ไม่ว่าใครต่างก็คงจะมีเพลงที่ติดอยู่ในหัว ร้องท่อนเดิมซ้ำไปซ้ำมาไม่ยอมหยุด จะทำอย่างไรก็สลัดเพลงนี้ออกจากหัวไม่ได้สักทีกันคนละเพลงสองเพลง อาการ เพลงหลอนติดหู แบบนี้ เป็นอาการที่พบบ่อย และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้ว่าอาการนี้อาจจะดูไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย แต่ก็อาจทำให้ใครหลายคนหงุดหงิดและเสียสมาธิได้ ดังนั้น วันนี้ Hello คุณหมอ จะมาแนะนำวิธีดี ๆ ในการแก้ไขอาการ เพลงหลอนติดหู เพื่อสลัดเพลงท่อนเดิมให้ออกไปจากหัวเสียที
เพลงหลอนติดหู เป็นอย่างไร
อาการเพลงหลอนติดหู หรือที่เรียกว่า Earworm เป็นอาการที่เราจะนึกถึงเพลง หรือร้องเพลงท่อนเดิมอยู่ในหัวซ้ำไปซ้ำมา ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่เราชอบฟังหรือไม่ก็ตาม อาการนี้อาจเกิดได้กับทุกคน แต่หลายๆ คนที่มีอาการนี้ อาจจะไม่รู้สึกหงุดหงิด หรือมีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม มีบางคนที่อาจจะรู้สึกรำคาญ เวลาที่ไม่สามารถสลัดเพลงท่อนเดิมให้ออกไปจากหัวได้ จนรู้สึกไม่สงบใจในที่สุด
นักวิจัยได้พยายามศึกษาค้นคว้า เพื่อหาว่าอะไรคือคุณสมบัติที่ทำให้เพลงเพลงหนึ่ง สามารถหลอนติดหูเราได้ นักวิจัยได้ทำการสอบถามคนกว่า 3,000 คน ในช่วงปีระหว่าง 2010-2013 เกี่ยวกับเพลงที่มักจะหลอนติดหู และได้สร้างรายการรวมชื่อเพลงกว่า 100 เพลง ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในระหว่างการทำแบบสอบถามนี้ หลังจากนั้นจึงได้ทำการเปรียบเทียบระหว่างองค์ประกอบของเพลงเหล่านี้ กับเพลงที่ได้รับความนิยม แต่ไม่ถูกพูดถึง
จากการเปรียบเทียบ พบว่า เพลงที่มักจะติดหูเรามากที่สุด มักจะเป็นเพลงที่มี “รูปร่างของการดำเนินทำนองเพลง’ (melodic contours) เหมือนกัน เช่น เพลงที่ขึ้นเสียงสูงในท่อนแรก ก่อนจะลงต่ำในท่อนที่ 2 อย่างเพลง “Twinkle, Twinkle Little Star,’ กับเพลง “Moves Like Jagger,’ ซึ่งเป็น 2 เพลงที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของเพลงที่ติดหูคนมากที่สุด นอกจากนี้ เพลงที่ติดหูก็มักจะมีลักษณะโครงสร้าง หรือมีช่วงเว้นจังหวะที่เป็นลักษณะพิเศษ หรือ เพลงที่มีโน๊ตซ้ำๆ อย่างเพลง “Shape of You,” หรือเพลงที่โด่งดังและติดหูคนหลายๆ คน อย่างเพลง “PPAP’
อาการเพลงหลอนติดหู เป็นอันตรายหรือไม่
อาการเพลงหลอนติดหู ฟังดูแล้วเหมือนจะไม่ใช่อาการที่เป็นปัญหาอะไร แต่จริงๆ แล้วอาการเพลงหลอนติดหูใช่ว่าจะไม่เป็นพิษเป็นภัยไปเสียทั้งหมด ในบางครั้ง อาการเพลงหลอนติดหูเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณของโรคต่างๆ เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ กลุ่มอาการทางจิต ปวดหัวไมเกรน ลมชัก หรือสภาวะที่อยู่ในกลุ่มของอาการ Palinacousis ต่างๆ
นอกจากนี้ อาการเพลงหลอนติดหูที่นานเกินกว่า 24 ชั่วโมง อาจมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคมะเร็งที่แพร่ไปยังสมองก็เป็นได้ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด คุณจึงควรไปรับการตรวจจากแพทย์ หากคุณพบว่าคุณมีอาการเพลงหลอนติดหูอยู่นานเกิน 24 ชั่วโมง
ใครบ้างมีโอกาสที่จะเกิดอาการนี้มากกว่าคนอื่น
งานวิจัยพบว่า บางคนอาจจะมีโอกาสเกิด อาการเพลงหลอนติดหู ได้มากกว่าคนอื่น คนเหล่านั้นคือผู้ที่ร้องเพลงหรือฟังเพลงเป็นประจำ และผู้ที่มีลักษณะพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ย้ำคิดย้ำทำ
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ทำการศึกษา เพื่อดูว่าขนาดและรูปร่างของสมอง อาจส่งผลต่อโอกาสในการเกิดอาการเพลงหลอนติดหูได้หรือไม่ พบว่าผู้คนที่มีสมองส่วนหน้าและสมองขมับบาง อาจจะมีโอกาสเกิดอาการเพลงหลอนติดหูมากกว่า เนื่องจากสมองส่วน Heschl’s gyrus ที่อยู่ในบริเวณนั้นมีหน้าที่ในการรับรู้การได้ยินและการสร้างภาพดนตรีขึ้นภายในสมอง งานวิจัยเชื่อว่า ผู้ที่มีสมองส่วนหน้าใหญ่ อาจจะไปบดบังการทำงานของสมองส่วนนี้ ทำให้มีโอกาสเกิด อาการเพลงหลอนติดหู ได้น้อยกว่า
วิธีกำจัดอาการเพลงหลอนติดหู
ฟังเพลงให้จบ
เพลงที่หลอนติดหูนั้นมักจะเป็นเพียงแค่ท่อนใดท่อนหนึ่ง ซ้ำไปซ้ำมา ไม่จบเพลง ดังนั้นการฟังเพลงนั้นให้จบ จึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยจัดการกับ อาการเพลงหลอนติดหู บางคนหลังจากที่ฟังเพลงนั้นจบแล้ว ก็อาจมีโอกาสที่จะได้ฟังเพลงอื่นของศิลปินคนเดิม ทำให้ลืมเพลงที่ติดอยู่ในหัวไปในที่สุด
ฟังเพลงอื่นที่ฟังแล้วติดหู
การฟังเพลงอื่น เป็นวิธีดี ๆ ที่จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของเรา ไปจากเพลงที่กำลังหลอนติดหูของเราได้ โดยที่ไม่กลายมาเป็นเพลงที่หลอนติดหูของเราแทน โดยพยายามเลือกเพลงที่มีจังหวะที่ไม่ซ้ำ หรือเป็นเพลงที่เคยลองฟังแล้ว และไม่ติดหู
เบี่ยงเบนความสนใจ
การพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของสมอง ให้ไปมุ้งเน้นหรือสนใจในเรื่องอื่นแทน ก็เป็นอีกวิธีการที่ดีที่จะช่วยจัดการกับอาการเพลงหลอนในหู โดยคุณอาจจะลองหันไปพูดคุยกับคนอื่น นั่งสมาธิ ดูทีวี หรือหาเกมปริศนาเล่นเพื่อให้เราได้ใช้ความคิด และเลิกสนใจเพลงที่กำลังติดอยู่ในหัวเราในที่สุด
เคี้ยวหมากฝรั่ง
งานวิจัยเมื่อปี 2015 พบว่า การเคี้ยวหมากฝรั่ง อาจจะช่วยรบกวนต่อกระบวนการสร้างเสียงเพลงในหัว ที่ทำให้เกิด อาการเพลงหลอนติดหู ได้ เนื่องจากการเคี้ยวนั้นอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคำพูด ดังนั้นจึงทำให้พวกเขาไม่สามารถคิดคำพูดหรือเนื้อเพลงภายในหัวได้อย่างที่ใจนึก
[embed-health-tool-bmi]