เมื่อการนอนหลับของคุณเข้าสู่ภาวะผิดปกติ แต่คุณไม่ทราบว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด วันนี้ Hello คุณหมอ ขอนำเทคนิค การวินิจฉัยพฤติกรรมการนอนหลับ ด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่อาจช่วยวิเคราะห์ปัญหาการนอนหลับเบื้องต้น และช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาการนอนหลับของคุณได้อย่างตรงจุด
การวินิจฉัยพฤติกรรมการนอนหลับ คืออะไร
การวินิจฉัยพฤติกรรมการนอนหลับ (Polysomnography) หรือการ ตรวจการนอนหลับ (Sleep test) คือการทดสอบ และจดบันทึกข้อมูลการนอนหลับของคุณ โดยปกติการวินิจฉัยจะทำในห้องปฏิบัติการเฉพาะที่แพทย์เตรียมไว้ โดยต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์บริเวณศีรษะ ตา หน้าอก ขมับ ขา นิ้วมือ รวมไปถึงตั้งไมโครโฟนเพื่อช่วยบันทึกเสียงกรนผู้ป่วย และตรวจระบบการทำงานสมอง ระบบหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือด และตลอดทุกการเคลื่อนไหวต่าง ๆ
แม้ว่าการ ตรวจการนอนหลับ อาจจะฟังดูวุ่นวาย แต่คุณไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะในช่วงขณะคุณหลับพักผ่อนในห้องนั้น จะมีทีมแพทย์ หรือผู้ดูแลคอยสังเกตคุณอยู่ตลอดทั้งคืน ผ่านทางอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้บนร่างกายคุณและส่งสัญญาณมายังจอแสดงผลด้านนอก เพื่อเริ่มทำการศึกษาถึงความผิดปกติของการนอนหลับจนกระทั่งคุณตื่น
การวินิจฉัยพฤติกรรมการนอนหลับ มีกี่ประเภท
ก่อนเริ่มต้นการ ตรวจการนอนหลับ แพทย์อาจมีการสอบถามถึงปัญหาการนอนหลับคุณเบื้องต้นเสียก่อนว่ามีอาการใดบ้าง จากนั้นจึงดำเนินการเลือกประเภทการทดสอบที่เหมาะสมแก่สุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งมักมี 4 ประเภท หลัก ๆ ด้วยกัน ดังนี้
1. Diagnostic overnight PSG
เป็นการ ตรวจการนอนหลับ แบบทั่วไป ที่ใช้เกณฑ์การสังเกตระบบหายใจ ตั้งแต่การวัดระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของสมอง จับจังหวะหัวใจ และการเคลื่อนไหวของร่างกายขณะหลับเป็นหลัก
2. Diagnostic daytime multiple sleep latency test (MSLT)
ตรวจการนอนหลับ ประเภทนี้มักจะทำในช่วงเวลากลางวัน เพื่อให้ทราบระยะเวลาการนอนหลับ ว่าคุณสามารถหลับได้รวดเร็ว และงีบหลับได้บ่อยเพียงใดในสถานการณ์ที่เงียบสงบระหว่างวัน
3. Two-night evaluation PSG and CPAP titration
การตรวจประเภทนี้อาจใช้ระยะเวลา 2 คืนด้วยกัน โดยคืนแรกแพทย์จะทำการสังเกตว่าคุณมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยหรือไม่ จากนั้นจึงจะหาค่าความดันอากาศที่เหมาะสมกับคุณ แล้วติดตั้งเครื่องช่วยหายใจ CPAP เพื่อช่วยให้ทางเดินหายใจของคุณเปิดอยู่ตลอดเวลาที่คุณนอนหลับ และช่วยลดอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
4. Split-night PSG with CPAP titration
คุณอาจต้องเข้ารับการ ตรวจการนอนหลับ ประเภทนี้ หากคุณมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับในระดับปานกลาง โดยวิธีการนี้จะเป็นการ ตรวจการนอนหลับ เพื่อทำการวินิจฉัยและดูว่า การใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP ก่อนหน้านี้ได้ผลหรือไม่ จากนั้นแพทย์ก็อาจเพิ่มค่าความดันอากาศขึ้นอีกระดับหนึ่ง เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอนหลับของคุณ
อย่างไรก็ตาม Susheel P. Patil ผู้อำนวยการคลินิกโครงการด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ Johns Hopkins Sleep Medicine กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการทดสอบการนอนหลับ ด้วยการรสวมเครื่องวัดระดับบอกซิเจนเพื่อติดตามการหายใจ อาจเป็นวิธีที่มีความสะดวก และให้ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่ก็อาจไม่สามารถตรวจพบปัญหาสุขภาพการนอนหลับทั้งหมดได้
สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ การหายใจ ระบบประสาท และกล้ามเนื้อในระหว่างคุณนอนหลับ ควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ในห้องปฏิบัติการจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด และรู้ถึงการรักษาอย่างตรงจุดได้มากกว่า
ใครบ้างที่ควร ตรวจการนอนหลับ
ผู้ที่มีสภาวะดังต่อไปนี้ ควรเข้ารับการ ตรวจการนอนหลับ
- ความผิดปกติของการนอนหลับรูปแบบ REM
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- อาการง่วงนอนบ่อยในช่วงเวลากลางวัน
- พฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างการนอนหลับ เช่น การขยับตัวบ่อยครั้ง
- อาการนอนไม่หลับเรื้อรัง
- ละเมอ
หากคุณถูกจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ควรได้รับการทดสอบพฤติกรรมการนอนหลับ ก่อนการทดสอบ ควรงดรับประทานอาหาร หรือเครื่องที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ คาเฟอีน เนื่องจากสารดังกล่าวอาจรบกวนการทำงานภายในร่างกาย จนอาจส่งผลให้คุณไม่สามารถนอนหลับในระหว่างที่แพทย์เริ่มการสังเกตได้
[embed-health-tool-bmi]