ผักผลไม้ เช่น คะน้า ผักโขม กล้วย องุ่น อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมาย โดยเฉพาะโพแทสเซียม ที่อาจมีส่วนช่วยลดระดับความดันโลหิต และช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
จากการศึกษาในวารสาร Hypertension Research เมื่อปี พ.ศ. 2551 ที่ศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานผักผลไม้และความเสี่ยงของความดันโลหิตสูง โดยทำการศึกษาข้อมูลจากความดันโลหิตของชาวญี่ปุ่น 1,569 คน ที่มีอายุ 35 ปี พบว่า การรับประทานผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม วิตามินซี และเบต้าแคโรทีน อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูงได้อย่างมีนัยสำคัญ
ยังมีอีกการศึกษาหนึ่งในวารสาร The BMJ เมื่อปี พ.ศ. 2557 ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานผักผลไม้และการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง ศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากฐานข้อมูลของ Medline, Embase และ the Cochrane จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556 พบว่า ผู้ที่รับประทานผักผลไม้ในปริมาณมากขึ้น 5 เสิร์ฟ/วัน มีความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคมะเร็ง น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทานผักผลไม้
อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
ผักผลไม้ ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินบี และวิตามินเอ เช่น ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ คะน้า พริกหยวก มะเขือเทศ แครอท ฟักทอง เสาวรส มะละกอ อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
จากการศึกษาในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition เมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานผักผลไม้ต่อการอักเสบและจำนวนเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน ที่ศึกษาบทความที่เกี่ยวข้อง 83 บทความ พบว่า การรับประทานผักผลไม้มากขึ้น อาจช่วยลดการอักเสบและช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน ที่อาจช่วยต้านเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ช่วยลดการติดเชื้อ หรืออาจทำให้ฟื้นตัวเร็วเมื่อเจ็บป่วยได้
อาจช่วยลดน้ำหนัก
ผักผลไม้ มีไฟเบอร์สูงที่อาจช่วยทำให้อิ่มได้นานขึ้น ช่วยลดพฤติกรรมการกินจุบกินจิบ และลดการรับประทานอาหารหลายมื้อ จึงอาจส่งผลให้น้ำหนักลดลง
จากการศึกษาในวารสาร PLOS Medicine เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานผักผลไม้และการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวในผู้ชายและผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา โดยติดตามผลจากผู้เข้าร่วมการทดสอบจำนวน 133,468 คนเป็นเวลานานถึง 24 ปี และทำการทดสอบทุก ๆ 4 ปี พบว่า การรับประทานผลไม้มากขึ้น เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ แอปเปิ้ล ลูกแพร์ กะหล่ำดอก อาจมีส่วนช่วยทำให้น้ำหนักลดลง อย่างไรก็ตาม การรับประทานผักบางชนิด โดยเฉพาะผักที่มีส่วนประกอบของแป้ง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง อาจส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
ผักผลไม้ อุดมไปด้วยไฟเบอร์ ที่อาจช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยเพิ่มกากใย และช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการท้องผูก
จากการศึกษาในวารสาร Pediatric Gastroenterology, Hepatology & Nutrition เมื่อปี พ.ศ. 2557 ที่ศึกษาเกี่ยวกับอาหารสำหรับการบรรเทาอาการท้องผูก พบว่า นอกเหนือจากการรับประทานยาแก้ท้องผูก ยังอาจสามารถบรรเทาอาการท้องผูกได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยควรเน้นการรับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว คะน้า กล้วย กีวี่ พลัม เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีไฟเบอร์สูงที่อาจช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้และระบบย่อยอาหารอื่น ๆ และอาจช่วยลดอาการท้องผูกได้
ข้อควรระวังในการรับประทานผักผลไม้
แม้ผักผลไม้จะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่หากรับประทานมากเกินไป จนทำให้รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ก็อาจส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหารและพลังงาน ทำให้รู้สึกอ่อนล้า และอ่อนเพลียได้ ดังนั้น จึงควรรับประทานผักผลไม้ควบคู่กับอาหารที่ดีต่อสุขภาพประเภทอื่น ๆ เช่น ธัญพืช เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน และอาหารไขมันต่ำ
นอกจากนี้ ควรเลือกผักผลไม้ที่ปลอดสารเคมี และควรล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง เพื่อช่วยกำจัดยาฆ่าแมลง สารเคมี และสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ ก่อนนำมาปรุงอาหารหรือรับประทานแบบสด อีกทั้งยังควรเก็บรักษาใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิทแช่ในตู้เย็นในช่องแช่ผักผลไม้ เพื่อรักษาความสดและยืดอายุของผักผลไม้หากยังไม่นำมารับประทาน
นอกจากนี้ ควรสังเกตอาการผิดปกติหลังจากรับประทานว่ามีอาการแพ้ผักผลไม้ชนิดใดหรือไม่ เช่น ใบหน้า ลิ้น และริมฝีปากบวม มีผื่นขึ้นทั่วร่างกาย อาการคัน บางคนอาจมีอาการรุนแรง คือ ปวดท้อง ท้องเสีย หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาในทันที
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย