โรคฟันผุ มาเยือนบ่อยครั้งจนต้องไปพบหมอฟันนับครั้งไม่ถ้วน แต่หลาย ๆ คนก็ยังอาจคิดว่าโรคฟันผุเป็นเพียงปัญหาเล็ก ๆ ของสุขภาพช่องปากที่ไม่ได้รุนแรงแต่อย่างใด และสามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ในระยะเวลาสั้น ๆ จึงเลือกที่จะละเลยปัญหาฟันผุ แต่สิ่งที่เรามองข้ามมักกลายเป็นเรื่องใหญ่เสมอ เพราะอันที่จริง ปัญหาในช่องปากที่ดูไม่น่าไม่อันตรายอย่างโรคฟันผุ กลับกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจได้! อันตรายขนาดนี้ปล่อยไว้ไม่ได้แล้วค่ะ ดังนั้นวันนี้ Hello คุณหมอ ขอพาทำความรู้จักและหลีกเลี่ยงฟันผุกัน
โรคฟันผุ เป็นอย่างไร
โรคฟันผุ เป็นปัญหาในช่องปากประเภทหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคือ ฟันถูกทำลายจากกรด ฟันผุสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในส่วนตัวฟันและรากฟันที่โผล่พ้นออกมาจากเหงือก โดยปกติระบบการทำงานในช่องปาก จะมีกระบวนการเปลี่ยนแร่ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสในชั้นผิวเคลือบฟันกับน้ำลายตลอดเวลาอย่างสมดุล ทำให้ไม่มีการสูญเสียแร่ธาตุออกจากผิวฟัน แต่ในภาวะที่จุลินทรีย์มีการย่อยสลายอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล จะเปลี่ยนน้ำลายเป็นกรด ทำให้สูญเสียแคลเซียม และฟอสฟอรัสออกจากตัวฟันมากกว่าการได้รับกลับคืน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นบ่อยก็จะทำให้เกิดฟันผุ
สาเหตุของการเกิดโรคฟันผุ
การเกิดฟันผุ มาจากปัจจัย 4 ประการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน ได้แก่
- แผ่นคราบจุลินทรีย์
- อาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล
- ตัวฟัน
- เวลา
โดยแบคทีเรียที่มีอยู่ตามปกติในช่องปากจะทำปฏิกิริยากับคราบพลัค (Plaque) ที่ติดค้างอยู่ตามซอกฟัน และผิวเคลือบฟัน ซึ่งเราขจัดออกไปได้ไม่หมด เกิดเป็นกรดขึ้น ซึ่งกรดสามารถทำลายผิวเคลือบฟัน ก่อให้เกิดฟันผุขึ้นได้หากค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ในปากมีค่าต่ำกว่า 5.5 บ่อย ๆ และเป็นเวลานาน
ผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึงจากโรคฟันผุ
อาการของฟันผุ
การผุของฟัน จะเริ่มขึ้นที่ชั้นผิวเคลือบฟันก่อน โดยจะเห็นเป็นจุดดำเล็ก ๆ หรือเป็นเส้นดำตามร่องฟันด้านบดเคี้ยว หรือเนื้อฟันมีสีขาวขุ่นผิดปกติ ระยะนี้มักไม่พบอาการเสียวฟันหรือปวดฟันแต่อย่างใด ซึ่งการทำความสะอาดฟันที่ดี สามารถชะลอการลุกลามของฟันผุได้ แต่หากเราปล่อยไว้ไม่ดูแล จนฟันผุลุกลามไปถึงชั้นเนื้อฟัน จะมีอาการเสียวฟันเมื่อเคี้ยวอาหาร หรือเมื่อกระทบของเย็น บางครั้งอาจมีอาการปวดได้
และถ้าเรายังปล่อยทิ้งไว้จนฟันผุลุกลามไปถึงขั้นโพรงประสาทฟัน ซึ่งมีเส้นเลือดและเส้นประสาท จะทำให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้น อาจถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับก็มี บางครั้ง แม้จะใช้ยาแก้ปวดก็ยังไม่อาจทุเลาอาการปวดได้ และถ้าลุกลามมากอาจทำให้รากฟันอักเสบและเป็นหนอง เหงือกบวม หรือแก้มบวมได้ ซึ่งระยะนี้ไม่สามารถอุดฟันด้วยวิธีปกติทั่วไปได้ ต้องรักษาคลองรากฟัน ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เวลารักษานาน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย บางครั้งอาจต้องสูญเสียฟัน เนื่องจากอาการผุลุกลามมาก ไม่สามารถเก็บรักษาฟันซี่นั้นไว้ได้ ซึ่งจะมีผลกระทบด้านการบดเคี้ยวจะมีประสิทธิภาพลดลง และต้องใช้ฟันปลอม
การดูแลและรักษาโรคฟันผุ
- ฟันผุในระยะเริ่มแรกที่มีสีขุ่นขาว เพียงทำให้ช่องปากได้รับฟลูออไรด์สม่ำเสมอทุกวัน เช่น แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เป็นประจำ ก็สามารถทำให้การผุนี้กลับคือสู่สภาพปกติได้
- ในฟันที่ชั้นเคลือบฟันมีการเปลี่ยนเป็นสีดำ แต่ยังไม่เป็นรูนั้น การแปรงฟันให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ สามารถยับยั้งการผุไม่ให้เป็นรูผุได้ และคอยตรวจเพื่อดูว่ามีการลุกลามของฟันผุเพิ่มขึ้นหรือไม่
- หากการผุลุกลามจนเป็นรู แต่ไม่ลุกลามถึงโพรงประสาทฟัน รักษาได้ด้วยการอุดฟัน
- การผุที่ลุกลามถึงโพรงประสาทฟัน ต้องคำนึงถึงเนื้อฟันที่มีเหลือ หากมีพอเพียงที่จะบูรณะได้ก็จะรักษาโพรงประสาทฟัน และบูรณะฟันให้อยู่ในสภาพเดิมโดยการอุดฟันหรือครอบฟัน
- หากเนื้อฟันมีเหลืออยู่น้อยเกินไป ต้องรักษาโดยการถอนฟัน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเศษอาหาร และเชื้อโรค อันจะก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ลุกลามไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้
- กรณีที่วัสดุอุดฟันแตก ควรรีบรับการอุดฟันใหม่ เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุ
การป้องกันฟันผุ
ฟันผุ เป็นอาการที่ไม่สามารถรักษาหรือป้องกันได้โดยวิธีการกินยา เมื่อมีฟันผุก็ต้องรักษาด้วยการอุดฟัน หรือถอนฟันเท่านั้น ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุ เรามีวิธีปฏิบัติได้ด้วยตนเองอย่างง่าย ๆ ดังนี้
1. รักษาสุขภาพอนามัยช่องปากให้สะอาดด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน ควรแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์หลังรับประทานอาหารเสร็จทุกครั้ง หรือถ้าทำได้ไม่สะดวก ก็ใช้วิธีบ้วนน้ำแรง ๆ หลาย ๆ ครั้ง
2. รับประทานอาหารที่ดี และมีประโยชน์ต่อฟัน เช่น อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล หรือขนมหวาน โดยเฉพาะแบบที่เหนียวติดฟัน ซึ่งเป็นอาหารที่ส่งเสริมให้ฟันผุได้ง่าย
3. ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันทุก ๆ 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละครั้ง
4. ใช้ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ และทำให้ฟันแข็งแรง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ร่วมกับการรับประทานยาน้ำฟลูออไรด์ ยาเม็ดฟลูออไรด์ (ในเด็ก) การอมน้ำยาฟลูออไรด์ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
[embed-health-tool-bmi]