไตรกลีเซอไรด์สูงเกินกว่า 150-500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ไขมันอุดตันในหลอดเลือด น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ภาวะก่อนเบาหวาน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ตับอ่อนอักเสบ และภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ดังนั้น จึงควรควบคุมปริมาณของไตรกลีเซอไรด์ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติที่ต่ำกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง Triglyceride สูง

    ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไตรกลีเซอไรด์สูง มีดังนี้

    • ผู้ป่วยเบาหวานรวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย และมีระดับคอเลสเตอรอลไม่ดีตั้งแต่ 70-189 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป
    • ผู้ใหญ่ที่มีอาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดอื่น ๆ รวมถึงผู้ที่รักษาด้วยการผ่าตัดบายพาส หรือการทำเคมีบำบัด

    วิธีลด Triglyceride ที่เหมาะสม

    วิธีลดไตรกลีเซอไรด์อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืช เช่ผักใบเขียวน  ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ส้ม ฝรั่ง กล้วย แคนตาลูป แตงโม ข้าวโอ๊ต  ข้าวกล้อง ถั่วเหลือง ขนมปังโฮลเกรน อัลมอนด์ ในปริมาณ 25-30 กรัม/วัน และควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันดี อย่างโอเมก้า 3 และ 6 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล ปลาเทราท์ น้ำมันมะกอก น้ำมันอะโวคาโด
    • ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น อาหารทอด อาหารแปรรูป ครีม ข้าวขาว ลูกอม ขนมกรุบกรอบ ขนมอบ ขนมปังขาว พาสต้า เนื้อสัตว์ติดมัน
    • ไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไป เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับไตรกลีเซอไรด์มากขึ้น ควรรับประทานอาหารแต่พอดี โดยอาจเริ่มจากการรับประทานอาหารในภาชนะที่เล็กลง และเคี้ยวอาหารอย่างช้า ๆ
    • ไม่ควรอดอาหาร เพราะการอดอาหารอาจทำให้รู้สึกหิวและรับประทานอาหารมื้อต่อไปมากกว่าเดิม ส่งผลให้ระดับ ไตรกลีเซอไรด์เพิ่มมากขึ้น
    • ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่ปรุงแต่งด้วยน้ำตาลและน้ำเชื่อมสังเคราะห์ เพราะอาจเพิ่มระดับ ไตรกลีเซอไรด์และระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังได้
    • ออกกำลังกาย อาจช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไตรกลีเซอไรด์เพื่อเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน ช่วยลดระดับ ไตรกลีเซอไรด์ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควบคุมน้ำหนักตัวและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และช่วยลดความเสี่ยงไตรกลีเซอไรด์สูง โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ วันละ 30 นาที เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ
    • จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่น เบียร์ ไวน์ เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลให้ไตรกลีเซอไรด์และระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงอาจดื่มได้วันละ 1 แก้ว ผู้ชายวันละ 2 แก้ว
    • เลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่อาจส่งผลให้หลอดเลือดเสียหาย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่มี ไตรกลีเซอไรด์สูง

    สำหรับผู้ที่ไม่สามารถลดระดับ Triglyceride ด้วยวิธีธรรมชาติ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีการลดไตรกลีเซอไรด์อย่างเหมาะสม โดยคุณหมออาจให้ใช้ยา ดังต่อไปนี้

  • กลุ่มยาสแตติน (Statins) เช่น โรซูวาสแตติน (Rosuvastatin) อะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) เป็นยาลดคอเลสเตอรอล เหมาะสำหรับผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดอุดตัน
  • กลุ่มยาไฟเบรต (Fibrate) เช่น เจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil) ฟีโนไฟเบรต (Fenofibrate) ใช้เพื่อช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ แต่ยานี้ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและตับ
  • ไนอะซิน (Niacin) หรือกรดนิโคตินิก (Nicotinic Acid) เป็นวิตามินบี 3 ที่อาจช่วยลดคอเลสเตอรอลไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์
  • น้ำมันปลา หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ อาจช่วยลดคอเลสเตอรอลไม่ดี และไตรกลีเซอไรด์ อีกทั้งยังอาจช่วยป้องกันลิ่มเลือด จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงหลอดเลือดอุดตันได้
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา