หลายคนอาจส่งสัยว่า โรคผิวหนังมีอะไรบ้าง ซึ่งโรคผิวหนังเป็นโรคที่เกิดจากการหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อรา รวมถึงอาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งแต่ละสาเหตุนั้นมีวิธีการรักษาแตกต่างกันออกไป ดังนั้น หากสังเกตว่ามีผื่นหรือตุ่มขึ้นบนผิวหนัง มีอาการคัน ผิวแห้ง ผิวบวม ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุให้ชัดเจน เพื่อดำเนินการรักษาอย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงผิวหนังเสียหายและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ
[embed-health-tool-bmi]
โรคผิวหนัง คืออะไร
โรคผิวหนัง คือ โรคที่ส่งผลให้เกิดผื่น ตุ่มหนอง ตุ่มแดง ตุ่มน้ำ มีอาการคัน ผิวบวม สามารถเกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่บนผิวหนังของร่างกายหรืออาจเป็นเฉพาะบางจุด นอกจากนี้บางคนอาจมีไข้ อาเจียนคลื่นไส้ร่วมด้วยในกรณีที่ติดเชื้อรุนแรง
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอาจอแตกต่างกันออกไป เช่น การติดเชื้อจากแบคทีเรีย การติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อรา อาการแพ้ต่อสารระคายเคืองต่าง ๆ ยกตัวอย่าง ขนสัตว์เลี้ยง น้ำหอม ละอองเกสร อาหารที่รับประทาน สารเคมี สบู่ โลชั่น ครีม เป็นต้น
โรคผิวหนังมีอะไรบ้าง ที่พบบ่อย
โรคผิวหนังที่พบบ่อย มีดังนี้
1.โรคกลาก
โรคกลากเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) ที่เป็นแบคทีเรียธรรมชาติที่อยู่บนผิวเจริญเติบโตมากเกินไป จากปัจจัยบางอย่างกระตุ้น เช่น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สภาพอากาศร้อนชื้น การสวมเสื้อผ้ารัดแน่น การอยู่ใกล้ชิดกับคนหรือสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อ การใช้ผ้าขนหนูและเสื้อผ้าร่วมกับผู้อื่น
อาการของโรคกลาก มีดังนี้
- อาการคัน
- ผิวหนังเป็นวงแดงเป็นสะเก็ดนูนรอบนอก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย เช่น ศีรษะ แขน ขา ลำตัว ก้น
การรักษาโรคกลาก
- โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เป็นยาต้านเชื้อราในรูปแบบครีม ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรทาได้รับผลกระทบวันละ 2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนดและควรทำความสะอาดผิวหนังและเช็ดให้แห้งก่อนทายา โคลไตรมาโซลอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทำให้รู้สึกผิวหนังมีอาการแสบร้อน มีตุ่มแดง ผิวลอกและบวม
- ไมโคนาโซล (Miconazole) เป็นยาต้านเชื้อราในรูปแบบครีม ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา โดยควรทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบวันละ 2 ครั้ง ยกเว้นบริเวณรอบดวงตา จมูก ปาก และช่องคลอด ไมโคนาโซลอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ ผิวบวม รู้สึกแสบร้อน มีตุ่มแดงขึ้น ผิวลอก และผื่นคัน
- เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) เป็นยาต้านเชื้อราในรูปแบบรับประทาน เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นกลากบนหนังศีรษะ หรือรักษาโรคติดเชื้อราที่เล็บ เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6-12 สัปดาห์ หรือตามที่คุณหมอกำหนด
2. โรคภูมิแพ้ผิวหนัง
โรคภูมิแพ้ผิวหนัง มีสาเหตุมาจากการแพ้สารระคายเคืองต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว สบู่ ไรฝุ่น ขนสัตว์ ละอองเกสรดอกไม้ มลพิษ สารเคมีที่ทำงาน ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำหอม หรืออาจเกิดจากการแพ้อาหารบางชนิด ที่ควรรักษาอย่างรวดเร็วลดความเสี่ยงจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลมพิษ ไข้ละอองฟาง การติดเชื้อรุนแรง ผิวหนังอักเสบ ที่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดอาการคันจนรบกวนการนอนหลับ
อาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง มีดังนี้
- อาการคัน
- ผิวแห้งแตก ผิวแห้งเป็นขุย
- ตุ่มนูนเล็ก ๆ
- ผื่นคัน
- ผิวหนังบวม
การรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
- ยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจแนะนำให้ทายาปฏิชีวนะในรูปแบบครีม หรือรูปแบบเม็ดรับประทานใน เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา กรณีที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย
- ยาบรรเทาอาการอักเสบ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เมโธเทรกเซท (Methotrexate) มีในรูปแบบรับประทาน เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ลดอาการบวม และอาจให้รับประทานระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงรุนแรง
- สารยับยั้งแคลซินิวริน เช่น พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) ทาโครลิมัส (Tacrolimus) ที่อาจช่วยกดภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดปฏิกิริยาตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อสิ่งแปลกปลอมที่นำไปสู่อาการแพ้แพ้เมื่อสัมผัสกับสารระคายเคือง ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดเพราะทำให้ผิวไวต่อแสง
- การทำแผลแบบเปียก (Wet dressings) เหมาะสำหรับผู้ที่มีผื่นบนผิวหนังและแผลอักเสบ มีของเหลวไหลออกมาจากแผล เช่น แผลหนอง ตุ่มใส โดยทำความสะอาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ แล้วใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือประคบแผลไว้ 10-20 นาที จากนั้นซับให้แห้ง ทายา แล้วพันด้วยผ้าพันแผล
- การบำบัดด้วยแสง คุณหมออาจฉายรังสียูวีเอและยูวีบีในบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยรักษารอยแผลจากผิวหนังอักเสบและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา อย่างไรก็ตามการฉายรังสีอาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง และผิวเสื่อมก่อนวัยอันควร และไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก
3.เกลื้อน
เกลื้อนเกิดจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ซึ่งเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนังเจริญเติบโตมากเกินไป โดยมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น ดังนี้
- สภาพอากาศร้อนชื้น เพราะทำให้ร่างกายขับเหงื่อมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการอับชื้นและกระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโตนำไปสู่การเกิดเกลื้อน
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อและต้านการติดเชื้อราได้จึงส่งผลให้เชื้อราเจริญเติบโตนำไปสู่การเกิดเกลื้อน
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำมันบนผิวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อราที่นำไปสู่การเกิดเกลื้อน
อาการของเกลื้อน อาจสังเกตได้ดังนี้
- อาการคัน
- ผิวหนังที่ติดเชื้อเปลี่ยนเป็นสีเข้มและเป็นวงเล็ก ๆ เป็นกลุ่ม ๆ ซึ่งอาจรวมกันเป็นปื้นใหญ่ หน้าอก คอ แขน
- จุดเล็ก ๆ สีขาว สีแดง สีชมพู หรือสีน้ำตาลบนผิวหนัง ขนาดเล็กหรือเป็นปื้นใหญ่ ร่วมกับมีขุยละเอียดบาง ๆ
การรักษาเกลื้อน
- คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เป็นยาต้านเชื้อราในรูปแบบครีมทาผิวหนัง ใช้เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา ที่ควรทาวันละ 2 ครั้ง หรือตามดุลพินิจของคุณหมอ ก่อนทายานี้ควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบแล้วเช็ดให้แห้ง
- ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) เป็นยาที่มีในรูปแบบแชมพูและโลชั่น ใช้เพื่อรักษาเกลื้อนและกลาก โดยใช้ทาหรือฟอกบริเวณที่เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ 10 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ยานี้ไม่ควรใช้บริเวณใบหน้าและอวัยวะเพศ
- ไมโคนาโซล (Miconazole) เป็นยาที่มีในรูปแบบสเปรย์ ครีม แป้ง และยาทิงเจอร์ ใช้เพื่อช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรทาลงบนผิวหนังที่ได้รับผลกระทบวันละ 2 ครั้ง บางคนอาจมีอาการดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ หลังจากใช้ยานี้
- ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) เป็นยาในรูปแบบรับประทาน ที่ควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอแนะนำ เพื่อช่วยรักษาการติดเชื้อราด้วยการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา
4.โรคผิวหนังติดเชื้อราแคนดิดา (Candida)
โรคติดเชื้อราแคนดิดา เกิดจากเชื้อราแคนดิดาที่อาศัยอยู่บนผิวหนังชั้นนอกเจริญเติบโตมากเกินไป โดยเฉพาะบริเวณผิวที่มีความอับชื้น เช่น เล็บ ช่องคลอด ก้น ขาหนีบ หนังศีรษะ รักแร้ และหลัง โดยมีปัจจัยจากสภาพอากาศร้อน เหงื่อออกในร่มผ้ามาก ซับน้ำหลังการทำความสะอาดอวัยวะเพศไม่แห้งสนิท กางสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่น เลือกกางเกงชั้นในที่มีการระบายอากาศได้ไม่ดี เป็นต้น
อาการของโรคผิวหนังติดเชื้อราแคนดิดา
- ผื่นแดงขึ้นบนผิวหนังและตามรอยพับ เช่น อวัยวะเพศ ลำตัว ก้น ใต้ราวนม ข้อพับแขนและขา
- ตุ่มเล็ก ๆ คล้ายสิวและอาจมีหนอง กระจายรอบ ๆ ผื่นใหญ่
- อาการคันอย่างรุนแรง
- แผลพุพอง
การรักษาโรคผิวหนังติดเชื้อราแคนดิดา
- ไมโคนาโซล (Miconazole) เป็นยาทาเฉพาะที่ที่มีในรูปแบบสเปรย์ ครีม แป้งและทิงเจอร์ ใช้เพื่อช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรทาลงบนผิวหนังที่ได้รับผลกระทบวันละ 2 ครั้ง
- โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เป็นยาในรูปแบบครีม โดยควรทาบริเวณที่เป็นผื่นวันละ 1-2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอแนะนำ เพื่อช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา
5.โรคงูสวัด
โรคงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella-zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวดันที่ทำให้เกิดอีสุกอีใสและจะอยู่ภายในร่างกายตลอดชีวิต พบได้บ่อยในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ผ่านการสัมผัสกับแผลของงูสวัดบนผิวหนังของผู้ติดเชื้อโดยตรงหรือการใช้สิ่งของร่วมกัน โดยที่ผู้รับเชื้อจะต้องไม่เคยเป็นอีสุกอีใสและจะกลายเป็นผื่นอีสุกอีใสแทน
อาการของโรคงูสวัด มีดังนี้
- มีไข้สูง
- ปวดศีรษะ
- เหนื่อยล้าง่าย
- อาการคันผิวหนัง
- ผื่นแดง
- ตุ่มน้ำใส เมื่อตุ่มน้ำแตกออกจะเป็นแผลพุพอง มักเป็นข้างเดียวของลำตัว
- รู้สึกเจ็บปวดแผลและบริเวณรอบ ๆ อย่างรุนแรง
การรักษาโรคงูสวัด
ไม่มีวิธีกำจัดเชื้องูสวัดให้หายขาดจากร่างกาย แต่สามารถทำให้ผื่นหายได้ด้วยการรับประทานยาต้านไวรัส เช่น แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) และอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) เพื่อช่วยบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น สูญเสียการมองเห็น เป็นอัมพาตบนใบหน้าและสมองอักเสบ
นอกจากนี้ คุณหมออาจแนะนำให้ทายาในรูปแบบครีม เจล และใช้ผ้าพันแผลหรือแผ่นแปะ เพื่อช่วยรักษาแผล ผื่น และบรรเทาอาการคันผิว
วิธีป้องกัน โรคผิวหนังมีอะไรบ้าง
วิธีป้องกันโรคผิวหนัง อาจทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนู แก้วน้ำ ช้อนส้อม หวี เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา
- อาบน้ำเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก เช่น ออกกำลังกาย ฝึกซ้อมกีฬาเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและเหงื่อที่อาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา
- หลังอาบน้ำ ควรหมั่นทาครีมให้ผิวชุ่มชื้น โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศแห้ง หรือหนาว จะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นและหนาเกินไป โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้น เพราะอาจทำให้ร่างกายขับเหงื่อมากและอับชื้น ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา อีกทั้งควรเลือกเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย เพื่อช่วยให้ระบายอากาศได้ดี
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น น้ำหอม ขนสัตว์เลี้ยง น้ำยาปรับผ้านุ่ม โลหะ ฝุ่น รวมถึงการรับประทานอาหารที่ทำให้มีอาการแพ้
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจกระตุ้นให้ผิวมัน เช่น การออกกำลังกายกลางแจ้ง การตากแดดเป็นเวลานาน และควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว โลชั่น และครีมกันแดดที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพื่อป้องกันผิวมันมากและป้องกันรูขุมขนอุดตัน เพราะน้ำมันบนผิวเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตมากเกินไป
- สวมรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่คับแน่นเกินไปและทำความสะอาดรองเท้าเป็นประจำเพื่อลดการสะสมของเชื้อรา
- ควรสวมรองเท้าแตะหรือรองเท้ากันน้ำ เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องสัมผัสกับน้ำโดยตรง
- ตัดเล็บเท้าและเล็บให้สั้นเพื่อลดการสะสมของเชื้อรา เชื้อโรคในซอกเล็บ
- ฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด เพื่อลดการติดเชื้อจากไวรัส นำไปสู่การเกิดโรคผิวหนัง เช่น วัคซีนอีสุกอีใส วันซีนเอชพีวี