backup og meta

เสาวรส รสชาติจี๊ดจ๊าด คุณประโยชน์จุใจ

เสาวรส รสชาติจี๊ดจ๊าด คุณประโยชน์จุใจ

เสาวรส (Passion Fruit) หรือกะทกรกฝรั่ง เป็นผลไม้รสเปรี้ยวจี๊ด บ้างก็หวานอมเปรี้ยวถูกใจใครหลายคน จะรับประทานสด ๆ หรือทำเป็นชาเสาวรสก็อร่อยไม่แพ้กัน นอกจากรสชาติดีแล้ว ประโยชน์ของเสาวรส ต่อสุขภาพก็มีมากมาย เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลของเสาวรส ว่ามีดีอะไรบ้างมาให้ได้อ่านกันค่ะ

ข้อมูลโภชนาการของ เสาวรส

เสาวรสมีหลายสายพันธุ์ ที่พบมากในไทย ได้แก่ เสาวรสสีม่วง และเสาวรสสีเหลือง  แม้เสาวรสทั้งสองสีจะมีคุณค่าทางโภชนาการเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างบางประการที่สามารถสังเกตเห็นได้ ดังนี้

  • เสาวรสสีม่วง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Passiflora Edulis’ ลักษณะผลเป็นทรงกลมหรือทรงรี ส่วนเสาวรสสีเหลือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Passiflora Flavicarpa’ มักมีขนาดใหญ่กว่าเสาวรสสีม่วง
  • เมล็ดของเสาวรสสีม่วงจะเป็นสีดำ ในขณะที่เมล็ดของเสาวรสสีเหลืองจะเป็นสีน้ำตาล
  • เสาวรสสีม่วงมีความเป็นกรดน้อยกว่า และได้รับการพิจารณาว่ามีกลิ่นและรสชาติที่ดีกว่าเสาวรสสีเหลือง
  • การทำน้ำเสาวรส ถ้าใช้เสาวรสสีม่วงจะได้น้ำเสาวรส ปริมาณมากกว่าเสาวรสสีเหลืองประมาณ 35-38%

เสาวรส 1 ผล (ปริมาณ 18 กรัม) ให้พลังงาน 17 กิโลแคลอรี และมีสารอาหารดังต่อไปนี้

  • ไฟเบอร์ 2 กรัม
  • วิตามินซี 9% ของปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
  • วิตามินเอ 8% ของปริมาณวิตามินเอที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
  • ธาตุเหล็ก 2% ของปริมาณธาตุเหล็กที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
  • โพแทสเซียม 2% ของปริมาณโพแทสเซียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

ปริมาณสารอาหารที่แสดงอาจดูเหมือนไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับขนาดผลและปริมาณแคลอรีที่มีแล้ว จะกล่าวว่าเสาวรสเป็นผลไม้จิ๋วแต่แจ๋วก็คงไม่ผิดนัก เพราะมีปริมาณแคลอรีเพียง 17 กิโลแคลอรี แต่ให้วิตามินและแร่ธาตุมากมาย

ประโยชน์ของเสาวรส มีอะไรบ้างนะ

เสาวรส มีวิตามินซี

เสาวรสอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งวิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยชะลอกระบวนการแก่ชรา ช่วยป้องกันหรือชะลอการพัฒนาของเซลล์มะเร็งบางชนิด ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากภาวะความไม่สมดุลของการเกิดอนุมูลอิสระ หรือมีอนุมูลอิสระในร่างกายมากเกินไป

เสาวรสอาจช่วยป้องกันการอักเสบ

โพลีฟีนอล (Polyphenols) คือสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ การกินเสาวรสจึงอาจช่วยป้องกันการอักเสบและโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง

เสาวรสมีเบต้า-แคโรทีน

เบต้า-แคโรทีน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ อาหารที่มีเบต้าแคโรทีนมาก จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเต้านม

เสาวรสอุดมไปด้วยไฟเบอร์

เสาวรสปริมาณ 18 กรัมมีไฟเบอร์ประมาณ 2 กรัม และส่วนใหญ่เป็นไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ ซึ่งถือว่ามีไฟเบอร์สูงสำหรับผลไม้ขนาดเล็ก โดยไฟเบอร์มีความสำคัญต่อสุขภาพของลำไส้ ช่วยป้องกันท้องผูก นอกจากนี้ ไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ยังช่วยชะลอกระบวนการย่อยอาหาร ซึ่งจะช่วยป้องกันการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้อาหารที่มีไฟเบอร์สูง ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคอ้วนได้อีกด้วย

เสาวรสอุดมไปด้วยวิตามินเอ

เสาวรสมีวิตามินเอสูง ซึ่งวิตามินเอจำเป็นต่อสุขภาพผม ผิว และเนื้อเยื่อในร่างกาย นอกจากนี้ยังจำเป็นต่อกระดูกและฟัน รวมถึงสุขภาพดวงตาและระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

โพแทสเซียมใน เสาวรส

เสาวรสอุดมไปด้วยโพแทสเซียม โดยเสาวรส 100 กรัมมีโพแทสเซียม 348 มิลลิกรัม โพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์ และของเหลวในร่างกาย รวมถึงช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตด้วย

วิธีกินเสาวรส

คุณสามารถกินเสาวรสสดได้เลย ภายในผลเสาวรสจะมีเนื้อและเมล็ด ซึ่งเมล็ดสีดำหรือสีน้ำตาลสามารถกินได้ และหลายคนอาจนำเสาวรสมาทำเป็นเมนูต่างๆ ดังนี้

  • เครื่องดื่ม สามารถคั้นเสาวรสเพื่อทำเป็นน้ำเสาวรส ชาเสาวรส สมูทตี้เสาวรส เป็นต้น
  • ของหวาน เสาวรสสามารถนำไปทำเป็นซอสเพื่อราดบนเค้ก หรือของหวานอื่นๆ เช่น ชีสเค้ก ไอศกรีม
  • ใส่ในสลัด เสาวรสจะช่วยเพิ่มรสชาติ และทำให้สลัดของคุณน่ากินขึ้น
  • ใส่ในโยเกิร์ต นำเสาวรสไปผสมกับโยเกิร์ตเพื่อกินเป็นของกินเล่นเพื่อสุขภาพได้

ข้อควรระวัง

โดยปกติแล้ว อาการแพ้เสาวรสเป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการแพ้ยาง (Latex Allergy) เนื่องจากเสาวรสมีโปรตีนในพืชที่มีโครงสร้างคล้ายกับยาง จึงสามารถกระตุ้นให้เกิดการแพ้แบบเดียวกับการแพ้ยางได้ โดยอาการแพ้มักทำให้เกิดอาการชาที่ริมฝีปาก แต่อาการแพ้แบบรุนแรงมักเกิดขึ้นได้ยาก

ไม่ใช่แค่เสาวรสที่ทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ที่มีอาการแพ้ยาง แต่ผลไม้ชนิดอื่น ๆ เช่น มะละกอ อะโวคาโด ลูกฟิก กล้วย เมล่อน มะม่วง กีวี่ สับปะรด ลูกพีช มะเขือเทศ ก็อาจกระตุ้นให้ผู้แพ้ยางเกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Passion Fruit 101 – What You Need to Know. https://www.healthline.com/nutrition/passion-fruit#section7. Accessed on September 25, 2018.

Passion Fruit Nutrition Facts. https://www.verywellfit.com/passion-fruit-nutrition-facts-4173991?_ga=2.7297782.597024990.1537768707-228490037.1536740970. Accessed on September 25, 2018.

Passion fruit nutrition facts. https://www.nutrition-and-you.com/passion-fruit.html. Accessed on September 25, 2018.

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/02/2021

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำผึ้ง ผลิตผลจากธรรมชาติ ที่มาพร้อมประโยชน์นานัปการ

5 ประโยชน์สุขภาพของขิง ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 24/02/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา