backup og meta

สูตรชาหญ้าฝรั่น หรือ แซฟฟรอน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 07/01/2021

    สูตรชาหญ้าฝรั่น หรือ แซฟฟรอน  

    ถึงจะไม่ค่อยได้ยินชื่อของเครื่องดื่มที่ทำจากสมุนไพรอย่าง หญ้าฝรั่น หรือ แซฟฟรอน มากเท่าไหร่นัก แต่ในปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีวางขายอยู่มิใช่น้อย เนื่องด้วยสรรพคุณภายในตัวหญ้าฝรั่นค่อนข้างให้ประโยชน์อย่างมาก วันนี้ Hello คุณหมอ จึงขอนำขั้นตอนการทำของ สูตรชาหญ้าฝรั่น หรือ ชาแซฟฟรอน มาฝากให้ทุกคนได้ลองทำรับประทานเองง่าย ๆ ที่บ้าน เพื่อป็นการบำรุงสุขภาพจากภายในสู่ภายนอกไปพร้อม ๆ กันค่ะ

    ทำความรู้จักกับหญ้าฝรั่น หรือ แซฟฟรอน กันเถอะ

    หญ้าฝรั่น หรือ แซฟฟรอน (Saffron) เป็นดอกไม้ที่ค้นพบได้มากที่สุดในแถบตะวันออกกลาง และในทวีปยุโรปบางส่วน และนิยมปลูกกันมากที่สุดในอินเดีย กรีซ อิหร่าน ซึ่งหญ้าฝรั่นมักถูกมองว่าเป็นเครื่องเทศอีกชนิดที่ค่อนข้างมีราคาสูงเนื่องจากต้องทำการเก็บเกี่ยวเป็นจำนวนมาก เพื่อนำเอาส่วนของในเกสรดอกไม้ที่มีลักษณะเป็นสีแดงเรียวเล็กยื่นยาวออกมา และนำไปอบแห้งเป็นสมุนไพร นอกจากนี้หญ้าฝรั่นยังสามารถนำมาใช้ปรุงเป็นเครื่องดื่ม อาหาร และยังนำมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในน้ำหอม หรือการย้อมสีผ้าได้อีกด้วย

    ประโยชน์ของหญ้าฝรั่น หรือ แซฟฟรอน

    แต่เดิมหญ้าฝรั่นถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรเพื่อรักษาอาการทางสุขภาพมาแล้วเมื่อ 3,500 ปีก่อน จวบจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากหญ้าฝรั่นนั้น สามารถให้คุณประโยชน์ที่ช่วยเพิ่มการทำงาน และพร้อมปกป้องสุขภาพ ให้คุณห่างไกลจากความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ ดังต่อไปนี้

    • ป้องกันโรคมะเร็ง

    หญ้าฝรั่นประกอบไปด้วยฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และ โครซิน (Crocin) ซึ่งมีผลการศึกษาหนึ่งในหลอดทดลองพบว่าโครซิน ในหญ้าฝรั่นสามารถช่วยยับยั้งเซลล์ที่ผิดปกติที่อาจเสี่ยงเกิดเป็นโรคมะเร็งได้ ที่สำคัญยังสารประกอบชนิดนี้ยังมีส่วนช่วยในการกระตุ้นสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันที่อาจช่วยทำลายเซลล์มะเร็วที่ก่อตัวได้อีกด้วย

    เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบความจำ

    เนื่องจากโครซิน (Crocin) และ โครเซติน (Crocetin) เป็นสารประกอบที่นักวิจัยเชื่อว่า อาจมีส่วนช่วยในเสริมสร้างความสามารถในการเรียนรู้ และความจำได้เป็นอย่างดี โดยมีการทดสอบกับหนูทดลองเบื้องต้นถึงประสิทธิภาพ ซึ่งผลสรุปออกมาว่าหญ้าฝรั่นนั้น อาจมีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับการทำงานของสมองได้ เช่น อัลไซเมอร์ (Alzheimer) พาร์กินสัน (Parkinson) เป็นต้น

    • บรรเทาอาการทางอารมณ์ก่อนมีประจำเดือน

    เมื่อคุณประสบกับอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome; PMS) ที่เป็นภาวะเกี่ยวกับอารมณ์แปรปรวนในผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงในช่วงก่อนมีประจำเดือน การรับประทานหญ้าฝรั่นในรูปแบบเครื่องดื่ม หรืออาหารเสริม อาจช่วยให้เข้าไปปรับปรุงสมดุลของฮอร์โมนความเครียด ที่ส่งผลให้อารมณ์ของคุณนั้นคงที่ และยังอาจช่วยให้ประจำเดือนคุณมาตามรอบเดือนปกติได้

    ต้านอาการซึมเศร้า

    ในการศึกษาหนึ่งพบว่าการรับประทานหญ้าฝรั่น 30 มิลลิกรัม เป็นประจำทุกวัน อาจมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการรับประทานยาต้านซึมเศร้าอื่น ๆ เช่น ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) อิมิพรามีน (Imipramine)  ไซตาโลแพรม (Citalopram) ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้าโดยตรง

    แต่ในการรับประทานผลิตภัณฑ์ หรือยาที่ประกอบด้วยหญ้าฝรั่น อาจใช้ได้กับผู้ป่วยที่ประสบกับโรคซึมเศร้าในระดับเล็กน้อย ถึงปานกลาง หากกรณีผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงเข้าข่ายตามเกณฑ์ที่แพทย์วินิจฉัย อาจจำเป็นต้องรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดให้เท่านั้น ถึงจะให้ผลในการรักษาได้ดีที่สุด

    สูตรชาหญ้าฝรั่น-แซฟฟรอน

    สูตรชาหญ้าฝรั่น หรือ แซฟฟรอน

    วัตถุดิบในการทำชาหญ้าฝรั่น

    • หญ้าฝรั่นอบแห้ง ¼ ช้อนชา
    • น้ำดื่มสะอาด 4 ถ้วยตวง
    • น้ำผึ้ง 1-2 ช้อนโต๊ะ
    • ชาขาวสำเร็จรูป 1 ถุง หรือแบบผงประมาณ 2 ช้อนชา

    ขั้นตอนการทำชาหญ้าฝรั่น

    1. บดหญ้าฝรั่นให้เป็นผงละเอียด
    2. ต้มน้ำสะอาดในหม้อให้เดือดแล้วนำชาขาวแบบผง หรือถุงชาขาวสำเร็จรูปต้มลงไป
    3. ปิดไฟปล่อยน้ำชาขาวทิ้งไว้ พร้อมกับใส่หญ้าฝรั่นที่บดลงไป ทิ้งไว้ 3-4 นาที แล้วเติมน้ำผึ้ง เพื่อเพิ่มรสชาติ
    4. กรองหญ้าฝรั่นออกให้จนหมด และเทลงใส่ภาชนะพร้อมดื่มได้ทันที

    ซึ่งหากคุณไม่ชอบชาร้อน คุณสามารถใส่น้ำแข็ง หรือนำไปแช่ตู้เย็นก่อนนำออกมารับประทานได้ โดยการแช่เย็นหญ้าฝรั่นอาจจะทำให้สามารถเก็บรักษาไว้ได้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น อีกทั้งหากรสชาติยังไม่เป็นไปดั่งตามที่คุณต้องการ คุณอาจใส่น้ำมะนาว หรือน้ำผึ้งเพิ่มเติมได้ เพื่อให้คุณรับประทานง่ายมากขึ้น

    ข้อควรระวังในการรับประทานหญ้าฝรั่น

    ก่อนการรับประทานคุณควรเข้ารับการปรึกษาจากนักโภชนาการ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสียก่อน ถึงแม้หญ้าฝรั่นอาจไม่ค่อยส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพใด ๆ มากนัก แต่ก็ควรระมัดระวัง และไม่บริโภคในปริมาณมาก หรือเกินกว่า 30 มิลลิกรัมต่อวัน อีกทั้งสตรีที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ประกอบด้วยหญ้าฝรั่นอย่างสิ้นเชิง เพราะอาจก่อให้เกิดพิษ จนแท้งบุตรในครรภ์ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 07/01/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา