backup og meta

ปวดฟันเมื่อกินของหวาน เป็นแบบนี้ทุกที ทำอย่างไรดีนะ

ปวดฟันเมื่อกินของหวาน เป็นแบบนี้ทุกที ทำอย่างไรดีนะ

สุขภาพช่องปากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ต้องมีการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน รวมถึงการเลือกรับประทานอาหาร เพราะอาหารบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อฟันและสุขภาพช่องปากได้ สำหรับใครที่มักจะรู้สึก ปวดฟันเมื่อกินของหวาน ฟันของคุณอาจมีความไวต่อน้ำตาลและของหวาน ๆ วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาการปวดฟันเมื่อรับประทานของหวาน ว่าเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง และควรดูแลอย่างไรดี

เหตุผลที่ทำให้ ปวดฟันเมื่อกินของหวาน

เมื่อฟันเกิดความเสียหาย อาจทำให้เกิดความไวต่อน้ำตาลเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายประการ ดังนี้

สูญเสียเคลือบฟัน 

เคลือบฟัน (Enamel) เป็นสารสีขาวที่อยู่นอกสุดของฟัน มีหน้าที่ในการปกป้องไม่ให้เนื้อฟันถูกทำลาย เมื่อเคลือบฟันถูกทำลายอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดความไวต่อสิ่งเร้า โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต อาหารเหล่านี้เมื่อผสมกับแบคทีเรียที่เป็นอันตรายในช่องปากสามารถทำให้เคลือบฟันกร่อนได้ นอกจากน้ำตาลแล้ว อาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนจัด เย็นจัด และอาหารรสเปรี้ยวก็สามารถทำลายเคลือบฟันได้เช่นกัน ไม่เพียงแต่อาหารเท่านั้นที่ทำให้เคลือบฟันถูกทำลาย การแปรงฟันแรงเกินไปก็สามารถทำให้เคลือบฟันถูกทำลายได้เช่นกัน

ฟันผุ

เมื่อแบคทีเรียในปากกินน้ำตาลจากอาหารที่รับประทานเข้าไปจนเกิดคราบจุลินทรีย์ที่เกาะบนฟันและใต้เหงือก เมื่อปริมาณจุลินทรีย์เหล่านี้เกาะมาก ๆ จนเคลือบฟันกร่อน แบคทีเรียก็จะเข้าไปถึงเนื้อฟันด้านในได้ จนทำให้เกิดปัญหา ฟันผุ เมื่อมีอาหารหรือแบคทีเรียเข้าไปในบริเวณที่ฟันผุก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการปวดได้

เหงือกอักเสบ

เมื่อคราบจุลินทรีย์สะสมมาก ๆ จนเกิดเป็นหินปูนเกาะที่ฟันและเหงือก อาจทำให้เหงือกระคายเคืองจนเหงือกอักเสบได้  เมื่อเหงือกอักเสบก็จะทำให้เกิดอาการบวม ติดเชื้อ เลือดออก บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการเสียวฟันได้

เหงือกร่น

เหงือกนั้นมีหน้าที่ในการปกปิดกระดูกและป้องกันรากฟัน เมื่อเหงือกร่นจนเห็นรากฟันอาจทำให้เกิดอาการเสียวฟัน และรู้สึกเจ็บได้

ป้องกันอย่างไรเมื่อ ปวดฟันเมื่อกินของหวาน

การป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดฟัน เสียวฟันเมื่อรับประทานของหวาน ควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ทำลายสุขภาพฟัน เช่น โซดา ลูกอมเคี้ยวหนึบ คาร์โบไฮเดรตที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะอาหารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายเคลือบฟัน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้

อมยิ้ม การอมลูกอมเป็นเวลานาน อาจทำให้กรดที่มีฤทธิ์กัดกร่อนฟันทำร้ายฟันเป็นเวลานานได้

เยลลีหรืออาหารที่เหนียว เช่น กัมมี่แบร์ ไอซิ่ง ผลไม้แห้ง และน้ำผึ้ง ล้วนเป็นอาหารที่มีความเหนียว เมื่อรับประทานอาจทำให้เกาะติดฟันได้ง่าย ทำให้แบคทีเรียมีเวลาเติบโตได้มาก

น้ำส้ม การรับประทานน้ำส้ม หรือน้ำผลไม้คั้นทำให้ได้รับน้ำตาลในปริมาณที่สูง เช่นเดียวกับกรดซิตริก (Citric acid) ซึ่งเป็นกรดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเป็นกรดที่มักกัดกร่อนฟัน

เครื่องดื่มอัดลม โคล่าและเครื่องดื่มอัดลมอื่น ๆ ไม่เพียงแต่เต็มไปด้วยน้ำตาลเท่านั้นแต่ยังมีฤทธิ์เป็นกรดอีกด้วย

ควรเลือกรับประทานผักและผลไม้ที่มีปริมาณไฟเบอร์ นม โยเกิร์ตรสธรรมชาติ อาหารเหล่านี้จะช่วยให้ช่องปากของคุณมีความชุ่มชื่นและช่วยต่อสู้กับกรดและแบคทีเรียที่กัดกินฟัน นอกจากการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านี้แล้ว ต้องมีการแปรงฟัน ดูแลสุขภาพช่องปากให้ถูกวิธีช่วยให้มีสุขภาพช่องปากที่แข็งแรง แต่เมื่อไรก็ตามที่มีอาการปวดฟันนานกว่า 1 สัปดาห์ คุณอาจเกิดการติดเชื้อในช่องปากควรต้องรีบเข้าปรึกษาคุณหมอในทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Source

Why Do My Teeth Hurt When I Eat Sweets?

https://www.healthline.com/health/dental-and-oral-health/why-do-my-teeth-hurt-when-i-eat-sweets

Why Do My Teeth Hurt When I Eat Sweets?

What Can You Do About Sensitive Teeth?

https://www.webmd.com/oral-health/guide/tooth-sensitivity#1

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/01/2021

เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

บอกลาเหงือกอักเสบด้วย วิธีเยียวยาเหงือกอักเสบ ง่ายๆ ที่คุณก็ทำได้

น้ำลาย ผู้ช่วยสำคัญ ในการป้องกันฟันผุ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 20/01/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา