อาการประสาทหลอน เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยสมองเสื่อม ซึ่งผู้ป่วยจะเห็นภาพหลอน บางครั้งก็จะได้ยินเป็นเสียง ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งอาการประสาทหลอนนั้นนอกจากทำให้ผู้ป่วยกลัวและหวาดระแวงแล้ว ก็อาจทำให้ผู้ดูแลหวาดกลัวได้เช่นกัน วันนี้ Hello คุณหมอ จะชวนไปรู้จักกับ อาการประสาทหลอนในผู้ป่วยสมองเสื่อม และวิธีดูแลรักษาผู้ป่วยกันค่ะ
ทำความรู้จักกับ อาการประสาทหลอนในผู้ป่วยสมองเสื่อม
อาการประสาทหลอน เป็นการรับรู้ การสัมผัสได้ถึงภาพและเสียงที่เหมือนความเป็นจริง แต่จริง ๆ แล้วภาพและเสียงเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาจากสมอง ส่วนใหญ่แล้วมักจะเห็นเป็นภาพหลอนขึ้นมา บางครั้งก็มักจะได้ยินเป็นเสียงด้วย บางครั้งอาจจะได้เห็นทั้งภาพและได้ยินเสียงพร้อม ๆ กัน แต่อาการนี้มักจะพบได้ยาก สำหรับผู้ป่วยสมองเสี่อม อาการประสาทหลอนจะเกิดขึ้นในช่วงระยะหนึ่งและหายไป ไม่ได้มีอาการประสาทหลอนอยู่ตลอดเวลา
อาการประสาทหลอนในผู้ป่วยสมองเสื่อม เกิดได้จากอะไร
อาการประสาทหลอนในผู้ป่วยสมองเสื่อมนั้น เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในสมอง ซึ่งเกิดจากอาการของโรคสมองเสื่อม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสูญเสียความทรงจำ ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถจำใบหน้าหรือเหตุการณ์ในอดีตได้ ทำให้เกิดภาพหลอน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีโรคสมองเสื่อมจากลิววี่ บอดี้ (Lewy body dementia) ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีความสามารถในการรับรู้ขนาดและระยะห่างของสิ่งรอบ ๆ ตัวลดลง จนทำให้เกิดเป็นภาพหลอนขึ้นมา อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมเกิดภาพหลอนขึ้นมาได้คือ การประมวลผลของสมองผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาพหลอนในผู้ป่วยสมองเสื่อมอีกด้วย เช่น
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
- สภาพแวดล้อม
- การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน
- Sundown syndrome
- ความวิตกกังวล
วิธีรับมือกับอาการประสาทหลอนในผู้ป่วยสมองเสื่อม
การรับมือกับอาการประสาทหลอนหรือสิ่งที่มองไม่เห็นนั้นถือเป็นเรื่องยากและน่ากลัว แต่ก็ยังมีวิธีที่สามารถรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้
สร้างความอุ่นใจให้กับผู้ป่วย
การสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ป่วยนั้นสามารถทำได้หลายวิธีนอกจากการอยู่เคียงข้างในช่วงเวลาที่อาการกำเริบแล้ว การพูดปลอบใจด้วยถ้อยคำที่น่าฟังยังช่วยให้เขารู้สึกอุ่นใจขึ้นได้ด้วย นอกจากนี้การกอดหรือการลูบไหล่ยังช่วยดึงความสนใจของของผู้ป่วยมาอยู่ที่เรา ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยลดอาการประสาทหลอนได้
ช่วยผู้ป่วยพิสูจน์ความจริง
การช่วยผู้ป่วยพิสูจน์ความจริงเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้เขารับรู้ได้ว่า สิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่ความจริง เช่น เมื่อผู้ป่วยเห็นภาพหลอนว่ามีคนยืนอยู่ เราก็ช่วยเขาพิสูจน์ด้วยการพาเดินไปดู แล้วว่าไม่มีอะไร คุณเองก็ไม่เห็นเช่นกัน
เบี่ยงเบนความสนใจ
บางครั้งอาการประสาทหลอนอาจเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อม ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงความสนใจของผู้ป่วย ด้วยการพาออกไปในสถานที่ที่สว่าง จะช่วยลดความอาการประสาทหลอนได้ นอกจากนี้การเปิดเพลง การพูดคุย หรือพาผู้ป่วยทำกิจกรรมอย่างอื่นก็ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจและช่วยลดอาการประสาทหลอนได้
การจัดการสภาพแวดล้อม
บางครั้งสภาพแวดล้อมที่ผู้ป่วยอยู่นั้นเป็นตัวการที่ทำให้เขาเกิดอาการประสาทหลอนได้ ดังนั้นผู้ที่ดูแลจำเป็นต้องตรวจสอบสภาพแวดล้อมอย่างละเอียด โดยดูว่าในห้องมีตัวการอะไรบ้างที่ทำให้เกิดเสียง แสง หรือเงา ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้อาการกำเริบได้ จึงต้องมีการควบคุมสภาพแวดล้อมให้ดี เช่น บางครั้งผู้ป่วยเห็นเงาตัวเองในกระจก จนอาการประสาทหลอนกำเริบ คิดว่าคนในกระจกจะทำร้ายตนเอง ก็ควรต้องหาอะไรมาปิดกระจกไว้ไม่ให้เกิดเงา
หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน
การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันเป็นหนึ่งในสาเหตุทีทำให้ผู้ป่วยเกิดภาพหลอนขึ้นมาได้ ดังนั้นการที่พวกเขาได้ทำอะไรแบบเดิม ในเวลาเดิมจะช่วยลดการเกิดอาการประสาทหลอนได้ ยิ่งให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุก ๆ วันก็จะช่วยลดการเกิดอาการประสาทหลอนได้
[embed-health-tool-bmi]