backup og meta

สอนลูกทำงานบ้าน อีกหนึ่งเคล็ดลับฝึกความรับผิดชอบให้ลูก

สอนลูกทำงานบ้าน อีกหนึ่งเคล็ดลับฝึกความรับผิดชอบให้ลูก

ความรับผิดชอบ ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญในการใช้ชีวิตที่คนทุกเพศทุกวัยควรมี ยิ่งหากได้ฝึกความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก ก็ยิ่งส่งผลให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบสูง ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งกับตัวเองและสังคมด้วย เมื่อพูดถึงการฝึกความรับผิดชอบให้ลูก คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็อาจคิดไม่ตกว่าควรเริ่มต้นอย่างไรดี แต่ Hello คุณหมอ อยากบอกว่า คุณไม่จำเป็นต้องเครียด หรือวิตกกังวลแต่อย่างใด เพราะคุณสามารถเริ่มต้นฝึกความรับผิดชอบให้ลูกได้ง่าย ๆ ด้วยการ สอนลูกทำงานบ้าน

ข้อดีของการ สอนลูกทำงานบ้าน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ศึกษาเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องกันระหว่างปัจจัยทางจิตสังคมและกระบวนการทางชีววิทยา (Biological Process) ในวัยเด็กกับลักษณะสุขภาพและความเป็นอยู่เมื่อโตขึ้น พบว่า เด็กที่เคยทำงานบ้านได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนในการทำงานสูงกว่า โดยงานบ้านถือเป็นตัวแปรสำคัญที่บ่งชี้ได้ว่า เด็กน่าจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข สุขภาพแข็งแรง และพึ่งพาตนเองได้

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การทำงานบ้าน ช่วยพัฒนาภาวะจิตสังคมให้กับเด็ก ๆ ได้ (ภาวะจิตสังคม หมายถึง ภาวะทางด้านจิตใจอารมณ์ที่เราแสดงออกให้ผู้อื่นเห็น ผ่านทางสีหน้า แววตา คำพูด น้ำเสียง อากัปกิริยา ท่าทาง และพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ทัศนคติ การตัดสินใจ การตอบสนองต่อพฤติกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน)

นอกจากนี้ การทำงานบ้านยังฝึกให้เด็กรู้จักแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ ได้มีส่วนร่วม ได้ฝึกความรับผิดชอบ ทั้งยังทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นที่ต้องการของครอบครัว ไม่รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าอีกด้วย โดยผลสำรวจชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่จำนวน 1,001 คน ชี้ว่า ร้อยละ 75 เชื่อว่างานบ้านช่วยให้เด็กมีความรับผิดชอบมากขึ้น ส่วนร้อยละ 63 กล่าวว่า การสอนลูกทำงานบ้าน จัดเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญ ที่เด็กทุกคนควรได้เรียนรู้ไว้

งานบ้านที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย

งานบ้านสำหรับเด็ก ก่อนวัยเรียน

เด็กก่อนวัยเรียน (อายุประมาณ 3-4 ปี) ควรฝึกงานบ้านง่าย ๆ ที่เน้นการจัดเก็บสิ่งของของเขาเอง เช่น การเก็บของเล่นใส่ตะกร้า หากเขาเริ่มคล่องแล้ว คุณอาจฝึกให้เขาเก็บห้องนอน หรือเก็บจานของตัวเองไปไว้ที่อ่างล้างจานหลังกินอาหารเสร็จด้วยก็ได้

เด็กวัยนี้จะตอบสนองต่อตารางกิจกรรมหรือตารางสะสมคะแนนได้เป็นอย่างดี เราแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ทำตารางงานบ้านที่เขาต้องทำ พร้อมมีช่องใส่คะแนนเมื่อเขาทำงานบ้านนั้น ๆ เสร็จ เด็กก่อนวัยเรียนยังอ่านหนังสือไม่ออก คุณจึงควรทำตารางโดยใช้สติกเกอร์แทนงานบ้านแต่ละอย่าง และคะแนนแต่ละคะแนน วิธีนี้จะช่วยให้เขาจำงานบ้านที่ต้องรับผิดชอบได้ดีขึ้น

สำหรับของรางวัลนั้น หากเป็นเด็กเล็กมาก การได้เห็นสติกเกอร์ลายสวย ๆ แปะบนตารางก็ทำให้เขาพอใจมากแล้ว แต่หากเป็นเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย คุณอาจต้องมีรางวัลที่ใหญ่ขึ้น จึงจะกระตุ้นให้เขาอยากทำงานบ้านได้ แต่แนะนำว่าอย่าใช้รางวัลมาดึงดูดใจลูกบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้เขาติดนิสัยทำอะไรเพราะหวังผลตอบแทนได้

งานบ้านสำหรับเด็ก วัยเรียน

เด็กวัยเรียน (อายุประมาณ 5-10 ปี) ควรรับผิดชอบงานบ้านมากกว่าเด็กก่อนวัยเรียน นอกจากจะต้องเก็บห้อง หรือเก็บของที่ตัวเองใช้แล้ว คุณควรให้เขาดูแลตัวเองเพิ่มขึ้น เช่น เก็บรองเท้านักเรียนเข้าที่ เก็บกระเป๋านักเรียนให้เป็นที่เป็นทาง

คุณสามารถมอบหมายงานบ้านที่ซับซ้อนขึ้นให้กับเด็กวัยนี้ได้ เช่น ให้เขาเก็บเสื้อผ้าที่ใส่แล้วลงตะกร้าให้เรียบร้อย โดยต้องหัดให้เขาแยกเสื้อผ้าแต่ละตัวตามชนิด หรือสีผ้าด้วย แต่อย่าคาดหวังว่าเขาจะต้องทำได้ตามที่คุณคาดหวังร้อยเปอร์เซ็นต์ หากเขาทำถูกต้องก็ควรชื่นชมเป็นกำลังใจ แต่หากเขาทำผิดก็ควรแนะนำวิธีที่ถูกต้องให้ ไม่ใช่ต่อว่าหรือทำโทษจนลูกขยาดการทำงานบ้านดังกล่าวไปเลย

งานบ้านสำหรับเด็ก วัยก่อนวัยรุ่น

เด็กในวัยก่อนวัยรุ่น (อายุประมาณ 10-14 ปี) เริ่มมีความรับผิดชอบมากขึ้นแล้ว คุณสามารถให้เขาเริ่มทำงานบ้านที่ไม่ได้รับผิดชอบแค่เรื่องของตัวเองได้แล้ว เช่น ทำความสะอาดห้องน้ำ ถูพื้น ปัดฝุ่น ล้างจาน

คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องมีรางวัลให้กับเด็กวัยนี้ทุกครั้งที่เขาทำงานบ้าน แต่คุณอาจมีรางวัลหรือค่าตอบแทนให้เวลาเขาทำงานบ้านเพิ่มเติมนอกเหนือจากหน้าที่ตัวเอง หากตอบแทนเป็นเงินสด หรือเงินฝากธนาคารก็จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการทางการเงินอีกทางหนึ่งด้วย

เคล็ดลับในการ สอนลูกทำงานบ้าน

การสอนลูกทำงานบ้านอาจเป็นเรื่องยาก แต่เคล็ดลับต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณสอนลูกทำงานบ้านได้ราบรื่นขึ้น

อย่ายึดติดกับความสมบูรณ์แบบ

หากคุณอยากให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบ ก็อาจกดดันจนทำให้ลูกรู้สึกเครียด หรือไม่อยากทำงานบ้านที่ได้รับมอบหมายได้ คุณต้องจำไว้ว่า “ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แม้แต่ตัวคุณเอง” ฉะนั้น เวลาสอนลูกทำงานบ้าน คุณควรใช้วิธีการที่ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป เด็กจะได้รู้สึกผ่อนคลาย และอยากทำงานนั้นเองโดยไม่รู้สึกว่าโดนบังคับ หากผลลัพธ์ออกมาไม่ได้ตามที่คุณต้องการ คุณก็สามารถให้คำแนะนำแก่ลูกได้ เขาจะได้ปรับปรุงและทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

อย่ามัวแต่รอ

คุณอาจรู้สึกว่าลูกยังเด็กเกินไป ยังไม่สามารถรับผิดชอบงานบ้านได้ แต่รู้ไหมว่าจริง ๆ แล้ว เด็ก ๆ เขามีความสามารถมากกว่าที่คุณคิดเยอะเลย ฉะนั้น อย่ามัวลังเล หรือรอให้ลูกโตเกินไป เพราะอาจทำให้เขาเคยชินกับการไม่ต้องรับผิดชอบงานบ้านใด ๆ และทำให้คุณสอนลูกทำงานบ้านได้ยากขึ้นอีก อย่างที่เราแนะนำว่า เด็กก่อนวัยเรียน หรือเด็กวัย 3-4 ปี ก็สามารถเริ่มรับผิดชอบงานบ้านง่าย ๆ ได้แล้ว

รู้จักเอ่ยชมลูกบ้าง

คุณไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกทำงานบ้านเสร็จก่อนค่อยชมเขา แต่คุณสามารถเอ่ยชมหรือให้กำลังใจลูกตอนเขาทำงานบ้านอยู่ก็ได้ คำชมหรือกำลังใจจากคุณจะช่วยให้เด็กรู้สึกดี และเป็นแรงขับเคลื่อนให้เขาอยากทำงานบ้านต่อไป โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ๆ

เห็นไหมว่าการสอนลูกทำงานบ้านมีข้อดีมากจริง ๆ รู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมลองฝึกให้เด็กได้รับผิดชอบงานบ้านที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเขาดูนะคะ

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

The Importance of Chores for Kids. https://www.verywellfamily.com/the-importance-of-chores-for-kids-1095018. Accessed August 5, 2020

Divide and Conquer Household Chores. https://www.webmd.com/parenting/features/chores-for-children#1. Accessed August 5, 2020

How to Get Your Children to Do Chores. https://www.psychologytoday.com/us/blog/some-assembly-required/201907/how-get-your-children-do-chores. Accessed August 5, 2020

How to teach your toddler to do chores. https://www.babycenter.com/0_how-to-teach-your-toddler-to-do-chores_11948.bc. Accessed August 5, 2020

การประเมินภาวะจิตสังคม. http://www.nurse.nu.ac.th/web11/E-learning/BCPN-CAI/12ประเมินจิตสังคม.pdf. Accessed August 5, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

21/08/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีบริหารสมอง เสริมสร้างพัฒนาการ สำหรับเด็ก

ทักษะชีวิต ที่เด็กแต่ละช่วงวัยควรเรียนรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 21/08/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา