backup og meta

มีกลิ่นเหม็นในจมูก ตลอดเวลา อาจเป็นเพราะสาเหตุเหล่านี้ก็ได้นะ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 15/12/2023

    มีกลิ่นเหม็นในจมูก ตลอดเวลา อาจเป็นเพราะสาเหตุเหล่านี้ก็ได้นะ

    ในแต่ละวัน จมูกของเราได้รับกลิ่นมากมาย ทั้งกลิ่นหอมอย่างกลิ่นสบู่อาบน้ำ ยาสระผม น้ำหอม หรือกลิ่นเหม็นอย่างกลิ่นน้ำเสีย ไอเสียรถยนต์ อาหารบูดเน่า โดยปกติแล้ว เมื่อแหล่งที่มาของกลิ่นหายไป กลิ่นต่าง ๆ ก็จะหายไปด้วย แต่หากคุณรู้สึกว่า มีกลิ่นเหม็นในจมูก ตลอดเวลา จะอาบน้ำ ล้างจมูกยังไงกลิ่นก็ยังไม่หายไปไหน  จะมีสาเหตุมากจากอะไร วันนี้ Hello คุณหมอ มีคำตอบมาให้คุณค่ะ

    มีกลิ่นเหม็นในจมูกอาจมาจากสาเหตุเหล่านี้

    ปัญหากลิ่นในจมูก เกิดจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้

    ไซนัสอักเสบ

    ภาวะไซนัสอักเสบ (Sinusitis) หรือการติดเชื้อที่ไซนัส สามารถเกิดได้จากทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา นั่นทำให้อาการของไซนัสอักเสบค่อนข้างหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่อาการหนึ่งที่เหมือนกันในผู้ป่วยไซนัสอักเสบทุกคนก็คือ มีกลิ่นเหม็นในจมูก รวมถึงมีอาการเหล่านี้

    ไซนัสเฉียบพลันจะมีอาการประมาณ 7-12 วัน แต่หากเป็นไซนัสเรื้อรัง อาจมีอาการนานกว่า 12 สัปดาห์ และหากไม่รักษา ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น ริดสีดวงจมูก

    ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyp)

    ริดสีดวงจมูก เป็นการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเยื่อบุโพรงจมูกหรือไซนัส ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อนิ่มที่ไม่ใช่มะเร็ง ก้อนเล็ก ๆ ลักษณะคล้ายหยดน้ำ โดยริดสีดวงจมูกนี้อาจเป็นผลมาจากการอักเสบเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบบ่อย ๆ เป็นต้น

    เมื่อมีริดสีดวงจมูก จะทำให้มีอาการคือ มีกลิ่นเหม็นเน่าในจมูก หรือรับรสและกลิ่นได้น้อยลงเรื่อย ๆ โดยปกติแล้ว ริดสีดวงจมูกจะมีขนาดเล็กมาก และไม่ได้กระทบกับการหายใจแต่อย่างใด คุณจึงอาจไม่รู้สึกว่ามีสิ่งนี้อยู่ในจมูก แต่บางครั้ง ริดสีดวงจมูกก็อาจมีขนาดใหญ่ได้เช่นกัน หากมีริดสีดวงจมูกก้อนใหญ่ หรือมีก้อนริดสีดวงเล็กๆ หลายก้อน อาจทำให้คุณมีปัญหาในการรับกลิ่น หายใจทางจมูกได้ลำบาก เสียงเปลี่ยนไป

    นอกจากอาการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ริดสีดวงจมูกยังอาจทำให้มีอาการเหล่านี้ได้ด้วย

    • น้ำมูกไหล
    • น้ำมูกไหลลงคอ หรือเสมหะไหลลงคอ
    • คัดจมูก
    • ปวดศีรษะ
    • นอนกรน
    • มีแรงกดที่หน้าผากและที่ใบหน้า
    • เจ็บปวดบริเวณใบหน้า
    • เจ็บปวดบริเวณฟันบน

    ฟันผุ

    ปัญหาฟันผุนี้เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียก่อตัวสะสมบนผิวฟันหรือเคลือบฟัน และปล่อยกรดออกมาทำลายเคลือบฟัน ทำให้ผิวฟันเกิดเป็นจุดหรือเป็นรู มีอาการปวด อักเสบ ทำให้มีกลิ่นปาก สามารถทำให้มีกลิ่นเหม็นในจมูกได้ด้วย

    ถึงแม้ฟันผุจะเป็นปัญหาที่พบได้กับคนทุกเพศทุกวัยที่มีฟันแล้ว แต่หากคุณละเลยการดูแลทำความสะอาดฟันและช่องปาก ชอบกินอาหารที่มีน้ำตาลเยอะ ชอบกินอาหารจำพวกแป้ง ใช้ยาที่ทำให้น้ำลายน้อยลง เช่น ยารักษามะเร็งบางชนิด หรือเป็นผู้สูงอายุที่เหงือกและฟันอ่อนแอลงตามวัย ก็จะยิ่งเสี่ยงฟันผุได้ง่ายขึ้น

    นิ่วทอนซิล

    นิ่วทอนซิล (Tonsil Stone) เป็นก้อนแข็งเล็ก ๆ สีขาวหรือสีเหลือง ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของแบคทีเรีย และสารต่าง ๆ เช่น เซลล์ที่ตายแล้ว เศษอาหาร น้ำลาย เสมหะ ในบริเวณร่องหรือซอกของต่อมทอนซิล ซึ่งบางครั้งก็อาจเป็นก้อนขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายก้อนแคลเซียมได้ด้วย

    ปกติแล้ว นิ่วทอนซิลก้อนเล็กมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่หากนิ่วทอนซิลเริ่มใหญ่ขึ้น ก็อาจทำให้เกิดกลิ่นปาก ทำให้มีรสชาติแย่ในปาก ทำให้มี กลิ่นเหม็นในจมูก และมีอาการ เช่น

    • ไอเรื้อรัง หรือเจ็บคอ
    • กลืนน้ำลายหรือกลืนอาหารลำบากขึ้น
    • ปวดร้าวไปถึงหู
    • ต่อมทอนซิลบวมหรืออักเสบ

    โรคไตเรื้อรัง

    โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) เป็นภาวะที่การทำงานของไตเสื่อมถอยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ไตนั้นเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่หลากหลาย หน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของไตคือ การกรองของเสียจากเลือดและกำจัดของเสียเหล่านั้นออกจากร่างกายพร้อมปัสสาวะ แต่เมื่อไตทำงานผิดปกติ ของเสียที่ควรจะโดนกำจัดออกจากร่างกายก็กลับสะสมอยู่ในร่างกายแทน

    ของเสียที่สะสมอยู่ในร่างกายจะทำให้เกิดกลิ่นคล้ายแอมโมเนียคลุ้งอยู่ในจมูก ทั้งยังอาจทำให้คุณรู้สึกว่าในปากมีรสชาติคล้ายแอมโมเนีย หรือโลหะได้ด้วย

    ภาวะได้กลิ่นที่ไม่มีอยู่จริง

    การที่คุณรู้สึกว่ามี กลิ่นเหม็นในจมูก ความจริงอาจเป็นเพราะคุณมีภาวะได้กลิ่นที่ไม่มีอยู่จริง หรือคิดไปเองว่าได้กลิ่น หรือแฟนโทเมีย (Phantosmia) ซึ่งเป็นอาการประสาทหลอน (Hallucination) ชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในระบบรับรู้กลิ่น (Olfactory System) ทำให้คุณรู้สึกไปเองว่ามมีกลิ่นเหม็นในจมูก หรือมีกลิ่นเหม็นติดจมูกตลอดเวลา ทั้งที่จริง ๆ ไม่มีกลิ่นอะไรเลยก็ได้

    ภาวะได้กลิ่นที่ไม่มีอยู่จริงนี้ อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือการบาดเจ็บที่ศีรษะ เช่น โรคพาร์กินสัน เนื้องอกในสมอง หรือเกิดจากไซนัสอักเสบจนกระตุ้นให้เกิดกลิ่นหลอนในจมูกของคุณได้ สำหรับบางคน ภาวะนี้สามารถหายเองได้ แต่สำหรับบางคนก็ต้องเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุของอาการหลอนดังกล่าว ความรู้สึกว่ามีกลิ่นเหม็นในจมูกจึงจะหายไป

    อาหาร เครื่องดื่ม และยาบางชนิด

    อาหารและเครื่องดื่มล้วนมีโมเลกุลขนาดจิ๋วที่กระตุ้นประสาทรับกลิ่นของเราได้ เมื่ออาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงยาบางชนิดที่เรากินเข้าไปถูกทำให้แตกตัวเล็กลงและถูกย่อย ก็จะปล่อยกลิ่นออกมา หรืออาจทำให้หลงเหลือกลิ่นอยู่ในปาก หรือกระตุ้นให้มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ในจมูกได้ โดยเฉพาะเมื่อเป็นอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาเหล่านี้

  • กระเทียมและหัวหอม
  • กาแฟ
  • อาหารรสเผ็ด
  • อาหารที่มีไนเตรท หรือไนไตรท์ เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป อย่างไส้กรอก แฮม แหนม เป็นต้น
  • แอมเฟตามีน
  • ยาในกลุ่มฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine) เช่น คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine)
  • วิธีรักษาและป้องกัน กลิ่นเหม็นในจมูก ด้วยตัวเอง

    อาการมี กลิ่นเหม็นในจมูก สามารถป้องกันและรักษาเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ดื่มน้ำให้ร่างกายชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ปากแห้งจนเกิดกลิ่นปากหรือ กลิ่นเหม็นในจมูก
    • รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี ด้วยวิธีการ เช่น
      • แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง และอย่าลืมแปรงลิ้นด้วย
      • ใช้ไหมขัดฟัน
      • ตรวจสุขภาพฟันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
  • รักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการมี กลิ่นเหม็นในจมูก ให้หาย หรือควบคุมอาการของโรคให้ดี
  • งดอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นสาเหตุให้มี กลิ่นเหม็นในจมูก
  • ปรึกษาคุณหมอเพื่อเปลี่ยนยาที่อาจทำให้เกิด กลิ่นเหม็นในจมูก
  • เลิกสูบบุหรี่ทุกชนิด
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ โดยใช้ชุดน้ำเกลือล้างจมูกที่วางขายตามร้านขายยา หรือใช้วิธีนี้ก็ได้
    1. ต้มน้ำ 460 มิลลิลิตรให้เดือด แล้วทิ้งไว้ให้เย็นลงสักครู่
    2. ผสมเกลือ 1 ช้อนชากับเบกกิ้งโซดา 1 ช้อนชาในน้ำที่ต้มไว้
    3. ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด
    4. เอามือข้างหนึ่งกวักน้ำเกลือที่ผสมไว้ขึ้นมา
    5. เอามืออีกข้างปิดจมูกไว้ข้างหนึ่ง แล้วก้มหน้าแล้วสูดน้ำเกลือในอุ้งมือให้หมดในครั้งเดียว
    6. ปล่อยให้น้ำเกลือไหลออกมาจากจมูก โดยอาจใช้มือปิดจมูกอีกข้างไว้เพื่อให้สั่งน้ำเกลือออกมาง่ายขึ้น
    7. ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
    8. ทำซ้ำกับรูจมูกอีกข้าง
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 15/12/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา