backup og meta

ดื่มแอลกอฮอล์ มากเกินไป ทำร้ายตับอย่างไรบ้าง

ดื่มแอลกอฮอล์ มากเกินไป ทำร้ายตับอย่างไรบ้าง

การ ดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องในโอกาสพิเศษ หรือบางครั้งก็ไม่ได้เกี่ยวกับโอกาสใด ๆ กลายเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในสังคมไทยไปเสียแล้ว แต่การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ สามารถก่อให้เกิดปัญหาได้ในหลายด้าน นอกจากจะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมแล้ว ยังสร้างความเสียหายต่อสุขภาพได้ด้วย โดยเฉพาะโรคตับ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นปัญหาสำคัญของโรคตับเลยก็ว่าได้

ร่างกายดูดซึมแอลกอฮอล์อย่างไร

เมื่อคุณดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางกระเพาะอาหารและเยื่อบุลำไส้อย่างรวดเร็ว เลือดทั้งหมดที่อยู่ในทางเดินอาหารจะถูกส่งผ่านไปยังตับก่อนกลับมาที่หัวใจ ด้วยเหตุนี้ ตับจึงต้องเจอกับแอลกอฮอล์ปริมาณมาก เซลล์ตับจะมีระบบเอนไซม์ช่วยแปรรูปและขนส่งแอลกอฮอล์ผ่านการทำปฏิกิริยาทางเคมี ซึ่งสุดท้ายจะได้คาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ที่ถูกปล่อยออกมาในปัสสาวะและเข้าสู่ปอด

แต่ความสามารถของตับนั้นมีจำกัด ในทุก ๆ ชั่วโมง ตับสามารถรับมือกับแอลกอฮอล์ได้ในปริมาณน้อยนิดเท่านั้น มีงานวิจัยเปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์ได้แนะนำจำนวนแอลกอฮอล์ที่เหมาะสมต่อบุคคลทั่วไป คือ ควรดื่ม 1-2 ยูนิตต่อวันเท่านั้น 1 ยูนิตในที่นี้เท่ากับแอลกอฮอล์ 40 ดีกรี ปริมาณ 25 มล. และแอลกอฮอล์ 20 ดีกรี ปริมาณ 50 มล.

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง และผู้ที่ดื่มสุรามากเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดโรคตามมาได้ เช่น โรคไขมันพอกตับ โรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง โรคทั้ง 3 ชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกัน หรือค่อย ๆ เกิดขึ้นได้

โรคเกี่ยวกับตับที่มีสาเหตุจากการ ดื่มแอลกอฮอล์ มีอะไรบ้าง

ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ เกิดขึ้นจากการสะสมไขมันในเซลล์ตับ ซึ่งเกิดขึ้นในผู้ที่มีพฤติกรรมดื่มหนัก สภาวะนี้สามารถดีขึ้นได้เมื่อผู้ป่วยหยุดดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในทางกลับกัน ถ้าผู้ป่วยยังดื่มต่อไป ก็อาจนำไปสู่การเป็นโรคตับอักเสบได้

โรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์

โรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Hepatitis) อาจแสดงอาการตั้งแต่ไม่รุนแรงถึงขั้นรุนแรงมาก เช่น มีไข้อ่อน ๆ ระบบทางความคิดผิดปกติ หรืออาจมีการตรวจพบเอนไซม์ตับที่ผิดปกติในกระแสเลือด ในบางกรณีก็นำไปสู่ภาวะเรื้อรัง ซึ่งทำให้เกิดการทำลายเซลล์ตับอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่โรคตับแข็งในที่สุด

อาการขั้นรุนแรงของโรคตับ ได้แก่ ความเหนื่อยล้า ภาวะดีซ่าน บางครั้งอาจรู้สึกเจ็บปวดที่ตับ

ส่วนโรคตับอักเสบเฉียบพลันนั้น จะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะตับวาย รวมถึงมีอาการตัวเหลือง การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ มีภาวะถดถอยทางสมอง มีอาการโคม่า หรือเลือดออกในทางเดินอาหาร และมีอัตราเสียชีวิตสูงมาก

โรคตับแข็ง

ตับแข็ง คือภาวะการเกิดพังผืดในตับ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป พังผืดเหล่านี้จะทำลายการทำงานของตับอย่างสิ้นเชิง ตัวโรคจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเนื้อเยื่อที่เกิดพังผืดจะส่งผลต่อโครงสร้างปกติของตับ รวมทั้งยังส่งผลต่อการสร้างเซลล์ตับใหม่ ๆ

พังผืดจะทำให้เซลล์ตับปกติได้รับความเสียหายและตายลง และเซลล์ที่มีพังผืดก็จะมาแทนที่ จนตับสูญเสียการทำงาน นอกจากนี้ เนื้อเยื่อที่มีพังผืดเหล่านี้ยังขัดขวางการไหลเวียนของเลือดมาสู่ตับด้วย

นานไป พังผืดเหล่านี้จะกลายเป็นแผลเป็นในตับซึ่งจะคงอยู่ถาวร ไม่สามารถแก้ไขได้ ในระยะแรก การสูญเสียเซลล์ตับไปอาจไม่ส่งผลต่อผู้ป่วยเท่าไหร่นัก ผู้ป่วยจึงไม่แสดงอาการผิดปกติอะไร แต่เมื่อเซลล์ตับถูกทำลายมากขึ้นเรื่อย ๆ แผลเป็นในตับจะเพิ่มมากขึ้น ตัวโรคก็จะเริ่มแสดงอาการ โดยมีอาการเดียวกับโรคตับอักเสบที่กล่าวถึงข้างต้น เพียงแต่จะแตกต่างเล็กน้อยตรงที่โรคตับแข็งจะดำเนินไปอย่างช้า ๆ

ในผู้ป่วยโรคตับแข็งเรื้อรังที่มีอาการหนัก จะมีภาวะหลอดเลือดตับอุดตันร่วมกับอาการท้องมาน (น้ำคั่งในช่องท้อง) สิ่งที่อันตรายที่สุดเกี่ยวกับโรคตับแข็ง ก็คือ โรคตับแข็งนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่โรคมะเร็งตับนั่นเอง

โรคตับแข็งสามารถเกิดขึ้นได้จากอีกหลายสาเหตุ เช่น จากไวรัส จากโรคทางพันธุกรรม จากการมีระบบเผาผลาญผิดปกติ แต่สาเหตุที่พบมากที่สุด คือ โรคพิษสุราเรื้อรังที่เป็นเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอัตราความเสี่ยงเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10 เลยทีเดียว

นอกจากอาการตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยังมีการตรวจที่ช่วยวินิจฉัยโรค เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาระดับของเอนไซม์ ALT และ ALP รวมถึงการตรวจจำนวนของอัลบูมิน การตรวจดูภาวะการมีบิลิรูบินมากเกินไป รวมถึงการทำอัลตร้าซาวด์เพื่อดูความเสียหายของตับ ตลอดจนการตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อตับมาวิเคราะห์ดูว่า อาการที่ผู้ป่วยเป็นนั้น จัดเป็นโครงสร้างของโรคตับแข็ง หรือเป็นโรคตับอักเสบชนิดทั่วไปกันแน่

การรักษาและการป้องกันโรคเกี่ยวกับตับ

สิ่งจำเป็นที่สุดคือต้องเลิกดื่มแอลกอฮอล์ จากนั้นผู้ป่วยจึงควบคุมอาหาร รับประทานวิตามิน และอาหารเสริมที่มีแร่ธาตุอย่างพอเพียงตามความเหมาะสม

สิ่งที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องทำคือ การลดการขับของเหลวออกจากร่างกาย ลดการใช้ยาขับปัสสาวะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการท้องมาน และเมื่อตับไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไปแล้ว วิธีการรักษาเดียวที่เหลืออยู่ ก็คือต้องปลูกถ่ายเปลี่ยนตับใหม่

การป้องกันที่ดีที่สุด คือ อย่าดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจนเจ็บป่วย ควรจำกัดปริมาณการดื่มอย่างเหมาะสม โดยปริมาณที่แนะนำสำหรับผู้ชาย คือ ไม่ควรดื่มเกินกว่า 4 ยูนิตต่อวัน และไม่เกิน 21 ยูนิตต่อสัปดาห์ ส่วนผู้หญิงนั้น ไม่ควรดื่มเกิน 3 ยูนิตต่อวัน และ 14 ยูนิตต่อสัปดาห์

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรดื่มสุราโดยเด็ดขาด แต่ในหญิงตั้งครรภ์ที่ยังคงต้องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ก็ไม่ควรดื่มมากเกินกว่า 1-2 ยูนิตต่อสัปดาห์ และไม่ควรปล่อยให้ตัวเองมีอาการมึนเมา

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Alcohol-related liver disease. http://www.nhs.uk/Conditions/Liver_disease_(alcoholic)/Pages/Introduction.aspx. Accessed on April 5, 2017.

Alcohol-Related Liver Disease. http://www.liverfoundation.org/abouttheliver/info/alcohol/. Accessed on April 5, 2017.

Alcohol-Related Liver Disease. https://www.healthline.com/health/alcoholism/liver-disease. Accessed on April 5, 2017.

Alcohol-Related Liver Disease. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/alcoholinduced-liver-disease. Accessed on April 5, 2017.

 

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/07/2020

เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคตับกับระดับคอเลสเตอรอล ความสัมพันธ์ที่คุณควรรู้ เพื่อดูแลตัวเองให้ถูกต้อง

ผู้ป่วยโรคตับอักเสบดื่มแอลกอฮอล์ ได้หรือเปล่านะ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา · แก้ไขล่าสุด 14/07/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา