คุณแม่ที่มีอายุครรภ์2เดือน เป็นช่วงที่ฮอร์โมนการตั้งครรภ์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น แพ้ท้อง อารมณ์แปรปรวน ตกขาว อ่อนเพลีย คัดเต้านม ดังนั้น จึงควรดูแลตัวเองและทารกในครรภ์ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และเข้ารับการตรวจครรภ์ตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อให้คุณแม่และทารกในครรภ์มีสุขภาพที่ดี และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
พัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารกอายุครรภ์ 2 เดือน
ทารกอายุครรภ์ 2 เดือน มีพัฒนาการและการเจริญเติบโต ดังนี้
- ทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 5 จะมีการสร้างลำตัวซึ่งมีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่ว รวมถึงมีการแยกตัวเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นนอกคือเอ็กโตเดิร์ม พัฒนาเป็นระบบประสาท หูชั้นใน ตา และสร้างเป็นผิวหนังชั้นนอก เมโซเดิร์ม (Mesoderm) ชั้นกลาง พัฒนาไปเป็นหัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิต และเอ็นโดเดิร์มชั้นใน จะพัฒนาขึ้นเป็นอวัยวะภายในต่าง ๆ
- ทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 6 เริ่มพัฒนาท่อประสาทหรือไขสันหลัง หัวใจ และศีรษะของทารก ลำตัวอาจโค้งงอคล้ายกับตัว C เริ่มเห็นหัวใจทารกเต้นได้อย่างชัดเจนจากการทำอัลตราซาวด์
- ทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 7 เริ่มสร้างตา ปาก รูจมูก และแขนขาที่มีลักษณะติดกันเป็นพังผืด ศีรษะมีขนาดโตขึ้นกว่าสัปดาห์ที่ 6 อย่างชัดเจนเพื่อรองรับสมอง
- ทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 8 ทารกจะมีศีรษะ ตา หู จมูก และปากที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เริ่มสร้างลำคอเพื่อให้ยืดศีรษะได้ตรง แต่นิ้วยังคงติดกันเป็นพังผืด ลำตัวของทารกในช่วงสัปดาห์ที่ 8 อาจมีความยาวประมาณ 11-14 มิลลิเมตร
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจของคุณแม่
ในช่วงอายุครรภ์ 2 เดือน คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) หรือฮอร์โมนตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ร่างกายและอารมณ์มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
- ตกขาว การมีตกขาวระหว่างการตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากสังเกตว่าตกขาวมีกลิ่นเหม็น และมีสีเขียวหรือสีเหลือง ควรพบคุณหมอทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในช่องคลอด
- แพ้ท้อง เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดในคุณแม่ตั้งครรภ์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน บางคนอาจมีอาการไวต่อกลิ่นเป็นพิเศษ เหม็นอาหาร หรืออยากรับประทานอาหารแปลก ๆ
- คัดเต้านม อาจเกิดจากการที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนมและการทำงานของท่อน้ำนม จึงอาจส่งผลให้รู้สึกคัดตึงเต้านม เจ็บเต้านมตลอดช่วงไตรมาสแรก เพื่อบรรเทาอาการควรเลือกสวมชุดชั้นในที่ใส่สบาย ไร้โครงกดทับหน้าอก
- เหนื่อยล้า การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และอาการแพ้ท้อง อาจส่งผลให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ
- อารมณ์แปรปรวน ความเหนื่อยล้าสะสมและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้อารมณ์ของคุณแม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวอารมณ์ดี ดังนั้น จึงควรทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ หรือแบ่งปันความรู้สึกให้คนรอบข้างฟัง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา
- ท้องผูก ระหว่างตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอาจเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ทำงานน้อยลงนำไปสู่อาการท้องผูก
- ปัสสาวะบ่อย เมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาจทำให้มีการสร้างของเหลวขึ้นมามากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณของเลือดเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมดลูกต้องการเลือดไปเลี้ยงมากกว่าปกติ ทำให้ไตทำงานหนักขึ้นเพราะต้องกรองปัสสาวะมามากขึ้น และส่งผลให้ปัสสาวะบ่อย อีกทั้งเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น อาจส่งผลให้มดลูกขยายตัวจนกดทับกระเพาะปัสสาวะ และอาจทำให้ปริมาณของเลือดเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องส่งไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ ทำให้ไตทำงานหนักเพื่อคัดกรองของเหลวส่วนเกินออกในรูปแบบปัสสาวะ จึงอาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ปัสสาวะบ่อยขึ้น เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำคุณแม่จึงควรดื่มน้ำให้มาก ๆ
วิธีดูแลตัวเองและสุขภาพของทารกอายุครรภ์ 2 เดือน
วิธีดูแลตัวเองและทารกในครรภ์ อาจทำได้ดังนี้
ตรวจครรภ์ตามที่คุณหมอกำหนด
เพื่อตรวจคัดกรองโรคและความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ครรภ์เป็นพิษ
รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ธัญพืชไม่ขัดสี ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยสารอาหารที่สำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่
- โฟเลต หรือ กรดโฟลิก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานอาหารเสริมกรดโฟลิกประมาณ 400 ไมโครกรัมเป็นประจำทุกวัน เพราะอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความบกพร่องของท่อประสาทในสมองและไขสันหลังของทารกที่กำลังพัฒนา
- ธาตุเหล็ก คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับธาตุเหล็กประมาณวันละ 30 มิลลิกรัม เพราะธาตุเหล็กอาจช่วยสร้างฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ที่เป็นโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย ช่วยให้ทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนเพียงพอ
- แคลเซียม คุณแม่ตั้งครรภ์หรือผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป ควรรับประทานแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม/วัน เพื่อป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก ที่อาจนำไปสู่โรคกระดูกพรุน
พักผ่อนให้เพียงพอ
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และควรปรับท่านอนให้เหมาะสม คุณหมออาจแนะนำท่านอนตะแคงซ้าย เพื่อลดแรงกดทับที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่อยู่ทางขวาของช่องท้อง หรือหากคุณแม่สะดวกนอนหงายควรใช้หมอนรองบริเวณหลัง ใต้ขา และใต้ท้องเพื่อลดแรงกดทับและช่วยให้คุณแม่นอนหลับสบายขึ้น
การออกกำลังกาย
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน โยคะ พิลาทิส ว่ายน้ำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที เพื่อป้องกันน้ำหนักเกิน ช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพลังงาน ส่งเสริมการนอนหลับ และทำให้ร่างกายฟื้นฟูไวหลังคลอด
ดื่มน้ำให้มาก ๆ
ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และลดความเสี่ยงในการเกิดอาการท้องผูก
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
เพราะอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านร่างกายและระบบประสาทของทารกในครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งบุตร
งดการสูบบุหรี่
เพราะบุหรี่มีนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิด มีปัญหาด้านพฤติกรรมและการเรียนรู้ น้ำหนักแรกเกิดต่ำ เสี่ยงเป็นโรคหอบหืดในเด็ก อีกทั้งยังอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด