โรคนิ่วในถุงน้ำดี เป็นหนึ่งในโรคที่หลายคนมักจะมองข้าม เพราะหลายคนที่เป็นโรคนี้ มักจะไม่แสดงอาการใด ๆ จนกว่าอาการของโรคจะอยู่ในระดับรุนแรงแล้ว แต่คุณรู้ไหมว่า โรคนิ่วในถุงน้ำดีสามารถเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที แต่โชคยังดีที่การรักษาด้วยการผ่าตัด สามารถช่วยให้ ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี สามารถหายจากโรคนี้ได้เกือบ 100% ในบทความนี้ Hello คุณหมอ มีคำแนะนำเรื่องการทำหัตถการสำหรับผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี เพื่อการเตรียมตัวที่เหมาะสมก่อนเริ่มทำการรักษาโรคมาฝากคุณแล้ว
เราสามารถทำการวินิจฉัย ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี ได้อย่างไร
ถุงน้ำดี เป็นอวัยวะที่ช่วยเก็บกักน้ำดี เพื่อใช้ประโยชน์ในการช่วยย่อยไขมัน ซึ่งมีโอกาสพบโรคนิ่วถุงน้ำดีได้ โดยนิ่วที่พบนั้นจะมีส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ ไขมัน ส่วนประกอบของสีน้ำดี (Bile pigment) และ หินปูน (Calcium) ที่มีลักษณะเป็นสีน้ำตาล หรือดำ
โรคนิ่วในถุงน้ำดีพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในคนอายุระหว่าง 40-60 ปี ผู้ป่วยโรคนี้มากกว่า 50 % อาจไม่มีแสดงอาการอะไรเลยก็ได้ แต่เราสามารถตรวจพบโรคได้ด้วยการเอกซเรย์ช่องท้อง หรือการตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasound)
อาการของ ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี
ผู้ป่วยมักมีอาการแน่นท้อง อืดท้อง มีลมมาก หรือมีอาการปวดท้องเป็นพักๆ (Colicky pain) ที่บริเวณลิ้นปี่ และอาการที่บ่งชี้ได้ชัดเจน คือ อาการปวดท้องจะมากขึ้น ปวดบริเวณยอดอก (Epigastrium) และปวดร้าวทะลุไปยังบริเวณหลัง อาจมีไข้หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ด้วย
วัตถุประสงค์ของการทำหัตถการ
เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด
การรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี
- ผู้ที่ตรวจพบนิ่วถุงน้ำดีที่ไม่มีอาการ ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะต้องผ่าตัด เพียงแต่ให้คำแนะนำถึงข้อแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น ยกเว้นในกรณีผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งในกรณีเช่นนั้น หากปล่อยไว้แล้วมีอาการถุงน้ำดีอักเสบเกิดขึ้น และต้องผ่าตัดฉุกเฉิน จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงอันตรายมากขึ้น
- การรักษาอื่น ๆ ที่ไม่ตัดถุงน้ำดี เช่น การรับประทานยาละลายนิ่ว แต่เพราะนิ่วมีส่วนประกอบของแคลเซียม ยาจึงมักจะได้ผลไม่ดี หรือไม่ได้ผลเลย ผู้ป่วยจะมีโอกาสเกิด นิ่วในถุงน้ำดี ได้ใหม่
- ผู้ป่วยที่ควรแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก
- ในรายที่มีอาการ แต่ไม่มีภาวะถุงน้ำดีอักเสบ พิจารณาผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยพร้อม
- ในรายที่มีนิ่วในถุงน้ำดี และมีการอักเสบด้วยนั้น จะพิจารณาให้ทำการผ่าตัด หรือให้ยาปฏิชีวนะตามดุลยพินิจของแพทย์
กรณีที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ทันที เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ ต้องรักษาจนอาการเหมาะสมจึงสามารถผ่าตัดได้
- มีอาการอักเสบในช่องท้องรุนแรง
- มีความผิดปกติของการแข็งตัวของโลหิต
- มีอาการตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
- มีอาการโรคทางหัวใจหรือปอดรุนแรง
- ที่ไม่สามารถดมยาสลบได้
การรักษาโดยการผ่าตัด
สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้
- การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดผ่านบริเวณช่องท้องด้านชายโครงด้านขวา
- การผ่าตัดโดยวิธีการส่องกล้อง การผ่าตัดด้วยเครื่องมือที่สอดผ่านเข้าไปในช่องท้อง แล้วทำการผ่าตัดผ่านกล้องส่องตรวจ เป็นการผ่าตัดที่มีอันตรายต่อเนื้อเยื่อเพียงเล็กน้อย แผลมีขนาดเล็ก
ข้อดีของการผ่าตัดรักษาด้วยกล้องส่องตรวจ
- อาการเจ็บปวดของบาดแผลน้อยกว่า การผ่าตัดเปิดแบบเดิมซึ่งบาดแผลจะยาวกว่าและเจ็บปวด มากกว่า
- ระยะเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นกว่า
- สามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่การงานได้เร็ว ไม่ต้องพักฟื้นร่างกายเป็นเวลานาน
- แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ทำให้หายเร็วกว่า
- อาการแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อยกว่า เช่น การติดเชื้อที่แผล ไส้เลื่อนที่แผลผ่าตัด เส้นประสาทที่ผนังหน้าท้องถูกตัดขาด หรือปอดอักเสบหลังผ่าตัด
โอกาสในการทำหัตถการเพื่อการรักษาโดยสำเร็จ
โดยทั่วไปการผ่าตัด นิ่วในถุงน้ำดี จะได้ผลเกือบ 100% แต่ผู้ป่วยในบางรายที่มีสภาวะดังต่อไปนี้ อาจทำให้ผ่าตัดได้ยากขึ้น
- ผู้ป่วยที่เคยทำผ่าตัดช่องท้องมาก่อน
- ผู้ป่วยที่มีอาการถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันรุนแรง
- ผู้ป่วยที่มีอาการตับแข็งขั้นรุนแรง
ในกรณีที่ผ่าตัดแบบวิธีการส่องกล้อง หากศัลยแพทย์เห็นว่า การผ่าตัดนั้นทำได้ยากลำบาก จากลักษณะกายวิภาคไม่ชัดเจน หรือมีโอกาสเสี่ยงอันตราย หรือโอกาสเกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้น อาจมีโอกาสที่จะต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง โดยอัตราในการเกิดภาวะดังกล่าวมีประมาณ 5 %
ทางเลือกอื่น ๆ
- ในรายที่ไม่พบอาการหรืออาการแสดงใด ๆ อาจจะแนะนำให้สังเกตอาการ
- ในรายที่ไม่พร้อมผ่าตัด หรือในรายที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับการผ่าตัด อาจจะพิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อ
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรักษา
- ภาวะติดเชื้อ
- อันตรายต่อท่อน้ำดี
- ภาวะเลือดออก
ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการรักษา
เมื่อเกิด นิ่วในถุงน้ำดี แล้วไม่รักษา อาจมีอาการตั้งแต่ท้องอืด อาหารไม่ย่อย บางครั้งนิ่วอาจไปอุดท่อถุงน้ำดี ทำให้มีอาการปวดแบบปวดดิ้น หรือถ้านิ่วตกลงไปอุดท่อน้ำดีใหญ่ จะทำให้มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง หรือมีการติดเชื้อรุนแรงเข้ากระแสโลหิต
คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อนและหลังการรักษา
การปฏิบัติก่อนการผ่าตัดนั้น ผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย และจิตใจอย่างละเอียด เช่นการเอกซเรย์ การตรวจเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการส่งปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรม เพื่อให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด
หลังการผ่าตัดด้วยแบบเปิดหน้าท้อง
- งดน้ำและ อาหาร ตามแผนการรักษาของแพทย์
- ผู้ป่วยจะได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดในขณะที่ไม่ได้รับประทานอาหาร
- ปรับแผนการรักษาตามอาการของผู้ป่วย
หลังผ่าตัดถุงน้ำดีด้วยวิธีส่องกล้อง
- งดรับประทานอาหาร 4 – 6 ชั่วโมง หรือรับประทานอาหารเหลวได้ทันที
- วันรุ่งขึ้นสามารถรับประทานอาหารอ่อนได้
- ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้อักเสบต่อเนื่อง หรือยาแก้ปวดมาก
- ออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 2 -3 วัน
สามารถปฏิบัติภารกิจตามปกติ และรับประทานอาหารได้ ตามปกติภายในเวลา 7 วัน