backup og meta

เป็นโรคกรดไหลย้อน จะดูแลสุขภาพฟันอย่างไร ให้ห่างไกลจาก ฟันสึกกร่อน

เป็นโรคกรดไหลย้อน จะดูแลสุขภาพฟันอย่างไร ให้ห่างไกลจาก ฟันสึกกร่อน

โรคกรดไหลย้อน เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่คนวัยทำงานหลายคนมักจะพบเจอ โรคนี้สามารถส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อาการแสบร้อนกลางอก ท้องอืด คลื่นไส้ และเจ็บคอ แต่อีกหนึ่งปัญหาที่หลายคนอาจจะมองข้ามคือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพฟัน วันนี้ Hello คุณหมอ จะมาช่วยไขคำตอบว่า กรดไหลย้อนกับสุขภาพฟัน เกี่ยวข้องกันอย่างไร และเราจะมีวิธีใดที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง

กรดไหลย้อนกับสุขภาพฟัน สัมพันธ์กันอย่างไร

กระเพาะอาหารของเราจะผลิตกรดขึ้นมาตามธรรมชาติ เพื่อช่วยในการย่อยอาหารที่เรารับประทานเข้าไป แต่ในบางครั้ง หากเรารับประทานอาหารในปริมาณมาก หรือนอนทันทีหลังจากรับประทานอาหาร อาจทำให้กรดในกระเพาะอาหารนั้น ไหลย้อนกลับขึ้นไปผ่านทางหลอดอาหาร จนทำให้เราเกิดอาการแสบร้อนกลางอก เจ็บคอ ท้องอืด เรอเหม็นเปรี้ยว และมีคลื่นไส้ เนื่องจากน้ำย่อยกัดทำลายหลอดอาหาร และหากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรัง ก็จะกลายเป็นโรคกรดไหลย้อนในที่สุด

ตามปกติแล้ว น้ำลายภายในปากของเรา สามารถช่วยรักษาระดับความสมดุลของกรดภายในช่องปากได้ ทำให้ความเป็นกรดนี้ไม่สามารถทำอันตรายใดๆ ต่อสุขภาพฟันของเรา แต่หากเราเป็นโรคกรดไหลย้อน อาจทำให้ปริมาณของกรดที่ไหลย้อนกลับมาทางหลอดอาหารนั้นมีมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงเวลานอนที่ร่างกายของเราจะผลิตน้ำลายน้อยลง ทำให้ไม่สามารถปรับสมดุลของความเป็นกรดภายในช่องปากได้ และทำให้กรดนั้นทำร้ายฟันในที่สุด

กรดไหลย้อน ทำให้ฟันสึกกร่อนได้จริงเหรอ

อาการฟันสึกกร่อนนั้นแตกต่างจากอาการฟันผุ เนื่องจากไม่ได้มีสาเหตุมาจากการทำลายฟันของเชื้อแบคทีเรีย แต่มีสาเหตุมาจากสารเคมีที่เป็นกรด ที่บ่อนทำลายชั้นเคลือบฟัน และส่งผลให้ฟันเกิดการสึกกร่อนได้

เมื่อกรดในกระเพาะที่ไหลย้อนกลับขึ้นไปทางหลอดอาหารไปสัมผัสกับฟัน ก็จะทำการกัดกร่อนชั้นเคลือบฟันและทำให้เกิดปัญหาฟันสึกกร่อนได้ แม้ว่าน้ำลายที่อยู่ภายในปากจะช่วยเคลือบป้องกันฟัน และปรับสมดุลความเป็นกรดภายในปากได้ ทำให้กรดเหล่านี้ไม่สามารถทำลายชั้นเคลือบฟันได้ แต่ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนนั้นมักจะมีปัญหาปากแห้ง ผลิตน้ำลายไม่เพียงพอ จึงทำให้ฟันขาดเกราะชั้นนอกที่จะช่วยป้องกันไม่ให้กรดมาสัมผัสกับฟันโดยตรง

ระดับความรุนแรงของอาการฟันสึกกร่อนที่เกิดจากโรคกรดไหลย้อนนั้นจะขึ้นอยู่กับ ระยะเวลาการเกิดโรคกรดไหลย้อน ความถี่ในการเกิดอาการ ค่า pH และปริมาณของน้ำลายภายในช่องปาก นอกจากนี้ยังอาจได้รับผลจากความเป็นกรดของอาหารที่เรารับประทานเข้าไปอีกด้วย อาหารที่มีค่าความเป็นกรดสูงๆ เช่น น้ำอัดลม น้ำมะนาว หากรวมเข้ากับความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร อาจเพิ่มความรุนแรงของการเกิดอาการฟันสึกกร่อน และทำให้ปัญหาฟันสึกกร่อนนี้ยากเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ในที่สุด

เคล็ดลับในการป้องกันฟันจากกรดไหลย้อน

ควบคุมปริมาณการบริโภคอาหารที่เป็นกรด หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีความเป็นกรดสูง เช่น น้ำอัดลม และพยายามอย่าให้น้ำที่มีความเป็นกรดเหล่านี้สัมผัสโดยตรงกับฟัน เช่น ใช้หลอดดูดน้ำ การควบคุมระดับของกรดที่อยู่ภายในช่องปาก จะช่วยป้องกันปัญหาฟันสึกกร่อนจากกรดไหลย้อนได้

เคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาล เพื่อช่วยลดความเป็นกรดภายในช่องปาก และช่วยเพิ่มระดับของน้ำลายได้อีกด้วย ควรเลือกหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของ xylitol เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ

ควบคุมโรคกรดไหลย้อน พยายามควบคุมอาการของโรคกรดไหลย้อน อย่าปล่อยให้มีอาการรุนแรง เมื่อรู้สึกว่าเริ่มมีอาการ ควรรีบรับประทานยาลดกรดในทันที นอกจากนี้ก็ควรปรับพฤติกรรมที่ทำให้เป็นโรคกรดไหลย้อน เช่น กินข้าวไม่ตรงเวลา กินแล้วนอนทันที หรือนอนดึก

ดูแลสุขภาพของช่องปาก ดูแลสุขภาพของช่องปากและฟันให้ดีด้วยการแปรงฟันเป็นประจำหลังอาหาร และนอกจากแปรงฟันก็ควรจะใช้ไหมขัดฟัน เพื่อกำจัดคราบเศษอาหารที่ติดอยู่ แต่ควรระวัง อย่าแปรงฟันทันทีหลังจากกินอาหารที่มีความเป็นกรดสูง และไม่ควรแปรงฟันอย่างรุนแรงจนเกินไป เพราะจะทำลายเคลือบฟันได้

บ้วนปาก หลังจากกินอาหารที่มีความเป็นกรดสูง ควรบ้วนปากด้วยน้ำเปล่า โซเดียมคาร์บอเนต และน้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์ในทันที น้ำจะช่วยกำจัดกรดส่วนเกินที่หลงเหลืออยู่ในปาก ส่วนโซเดียมคาร์บอเนตนั้นจะปรับลดค่าความเป็นกรดลง หลังจากนั้นจึงตามด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์ เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของฟัน

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Erosion: Stomach Upset and Your Teeth https://www.mouthhealthy.org/en/az-topics/e/tooth-erosion-and-acid-reflux. Accessed 17 March 2020
Can GERD Cause Tooth Decay? https://www.everydayhealth.com/dental-health/oral-conditions/specialist/jacobs/can-gerd-cause-tooth-decay.aspx. Accessed 17 March 2020
Dental approach to erosive tooth wear in gastroesophageal reflux disease https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4196415/. Accessed 17 March 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/02/2021

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีแก้ร้อนใน และวิธีดูแลช่องปาก อย่างเหมาะสม

แปรงฟันแห้ง คืออะไร ดีต่อสุขภาพฟันเด็กอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา