สาเหตุของการเกิดฟันผุ
การเกิดฟันผุ มาจากปัจจัย 4 ประการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน ได้แก่
- แผ่นคราบจุลินทรีย์
- อาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล
- ตัวฟัน
- เวลา
โดยแบคทีเรียที่มีอยู่ตามปกติในช่องปากจะทำปฏิกิริยากับคราบพลัค (Plaque) ที่ติดค้างอยู่ตามซอกฟัน และผิวเคลือบฟัน ซึ่งเราขจัดออกไปได้ไม่หมด เกิดเป็นกรดขึ้น ซึ่งกรดสามารถทำลายผิวเคลือบฟัน ก่อให้เกิดฟันผุขึ้นได้หากค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ในปากมีค่าต่ำกว่า 5.5 บ่อย ๆ และเป็นเวลานาน
ผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึงจากฟันผุ
อาการ
ปวดฟันจากฟันผุ หากปล่อยให้ลุกลามจะมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เชื้อโรคจะแพร่กระจายตามกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ที่สำคัญ และอาจส่งผลเสียต่อโรคหัวใจได้ จากที่มีการตรวจพบเชื้อโรคที่ทำให้เกิดฟันผุ “สเตร็ปโตคอคคัส” ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ตรวจพบในโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ และลิ้นหัวใจอักเสบ ดังนั้น จึงมีการตื่นตัวในการป้องกันรักษา
สุขภาพฟัน เพื่อไม่ให้ฟันผุไปทำให้โรคหัวใจทวีความรุนแรงขึ้นหรือมีผลเสียต่อโรคหัวใจ
อย่างไรก็ตาม โรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แม้ว่าจะมีการศึกษาติดตาม แต่ในทางวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันข้อมูลรับรองว่า ฟันผุทำให้เกิดโรคหัวใจได้หรือไม่ แต่พบว่ามีผลเสียต่อโรคหัวใจ เมื่อใดที่มีเลือดออกในช่องปาก เชื้อแบคทีเรียในช่องปากจะสามารถเข้าไปในกระแสเลือดได้ และเมื่อผู้ป่วยโรคหัวใจมีอาการ
ปวดฟันมาเข้ารับการรักษา อาจต้องให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนการทำฟัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
อาการของฟันผุ
การผุของฟัน จะเริ่มขึ้นที่ชั้นผิวเคลือบฟันก่อน โดยจะเห็นเป็นจุดดำเล็ก ๆ หรือเป็นเส้นดำตามร่องฟันด้านบดเคี้ยวหรือเนื้อฟันมีสีขาวขุ่นผิดปกติ ระยะนี้มักไม่พบอาการเสียวฟันหรือปวดฟันแต่อย่างใดซึ่งการทำความสะอาดฟันที่ดี สามารถชะลอการลุกลามของฟันผุได้ แต่หากเราปล่อยไว้ไม่ดูแล จนฟันผุลุกลามไปถึงชั้นเนื้อฟัน จะมีอาการเสียวฟันเมื่อเคี้ยวอาหาร หรือเมื่อกระทบของเย็น บางครั้งอาจมีอาการปวดได้
และถ้าเรายังปล่อยทิ้งไว้จนฟันผุลุกลามไปถึงขั้นโพรงประสาทฟัน ซึ่งมีเส้นเลือดและเส้นประสาท จะทำให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้น อาจถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับก็มี บางครั้ง แม้จะใช้ยาแก้ปวดก็ยังไม่อาจทุเลาอาการปวดได้ และถ้าลุกลามมากอาจทำให้รากฟันอักเสบและเป็นหนอง เหงือกบวม หรือแก้มบวมได้ซึ่งระยะนี้ไม่สามารถอุดฟันด้วยวิธีปกติทั่วไปได้ ต้องรักษาคลองรากฟัน ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เวลารักษานาน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย บางครั้งอาจต้องสูญเสียฟัน เนื่องจากอาการผุลุกลามมาก ไม่สามารถเก็บรักษาฟันซี่นั้นไว้ได้ ซึ่งจะมีผลกระทบด้านการบดเคี้ยวจะมีประสิทธิภาพลดลง และต้องใช้ฟันปลอม
การดูแลและรักษาฟันผุ
- ฟันผุในระยะเริ่มแรกที่มีสีขุ่นขาว เพียงทำให้ช่องปากได้รับฟลูออไรด์สม่ำเสมอทุกวัน เช่น แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เป็นประจำ ก็สามารถทำให้การผุนี้กลับคือสู่สภาพปกติได้
- ในฟันที่ชั้นเคลือบฟันมีการเปลี่ยนเป็นสีดำ แต่ยังไม่เป็นรูนั้น การแปรงฟันให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ สามารถยับยั้งการผุไม่ให้เป็นรูผุได้ และคอยตรวจเพื่อดูว่ามีการลุกลามของฟันผุเพิ่มขึ้นหรือไม่
- หากการผุลุกลามจนเป็นรู แต่ไม่ลุกลามถึงโพรงประสาทฟัน รักษาได้ด้วยการอุดฟัน
- การผุที่ลุกลามถึงโพรงประสาทฟัน ต้องคำนึงถึงเนื้อฟันที่มีเหลือ หากมีพอเพียงที่จะบูรณะได้ก็จะรักษาโพรงประสาทฟัน และบูรณะฟันให้อยู่ในสภาพเดิมโดยการอุดฟันหรือครอบฟัน
- หากเนื้อฟันมีเหลืออยู่น้อยเกินไป ต้องรักษาโดยการถอนฟัน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเศษอาหาร และเชื้อโรค อันจะก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ลุกลามไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้
- กรณีที่วัสดุอุดฟันแตก ควรรีบรับการอุดฟันใหม่ เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุ
การป้องกันฟันผุ
ฟันผุ เป็นอาการที่ไม่สามารถรักษาหรือป้องกันได้โดยวิธีการกินยา เมื่อมีฟันผุก็ต้องรักษาด้วยการอุดฟัน หรือถอนฟันเท่านั้นดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุ เรามีวิธีปฏิบัติได้ด้วยตนเองอย่างง่าย ๆ ดังนี้
1. รักษาสุขภาพอนามัยช่องปากให้สะอาดด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน ควรแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์หลังรับประทานอาหารเสร็จทุกครั้ง หรือถ้าทำได้ไม่สะดวก ก็ใช้วิธีบ้วนน้ำแรง ๆ หลาย ๆ ครั้ง