backup og meta

หัวใจสลาย เพราะอกหัก คุณไม่ได้คิดไปเองหรอกนะ!!

หัวใจสลาย เพราะอกหัก คุณไม่ได้คิดไปเองหรอกนะ!!

ทำไมการอกหักถึงทำให้เราเจ็บปวด หากใครเคยผ่านช่วงเวลาที่ความรักทำร้าย ไม่ได้ทำให้หัวใจเราเปี่ยมไปด้วยความสุข ก็คงเข้าใจดีว่ามันรู้สึกหดหู ผิดหวัง เศร้าเสียใจขนาดไหน ยิ่งเวลาความผิดหวังเข้ามาแทนที่แบบไม่ทันตั้งตัว ยิ่งทำให้เราเสียใจมากไปอีก จนถึงขั้นเหมือน หัวใจสลาย อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกจากหัวใจเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับร่างกายจริง ๆ !! ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า Broken Heart Syndrome หรือ “โรคหัวใจสลาย’ ที่อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นชั่วคราวได้เลย จะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง วันนี้ Hello คุณหมอ มีคำตอบมาให้

ทำไม อกหัก แล้วถึงรู้สึกเจ็บปวด

เมื่อคุณตกหลุมรักใครสักคน สมองจะผลิตสารเคมีต่างๆ เช่น เฟนิลเลไธลามีน (Phenylethylamine) โดพามีน (Dopamine) เอนดอร์ฟิน (Endorphin) ออกมา สารเคมีเหล่านี้ทำให้เรามีความสุข รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตื่นตัว ร่าเริง แต่เมื่อเรา อกหัก สมองก็จะสั่งการให้หยุดหลั่งสารพวกนั้นออกมาอย่างเฉียบพลัน ทำให้เรารู้สึกเศร้า ห่อเหี่ยว ไม่อยากทำอะไร หมดเรี่ยวแรง เพราะอยู่ ๆ สารเคมีในร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความไม่สมดุลขึ้นในร่างกาย

นอกจากนี้ เมื่อ อกหัก ร่างกายจะมีฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และเครียด โดยความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลจะรุนแรงแตกต่างกันไปตามระดับสารเคมีในร่างกาย การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม เป็นต้น บางคนอาจจะใช้เวลาทำใจไม่นาน ในขณะที่บางคนอาจจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่ได้ และถึงขั้นเข้าสู่ภาวะ Broken Heart Syndrome หรือ “โรคหัวใจสลาย’ ซึ่งอาจร้ายแรงจนนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ด้วย

“โรคหัวใจสลาย’ คืออะไร

โรคหัวใจสลาย (Broken Heart Syndrome) เป็นภาวะที่หัวใจหยุดเต้นชั่วคราว ซึ่งเกิดจากการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดอย่างกะทันหัน หรือเผชิญกับภาวะที่บีบคั้นทางอารมณ์อย่างรุนแรง เช่น การสูญเสียคนรัก นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดจากอาการเจ็บป่วยทางกายรุนแรงได้ด้วย เช่น การผ่าตัดใหญ่ อาการบาดเจ็บสาหัส ผู้ที่มีอาการ หัวใจสลาย มักมีอาการคล้ายกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือ เจ็บแน่นหน้าอก หายใจถี่ เหนื่อยหอบ หน้ามืด

ในโรคหัวใจสลาย เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนบีบตัวได้น้อยลง ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าที่กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกตินั้นเกิดจากสาเหตุหรือกลไกใด แต่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด (Stress Hormone) ถูกหลั่งออกมาในระดับที่สูงมากอย่างฉับพลัน จนส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนบีบตัวได้น้อยลงหรือนิ่งไป

ทำอย่างไรให้ผ่านช่วง อกหัก ไปได้

จะทำอย่างไรให้เราผ่านช่วงเวลา อกหัก นี้ไปได้ วันนี้ Hello คุณหมอ นำวิธีรับมือกับอาการ อกหัก มาฝากกัน

  • ระบายเรื่องราวให้คนที่เราไว้ใจฟัง

การได้บอกเล่าปัญหาค้างคาใจให้คนที่เราไว้ใจหรือคุยด้วยแล้วสบายใจฟัง อาจทำให้เราได้เห็นการแก้ปัญหาในมุมมองใหม่ ๆ ได้ระบายเรื่องที่อึดอัดใจออกไป จึงช่วยให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้น

  • ออกกำลังกาย

ช่วงเวลาที่อกหักร่างกายจะสร้างฮอร์โมนที่มีชื่อว่า “คอร์ติซอล“ ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมามากขึ้น ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เศร้า และเครียด หากเราได้ออกกำลังกายสักวันละ 30 นาที จะช่วยปรับสมดุลในร่างกาย ทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลอยู่ในระดับปกติ นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังช่วยหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขเพิ่มขึ้นด้วย

  • ให้เวลาเยียวยา

หากลองทำวิธีข้างต้นแล้ว แต่อาการ อกหัก ยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องใช้เวลาในการเยียวยาความรู้สึก มีงานวิจัยบอกไว้ว่า อารมณ์รักส่งผลต่อสมองเช่นเดียวกับสารเสพติด ความรักทำงานแบบเดียวกับสารเสพติด โดยจะกระตุ้นสารโดพามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เรารู้สึกดี มีความสุข เมื่อเราขาดตัวกระตุ้นอย่างคนรัก ก็เหมือนกับเราขาดสารเสพติด อาจจะมีช่วงที่โหยหา อยากได้ความสุขเช่นที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ แต่เราก็สามารถบรรเทาความเจ็บปวดได้ด้วยการไม่รับรู้เรื่องคนรักเก่า ให้ร่างกายที่อยู่ในช่วงพัก ได้ฟื้นฟูความรู้สึกของตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งจะช้าหรือไวก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์

งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ The Journal of Positive Psychology ให้ข้อมูลว่า 71% ของวัยรุ่น 155 คนใช้เวลาประมาณ 3 เดือน (ประมาณ 11 สัปดาห์) จึงจะมองเห็นแง่ดีของการเลิกรา แต่อย่างไรก็ตามงาน งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการสำรวจความสัมพันธ์ระยะสั้น หากเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว เช่น การหย่าร้าง คู่รักที่คบกันมาหลายปี ผลการวิจัยพบว่า คู่ที่หย่าร้างใช้เวลาเฉลี่ย 18 สัปดาห์กว่าอาการเสียใจจะดีขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

โรคหัวใจสลายเป็นแล้วอาจถึงตาย. https://www.trf.or.th/medicine-public-health-news/9261-2016-02-24-11-18-00. Accessed November 18, 2018

Is Broken Heart Syndrome Real ?. http://www.heart.org/en/health-topics/cardiomyopathy/what-is-cardiomyopathy-in-adults/is-broken-heart-syndrome-real. Accessed November 18, 2018

Love : A Chemical Explosion in your Brain. https://learningenglish.voanews.com/a/health-lifestyle-love/3719576.html. Accessed November 18, 2018

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/03/2021

เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประโยชน์ของการร้องไห้ ต่อสุขภาพ ที่คุณอาจไม่เคยรู้

สัญญาณของโรคซึมเศร้า ที่แตกต่างกันในผู้ป่วยต่างวัย สังเกตให้ดีเพื่อที่จะได้ไม่มองข้าม!


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 02/03/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา