backup og meta

บรรเทาความเครียด เสริมสร้างความสุข ด้วยน้ำมันหอมระเหย

บรรเทาความเครียด เสริมสร้างความสุข ด้วยน้ำมันหอมระเหย

เวลาที่เรารู้สึกเหนื่อยๆ การได้ดมกลิ่นลาเวนเดอร์ หรือกลิ่นไม้หอม อาจจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดส่วนต่างๆ ของพืชเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้เพื่อการบำบัดผ่อนคลายความเครียด และใช้เพื่อรักษาสภาวะอื่นๆ กันมานานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว แต่บางคนอาจจะยังใช้น้ำมันหอมระเหยอย่างผิดวิธีกันอยู่ บทความนี้จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ น้ำมันหอมระเหย เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ น้ำมันหอมระเหย ได้อย่างปลอดภัย ไร้กังวล

น้ำมันหอมระเหย คืออะไร

น้ำมันหอมระเหยคือน้ำมันที่ได้จากการสกัดเอาสารต่างๆ ที่มีประโยชน์มาจากพืช ทำให้ได้น้ำมันที่มีกลิ่นหอมแรงกว่าวัตถุดิบดั้งเดิม และมีสารที่ออกฤทธิ์เข้มข้นกว่าพืชที่ใช้สกัดน้ำมันนั้น

วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหย มีอยู่หลายวิธี ดังต่อไปนี้

  • การกลั่นโดยใช้ไอน้ำ

กระบวนการนี้จะใช้ไอน้ำความร้อนสูง ส่งผ่านเข้าไปในหม้อควบคุมความดันที่มีวัตถุดิบของพืชที่เราต้องการกลั่นน้ำมันหอมระเหยอยู่ ไอน้ำนั้นจะกระทบกับวัตถุดิบ แล้วไหลผ่านออกไปทางท่อ โดยไอน้ำจะเอาน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในพืชติดมาด้วย หลังจากนั้นไอน้ำจะทำการควบแน่น แล้วนำมาแยกชั้น เพื่อให้ได้น้ำมันหอมระเหย วิธีการนี้จะทำให้ได้น้ำมันหอมระเหยคุณภาพดี และบริสุทธิ์มากถึง 100%

  • การสกัดเย็น

การสกัดเย็น คือการสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยการกดทับ หรือคั้นวัตถุดิบ เพื่อให้น้ำหรือน้ำมันไหลออกมาจากวัตุดิบ การสกัดเย็นมักจะใช้กับการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากผิวของพืชตระกูลส้ม เช่น ส้ม มะนาว หรือมะกรูด วิธีการนี้จะไม่ทำให้เกิดความร้อน จึงไม่ทำลายสารสำคัญที่อยู่ในน้ำมันมากนัก

  • การสกัดโดยใช้ตัวทำละลาย

วัตถุดิบบางชนิดอาจจะไม่สามารถกลั่นด้วยไอน้ำได้ เนื่องจากความร้อนจากไอน้ำอาจทำลายสารสำคัญที่อยู่ในวัตถุดิบได้ ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการสกัดโดยใช้ตัวทำละลาย เช่น acetone หรือ benzene เพื่อให้ตัวทำละลายเหล่านี้สามารถดึงเอาสารที่ต้องการออกมาจากวัตถุดิบได้

ในบางครั้งหลังจากที่ได้น้ำมันสกัดออกมาแล้ว อาจจะมีการเติมน้ำมันอื่นๆ เข้าไปด้วย เพื่อให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นพอสำหรับขาย ดังนั้นน้ำมันหอมระเหยเหล่านั้นจึงมักจะไม่ใช่น้ำมันบริสุทธิ์ แต่เป็นน้ำมันผสม

ทำไมเราจึงเลือกใช้น้ำมันหอมระเหย

น้ำมันหอมระเหยมักจะทำมาใช้ในกระบวนการสุคนธบำบัด หรืออโรมาเทอราพี (Aromatherapy) เพื่อช่วยให้ทั้งทางร่ายกายและจิตใจรู้สึกดีขึ้น น้ำมันหอมระเหยสามารถนำมาใช้โดยการทาหรือนวดบนผิว สูดดม หรือผสมกับน้ำ เพื่อให้ประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • บรรเทาความเครียดและความกังวล มีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่า น้ำมันหอมระเหยสามารถช่วยลดความเครียดและความกังวลได้ กลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยจะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ลดความกังวล และรู้สึกสงบ
  • บรรเทาอาการปวดหัว การทาน้ำมันหอมระเหยเปปเปอร์มิ้นท์ในบริเวณหน้าผากและกระหม่อม อาจช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้ นอกจากนี้ ส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยคาโมมายล์และงาก็อาจช่วยลดอาการปวดหัวและปวดหัวไมเกรนได้
  • ช่วยในการนอนหลับ กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์นั้นสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพในการนอนหลับ แก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับได้
  • ลดอาการอักเสบ มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดใบไทม์และออริกาโนสามารถช่วยลดอาการอักเสบได้ แต่งานวิจัยนี้แทบจะยังไม่มีการทดลองในมนุษย์ ดังนั้นจึงยังไม่มีทราบแน่ชัดเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อรักษาอาการอักเสบ

อันตรายที่อาจมาพร้อมกับการใช้น้ำมันหอมระเหย

หลายคนอาจจะคิดว่าน้ำมันหอมระเหยนั้นเป็นสิ่งที่ได้จากธรรมชาติ และไม่สามารถทำให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว น้ำมันหอมระเหยสามารถทำให้เกิดอันตรายได้ดังต่อไปนี้

  • น้ำมันหอมระเหยเป็นพิษจากการรับประทาน

บริษัทผู้ผลิตน้ำมันหอมระเหยหลายรายที่บอกว่า ผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยของตัวเองนั้นผลิตมาจากธรรมชาติ 100% และสามารถรับประทานได้ แต่ความจริงแล้ว น้ำมันหอมระเหยนั้นไม่ปลอดภัยสำหรับการรับประทาน การรับประทานน้ำมันหอมระเหยอาจทำให้เป็นพิษได้ แม้ว่าจะรับประทานในปริมาณน้อยก็ตาม

  • อาการระคายเคืองและแสบร้อน

ควรเจือจางน้ำมันหอมระเหยก่อนใช้ทุกครั้ง โดยเฉพาะหากคุณจะใช้เพื่อทาผิว นอกจากนี้ก็ควรทดสอบอาการแพ้ก่อน โดยทาน้ำมันหอมระเหยเล็กน้อยลงบนผิว เพื่อดูว่าร่างกายมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง

  • อาการหอบกำเริบ

แม้ว่าน้ำมันหอมระเหยจะปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ผู้ที่เป็นโรคหืดอาจเกิดปฏิกิริยาต่อน้ำมันหอมระเหย และเกิดอาการหอบกำเริบได้

  • ปวดหัว

กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยอาจทำให้บางคนมีอาการปวดหัวได้ หากสูดดมกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยมากเกินไป

การใช้น้ำมันหอมระเหยอย่างปลอดภัย

  • ทำตามคำแนะนำการใช้อย่างเคร่งครัด ควรทำตามคำแนะนำการใช้น้ำมันหอมระเหยที่ผู้ผลิตแจ้งไว้ หรือตามที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแนะนำ
  • เจือจางน้ำมันหอมระเหยทุกครั้งก่อนทาผิว เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยนั้นจะมีความเข้มข้นมาก ดังนั้นจึงควรเจือจางก่อนการใช้งานทุกครั้ง
  • อย่าหยดน้ำมันหอมระเหยลงในอาบน้ำแล้วลงไปแช่ในทันที เนื่องจากน้ำมันเหล่านี้จะลอยตัวอยู่เหนืน้ำและไม่ผสมกับน้ำหากไม่มีตัวประสาน เช่น สบู่ การลงไปแช่น้ำทันทีอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้
  • อย่าสูดดมน้ำมันหอมระเหยนานเกินไป ไม่ควรสูดดมกลิ่นจากน้ำมันหอมระเหยนานเกิน 15-20 นาที เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว และอาจทำให้จมูกระคายเคืองได้
  • ระวังไฟ น้ำมันเหล่านี้สามารถติดไฟได้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ใกล้กับบริเวณที่มีเปลวไฟ เช่น เปลวไฟจากเทียน

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Essential oils – Health warning.https://healthywa.wa.gov.au/Articles/A_E/Essential-oils .Accessed 16 January 2020

Everything you need to know about essential oils. https://www.medicalnewstoday.com/articles/326732.php.Accessed 16 January 2020

What Are Essential Oils, and Do They Work? https://www.healthline.com/nutrition/what-are-essential-oils.Accessed 16 January 2020

How to Use Essential Oils Safely. https://tisserandinstitute.org/safety/safety-guidelines/.Accessed 16 January 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Sukollaban Khamfan


บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำมันลาเวนเดอร์ (Lavender Oil)

ประโยชน์ของน้ำมันมะกอก ครบถ้วนทั้งเรื่องสุขภาพและความสวย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา