backup og meta

น้ำมันตับปลา ช่วยอะไร และข้อควรระวังการรับประทาน

น้ำมันตับปลา ช่วยอะไร และข้อควรระวังการรับประทาน

น้ำมันตับปลา อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น วิตามินเอ วิตามินดี อย่างไรก็ตาม ก่อนรับประทานควรศึกษาให้ละเอียดว่า น้ำมันตับปลา ช่วยอะไร และมีข้อควรระวังอย่างไร รวมถึงปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

[embed-health-tool-bmi]

น้ำมันตับปลา คืออะไร

น้ำมันตับปลา คือ น้ำมันที่สกัดจากตับปลา โดยส่วนใหญ่มักสกัดมาจากปลาค็อด ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 วิตามินเอและวิตามินดี ซึ่งแตกต่างจากน้ำมันปลาที่สกัดมาจากส่วนหนัง ส่วนหัวและส่วนหางของปลาทะเลน้ำลึก ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันหรือดีเอชเอ (Docosahexaenoic Acid: DHA) ดังนั้น ก่อนเลือกรับประทาน “น้ำมันตับปลา หรือ น้ำมันปลา” จึงควรศึกษาให้ละเอียดว่า น้ำมันตับปลา ช่วยอะไรหรือขอคำแนะนำจากคุณหมอก่อนรับประทาน

น้ำมันตับปลา ช่วยอะไร

น้ำมันตับปลา อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของน้ำมันตับปลาในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  • อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

น้ำมันตับปลามีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันดีที่อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งอาจช่วยป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด

จากการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cureus ปี พ.ศ. 2564 ที่ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของน้ำมันตับปลาในการป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งทำการศึกษาในผู้ป่วย 870 ราย ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2561 จนถึง พ.ศ. 2564 โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่รับประทานน้ำมันตับปลา 415 มิลลิกรัม/วัน และกลุ่มที่รับยาหลอก แล้วติดตามผลเป็นเวลา 12 เดือนหรือจนกว่าจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด พบว่า ผู้ป่วยที่รับประทานน้ำมันตับปลามีความเสี่ยงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอกเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างยังไม่แสดงให้เห็นชัด และยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจบทบาทของน้ำมันตับปลาในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

  • อาจช่วยป้องกันโรคต้อหิน

น้ำมันตับปลา อาจช่วยป้องกันโรคต้อหินที่ส่งผลให้การมองเห็นบกพร่องและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตาบอดได้ จากการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Ophthalmology เมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำมันตับปลาในการป้องกันโรคต้อหิน พบว่า น้ำมันตับปลาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอและกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่อาจมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในดวงตาและลดความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการลุกลามของโรคต้อหิน อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของน้ำมันตับปลาและโรคต้อหิน เพื่อนำไปใช้ในการรักษาโรคต้อหินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • อาจช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก

การรับประทานน้ำมันตับปลาที่อุดมไปด้วยวิตามินดีอาจช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก และช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน จากการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition เมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีต่อสุขภาพกระดูก พบว่า วิตามินดีมีคุณสมบัติในการช่วยดูดซึมแคลเซียมจากอาหาร ที่อาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพกระดูกให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและเด็ก ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูงอย่างน้ำมันตับปลาจึงอาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพกระดูกให้แข็งแรงได้

  • อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง

น้ำมันตับปลามีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่อาจช่วยบำรุงสมอง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ให้มีสมาธิจดจ่อมากยิ่งขึ้น จากการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2563 ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของโอเมก้า 3 ต่อการพัฒนาสมอง รวมถึงการรักษาและป้องกันความผิดปกติทางพฤติกรรม อารมณ์ และความผิดปกติทางสมองอื่น ๆ พบว่า กรดโอเมก้า 3 มีความสำคัญต่อการพัฒนาการของสมอง ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคสมาธิสั้น โรคสมองเสื่อม อีกทั้งยังปล่อยสารสื่อประสาทในสมองที่อาจช่วยปรับอารมณ์ในผู้ป่วยออทิสติก ช่วยลดอารมณ์แปรปรวน และอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคอารมณ์สองขั้ว โรคซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้

ข้อควรระวังการรับประทานน้ำมันตับปลา

การรับประทานน้ำมันตับปลาในรูปแบบอาหารเสริม ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำที่ระบุข้างฉลากผลิตภัณฑ์ เนื่องจากตับปลามีคอเลสเตอรอลสูง หากรับประทานมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง เสียดท้อง คลื่นไส้ เพิ่มโอกาสการตกเลือด โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่รับประทานยาวาร์ฟาริน (Warfarin) และผู้ที่กำลังเข้ารับการผ่าตัดหรืออยู่ในช่วงพักฟื้นหลังจากการผ่าตัด

สำหรับสตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร น้ำมันตับปลาอุดมไปด้วยวิตามินดีที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมตามที่คุณหมอกำหนด ไม่ควรรับประทานน้ำมันตับปลาที่ให้วิตามินเอเกิน 3000 ไมโครกรัม และวิตามินดีเกิน 100 ไมโครกรัม เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์

นอกจากนี้ ไม่แนะนำให้รับประทานน้ำมันตับปลาเพียงอย่างเดียว ควรรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วยให้ครบ 5 หมู่ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ประโยชน์ของน้ำมันตับปลา .https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue011/healthy-eating. Accessed November 17, 2022

Cod Liver Oil: Are There Health Benefits? https://www.webmd.com/diet/cod-liver-oil-health-benefits. Accessed November 17, 2022

Cod Liver Oil – Uses, Side Effects, and More https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1040/cod-liver-oil. Accessed November 17, 2022

Role of Cod Liver Oil in Preventing Myocardial Infarction. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8324067/. Accessed November 17, 2022

Cod liver oil: a potential protective supplement for human glaucoma. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3340802/. Accessed November 17, 2022

Vitamin D and Bone Health; Potential Mechanisms.https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3257679/. Accessed November 17, 2022

The Importance of Marine Omega-3s for Brain Development and the Prevention and Treatment of Behavior, Mood, and Other Brain Disorders. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7468918/. Accessed November 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

21/11/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารที่มีธาตุเหล็ก มีอะไรบ้าง และประโยชน์ของธาตุเหล็ก

อาหารที่ไม่มีประโยชน์ ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 21/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา