backup og meta

ลูกตื่นกลางคืนบ่อย ควรทำอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 09/08/2023

    ลูกตื่นกลางคืนบ่อย ควรทำอย่างไร

    ลูกตื่นกลางคืนบ่อย เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น รู้สึกหิว นอนกลางวันมากเกินไป การเจ็บป่วย ความเครียด หรืออาจมีฟันขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาวิธีช่วยให้ลูกนอนหลับสนิท เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนหลับที่ดีของลูก ช่วยส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโต และช่วยให้ลูกไม่รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าในเช้าวันถัดไป

    สาเหตุที่ลูกตื่นกลางคืนบ่อย

    สาเหตุที่ลูกตื่นกลางคืนบ่อย อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • รู้สึกหิว เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในเด็กทารก เนื่องจากลูกน้อยมีกระเพาะอาหารขนาดเล็ก ทำให้จุอาหารได้น้อย และย่อยอาหารได้เร็ว ส่งผลให้ลูกรู้สึกหิวบ่อยจนทำให้ตื่นช่วงกลางคืน ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการร้องไห้งอแงของลูก
  • มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก ทารก อาจมีระบบย่อยอาหารที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้การย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี หรืออาจเป็นเพราะลูกกลืนอากาศมากเกินไปขณะกินนม ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร สำหรับเด็กในช่วงวัยอื่นที่กำลังห่วงเล่น อาจรีบร้อนรับประทานอาหารอย่างรวดเร็ว ทำให้กลืนอากาศเข้าไปมาก นำไปสู่การเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด ไม่สบายท้อง จนตื่นกลางคืนบ่อย ๆ
  • อยู่ในช่วงปรับตัว ทารกแรกเกิดอาจจำเป็นต้องใช้เวลาปรับตัวกับโลกภายนอก จึงอาจยังไม่รู้ช่วงเวลาการนอนที่เหมาะสม และทำให้อาจตื่นช่วงเวลากลางคืนบ่อย โดยเฉพาะถ้าทารกนอนช่วงกลางวันนาน
  • ฟันเริ่มงอก เมื่อลูกอายุได้ 6 เดือนขึ้นไป ฟันของลูกจะเริ่มงอก ส่งผลให้ลูกรู้สึกเจ็บและปวดเหงือก  คันเหงือก จึงอาจทำให้ลูกมักสะดุ้งตื่นตอนกลางคืนเมื่อมีอาการเจ็บจี๊ด ๆ
  • นอนกลางวันมากเกินไป ลูกอาจรู้สึกเหนื่อยล้าจากการเล่นหรือการทำกิจกรรมระหว่างวัน ทำให้อาจเผลองีบหลับในตอนกลางวันเป็นเวลานาน ทำให้ไม่รู้สึกง่วงเมื่อถึงเวลาที่ควรนอน และนอนหลับไม่สนิทในตอนกลางคืน
  • ความเครียดและความวิตกกังวล เหตุการณ์บางอยางอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของลูก เช่น พ่อแม่แยกทางกัน พ่อแม่ทะเลาะกัน การใช้ความรุนแรง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งอาจทำให้ลูกมีอาการวิตกกังวล ความเครียด จนเก็บไปฝันและสะดุ้งตื่นตอนกลางคืน
  • สภาพแวดล้อม เช่น อากาศภายในห้องร้อนเกินไป เสียงรบกวน แสงไฟ การเคลื่อนไหวของคุณพ่อคุณแม่ อาจรบกวนการนอนของลูก และทำให้ลูกสะดุ้งตื่น
  • การเจ็บป่วย อาจทำให้ลูกนอนไม่หลับ หรือตื่นตอนกลางคืนบ่อย คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการ เช่น มีไข้ ท้องเสีย กินอาหารได้น้อย ร้องไห้ ซึม งอแงผิดปกติ
  • วิธีช่วยให้ลูกหลับสนิท

    วิธีช่วยให้ลูกหลับสนิท อาจทำได้ดังนี้

    • อุ้มลูกเดินอย่างช้า ๆ หรือไกวเปล
    • อาบน้ำให้ลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกสบายตัวก่อนเข้านอน
    • เปิดเพลงกล่อมเด็กเบา ๆ หรือเล่านิทาน ระหว่างพาลูกเข้านอน
    • หรี่ไฟ ลดเสียง และลดการเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันการกระตุ้นให้ลูกตื่น
    • ใช้ของเล่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา และหมอนข้างนุ่ม ๆ  ล้อมรอบตัวลูก เพื่อให้รู้สึกเหมือนมีคนอยู่เคียงข้าง ช่วยลดความกลัว แต่ควรระวังไม่ให้อยู่ใกล้ใบหน้ามากเกินไป เพราะอาจเสี่ยงทำให้ลูกหายใจไม่สะดวก
    • ฝึกกิจวัตรการนอนหลับให้ลูก เพื่อให้ลูกจดจำช่วงเวลาที่ควรนอน ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนตอนกลางวันนานเกินไป เพราะอาจทำให้นอนหลับไม่สนิทในตอนกลางคืน และไม่ควรนอนดึกเกินไป
    • จำกัดเวลาการดูทีวี เล่นเกม หรือเล่นโทรศัพท์มือถือ ให้พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป รวมถึงไม่ควรให้ลูกดูทีวีหรือเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน เพราะอาจทำให้ลูกนอนหลับไม่สนิทได้
    • สำหรับลูกที่มีความเครียดและความวิตกกังวล เนื่องจากเหตุการณ์ที่กระทบต่อจิตใจ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำในการดูแลลูกอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ หากลูกสะดุ้งตื่นตอนกลางคืนอย่างรุนแรง หรือร้องไห้ ควรโอบกอดเพื่อปลอบลูก ทำให้ลูกรู้สึกสบายใจและปลอดภัยมากขึ้น

    สัญญาณเตือนปัญหาการนอนหลับของลูก

    สัญญาณเตือนปัญหาการนอนหลับของลูก มีดังนี้

  • ปฏิเสธการเข้านอน ยื้อเวลาโดยทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่ไม่ยอมเข้านอน แม้ว่าจะง่วงมากก็ตาม
  • ลูกมีอาการตื่นกลางดึกบ่อย พลิกตัวตลอดเวลาขณะนอนหลับ
  • พฤติกรรมและอารมณ์ของลูกเปลี่ยนแปลง เช่น หงุดหงิด ร้องไห้เป็นเวลานาน ก้าวร้าว
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่ตื่นตัวในเช้าวันถัดไป
  • ไม่มีสมาธิ
  • นอกจากนี้ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบอาการร่างกายกระตุก ศีรษะเคลื่อนไหวไปมา เดินละเมอ นอนกรน หายใจผิดปกติ หยุดหายใจขณะหลับ ควรพาลูกเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพหาสาเหตุและรักษาทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 09/08/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา