ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า การบริโภคถั่วแดงอาจช่วยบำรุงรักษา และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหลอดเลือดได้
อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ใยอาหารในถั่วแดงมีคุณสมบัติชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้ากระแสเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มสูงขึ้นมากเกินไปหลังมื้ออาหาร ซึ่งนับเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของถั่วต่าง ๆ ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหาร เผยแพร่ในวารสาร Nutrition Journal ปี พ.ศ. 2552 นักวิจัยให้ผู้ป่วยเบาหวานอายุระหว่าง 35-70 ปี จำนวน 17 รายอดอาหาร 12 ชั่วโมง แล้วรับประทานมื้อเช้า โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่รับประทานข้าวสวยเพียงอย่างเดียว ข้าวสวยกับถั่วปินโต ข้าวสวยกับถั่วดำ และข้าวสวยกับถั่วแดง แล้วจึงวัดความแตกต่างของระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร
เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง นักวิจัยพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารของกลุ่มที่บริโภคข้าวสวยร่วมกับถั่วต่าง ๆ ต่ำกว่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารของกลุ่มที่บริโภคข้าวสวยอย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า การบริโภคถั่วแดงอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารได้
อาจช่วยต้านมะเร็งลำไส้ได้
ใยอาหาร สารประกอบฟีนอลิก (Phenolics ) และสารพฤกษเคมีในถั่วแดง มีคุณสมบัติช่วยบำรุงและรักษาเซลล์ในลำไส้ให้เป็นปกติ ลดการอักเสบในเซลล์ที่อาจเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่าง ๆ รวมทั้งช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่เซลล์ในร่างกายจะกลายเป็นเนื้อร้าย การบริโภคถั่วแดงจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ได้
งานวิจัยหนึ่ง เรื่องคุณสมบัติต้านมะเร็งของสารประกอบในถั่วแขก เผยแพร่ในวารสาร Foods ปี พ.ศ. 2556 นักวิจัยได้ระบุถึงคุณสมบัติของถั่วแขกโดยอ้างอิงหลักฐานต่าง ๆ ว่า การบริโภคถั่วแขกสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่ำในการเป็นโรคมะเร็ง เนื่องจากถั่วแขกมีใยอาหาร สารประกอบฟีนอลิก และสารพฤกษเคมีคุณสมบัติซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยลดเซลล์มะเร็ง ตัดวงจรชีวิตของเซลล์มะเร็ง และทำให้เซลล์มะเร็วทำลายตัวเอง นอกจากนั้น ยังเปรียบเทียบถึงสารสกัดถั่วแดงเกาหลีที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันเซลล์เปลี่ยนเป็นเนื้องอกเช่นเดียวกัน
อาจช่วยลดน้ำหนักได้
ถั่วแดงมีสารอาหารกลุ่มโปรตีนและใยอาหาร ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้อิ่มท้องได้นาน ช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้ร่างกายไม่ได้รับพลังงานส่วนเกิน จึงอาจช่วยควบคุมน้ำหนักได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของอาหารซึ่งมีถั่วเป็นส่วนประกอบหลักต่อการลดน้ำหนัก ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Nutrition ปี พ.ศ. 2554 นักวิจัยแบ่งอาสาสมัครที่เป็นโรคอ้วนจำนวน 30 รายออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้บริโภคอาหารจำกัดแคลอรี่ที่ปราศจากถั่ว ส่วนอีกกลุ่มให้บริโภคอาหารจำกัดแคลอรี่ที่มีถั่วต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบหลัก เป็นเวลา 8 สัปดาห์เท่า ๆ กัน
เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง นักวิจัยได้ตรวจร่างกายของทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า อาสาสมัครที่เป็นโรคอ้วนกลุ่มที่บริโภคอาหารจำกัดแคลอรี่ที่มีถั่วต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบหลักมีน้ำหนักตัวลดลงต่ำกว่ากลุ่มที่บริโภคอาหารจำกัดแคลอรี่ที่ปราศจากถั่ว รวมทั้งมีความดันโลหิตกับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ที่ลดลง
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การบริโภคถั่วต่าง ๆ ซึ่งอาจรวมทั้งถั่วแดง สัมพันธ์กับน้ำหนักตัวที่ลดลง
ข้อควรระวังในการบริโภค ถั่วแดง
การบริโภคถั่วแดง มีข้อควรระวังดังนี้
- ถั่วแดงมีสารไฟโตฮีแมกกลูตินิน (Phytohaemagglutinin) ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องร่วง อย่างไรก็ตาม สารนี้สามารถกำจัดได้ด้วยการแช่ถั่วแดงในน้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ชั่วโมง หรือต้มถั่วแดงในน้ำเดือดเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที และควรบริโภคถั่วแดงในปริมาณที่เหมาะสม และทำความสะอาดก่อนนำไปปรุงสุกทุกครั้ง
- การบริโภคถั่วแดงดิบหรือถั่วแดงที่ปรุงอย่างไม่เหมาะสม อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับสารที่มีฤทธิ์รบกวนการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ (Antinutrients) อย่างสตาร์ช บล็อกเกอร์ (Starch Blockers) ที่ลดการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตเข้าสู่ร่างกาย หรือกรดไฟทิก (Phytic Acid) ที่รบกวนการดูดซึมแร่ธาตุ เช่น เหล็ก สังกะสี นอกจากนี้ ในถั่วแดงดิบยังมีสารอัลฟา-กาแลคโตซิเดส (Alpha-galactosides) ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องผูกหรือท้องร่วง จึงควรบริโภคถั่วแดงในปริมาณที่เหมาะสม
- หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคถั่วแดงได้อย่างปลอดภัย แต่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมาก หากไม่แน่ใจควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ ที่สำคัญควรบริโภคอาหารให้หลากหลายเพื่อบำรุงร่างกายและให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย