backup og meta

ยาที่ทำให้ซึมเศร้า 5 ชนิดเหล่านี้ คุณกำลังใช้อยู่รึเปล่า

ยาที่ทำให้ซึมเศร้า 5 ชนิดเหล่านี้ คุณกำลังใช้อยู่รึเปล่า

ในปัจจุบันนี้ เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักกับ โรคซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ  ทั้งปัญหาทางสภาพจิตใจ และสภาพร่างกาย แต่คุณรู้หรือไม่คะว่า ยาบางชนิดที่เรากำลังใช้กันอยู่ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ ยาที่ทำให้ซึมเศร้า เหล่านั้นมีอะไรกันบ้าง มาหาคำตอบพร้อมกับ Hello คุณหมอ กันเลยค่ะ

ทำไมยาบางชนิดจึงอาจทำให้ซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง จนส่งผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึก ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นมักจะมีความคิดไปในแง่ลบ รู้สึกเบื่อหน่าย หมดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง เหม่อลอย รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หรือแม้กระทั่งอยากที่จะทำร้ายตัวเอง ความผิดปกติของสารเคมีในสมองนั้นอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัญหาทางด้านพันธุกรรม ลักษณะนิสัย ความเครียด หรือแม้แต่กระทั่งความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนและสารเคมีอื่น ๆ  ภายในร่างกาย

เมื่อเรารับประทานยาเข้าไป ยาเหล่านี้ก็จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสารเคมีภายในร่างกาย ซึ่งยาบางชนิดก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึก เช่น ทำให้รู้สึกเศร้า หมดหวัง ไม่อยากมีชีวิต หรือแม้กระทั่งอยากที่จะทำร้ายตัวเอง ซึ่งผลข้างเคียงที่เกิดจากยาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าด้วยกันทั้งสิ้น

5 ยาที่ทำให้ซึมเศร้า มีอะไรบ้าง

ยาในกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta-Blockers)

ยาในกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ เป็นยาที่แพทย์มักจะสั่งเพื่อใช้เป็นยาลดความดัน สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังอาจใช้เพื่อรักษาสภาวะที่เกี่ยวข้องกับหัวใจต่าง ๆ  เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ อาการปวดเค้นหัวใจ หัวใจล้มเหลว หรือแม้กระทั่งอาการปวดหัวไมเกรนต่าง ๆ  ในบางครั้งยานี้อาจจะเป็นหนึ่งในส่วนผสมของยาหยอดตา ที่ใช้สำหรับรักษาโรคต้อหินอีกด้วย

ยาในกลุ่มแอนตีโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic drug)

ยาในกลุ่มแอนตีโคลิเนอร์จิกนี้มักจะใช้เพื่อรักษาโรคลำไส้แปรปรวน หรือโรคไอบีเอส (irritable bowel syndrome ; IBS) เป็นยาที่สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายในส่วนต่าง ๆ  ได้อย่างมากมาย ทั้งชะลอการทำงานของลำไส้ ไปจนถึงการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้อาจสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการของโรคซึมเศร้าได้

ยากันชัก หรือยาต้านชัก (Anticonvulsants)

ยานี้จะใช้เพื่อรักษาและป้องกันอาการชัก รวมไปจนถึงใช้เพื่อรักษาสภาวะอื่น ๆ  เช่น โรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) หรืออาการปวดประสาท แต่ก็มีผลข้างเคียงที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) คือยาที่ใช้เพื่อลดอาการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบและอาการบวม ที่เกิดจากสภาวะต่าง ๆ  เช่น โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบ หรือกลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren’s Syndrome) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์นี้อาจส่งผลกระทบต่อสารเซโรโทนิน (serotonin) สารภายในสมองที่ทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก การรับประทานยาชนิดนี้จึงสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการอาการซึมเศร้าได้นั่นเอง

ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines)

ยานี้มีฤทธิ์กดการทำงานของประสาทส่วนกลาง มักจะใช้เพื่อรักษาอาการของโรควิตกกังวล และอาการนอนไม่หลับต่าง ๆ  หากใช้อย่างไม่ถูกต้องยานี้อาจจะทำให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้าได้

หากต้องใช้ยาเหล่านี้ ควรทำอย่างไร

หากคุณจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ แต่กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้า ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรให้ดี แพทย์อาจสามารถแนะนำวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง อันจะนำไปสู่โรคซึมเศร้าหรืออาการทางจิตอื่น ๆ  ต่อไป

นอกจากนี้ ผู้ป่วยก็ควรคอยสังเกตถึงผลข้างเคียง หรืออาการแปลก ๆ  ที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานยา และจดบันทึกอาการทุกอย่าง ก่อนจะแจ้งให้แพทย์ทราบ แพทย์จะได้สามารถทำการประเมินความเสี่ยงในการใช้ยา และอาจแนะนำให้ปรับขนาดยา หรือเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นแทน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

10 Drugs That Can Cause Depression https://www.verywellmind.com/drugs-that-can-cause-depression-1067458

Drugs That Cause Depression https://www.webmd.com/depression/guide/medicines-cause-depression#1

Is your medication making you depressed? https://www.health.harvard.edu/drugs-and-medications/is-your-medication-making-you-depressed

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/01/2021

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำมันหอมระเหย บรรเทาอาการซึมเศร้า ได้จริงหรือไม่

ภาวะซึมเศร้าหลังการผ่าตัด คุณจะสามารถรับมือกับภาวะนี้ได้อย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 12/01/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา