backup og meta

อาหารเป็นพิษ อาการ และการดูแลตัวเองเบื้องต้น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/11/2022

    อาหารเป็นพิษ อาการ และการดูแลตัวเองเบื้องต้น

    อาหารเป็นพิษ เกิดจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสารเคมี เมื่อเกิดภาวะ อาหารเป็นพิษ อาการ ที่อาจพบ ได้แก่ ท้องร่วง ปวดท้อง ไข้ขึ้น และอ่อนเพลีย อย่างไรก็ตาม อาหารเป็นพิษอาจป้องกันได้ด้วยการล้างมือก่อนบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม บริโภคอาหารปรุงสุกหรืออุ่นร้อนทุกครั้ง และหลีกเลี่ยงการวางอาหารทิ้งไว้เป็นเวลานาน

    อาหารเป็นพิษคืออะไร

    อาหารเป็นพิษเป็นอาการป่วยที่เกิดจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนสารเคมี สารพิษ หรือเชื้อโรคต่าง ๆ อย่างเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา โดยการปนเปื้อนอาจเกิดขึ้นในกระบวนการเพาะปลูก การแปรรูป การผลิตอาหาร หรือแม้แต่การประกอบอาหาร หากผู้ประกอบอาหารไม่ล้างมือ ใช้ภาชนะที่ล้างไม่สะอาด หรือประกอบอาหารแบบผิดสุขลักษณะ

    ปกติแล้ว อาหารที่มักปนเปื้อนสารเคมีหรือเชื้อโรคได้ง่าย ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนม และน้ำดื่ม

    อาหารเป็นพิษ อาการ เป็นอย่างไร

    อาหารเป็นพิษ มีอาการดังต่อไปนี้

    • ปวดท้อง
    • ท้องร่วง
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ปวดเมื่อยร่างกาย
    • มีไข้ หนาวสั่น

    เมื่อเป็นแล้ว อาการอาหารเป็นพิษมักทุเลาลงภายใน 4-48 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม อาหารเป็นพิษเนื่องจากเชื้อไซโคลสโปรา (Cyclospora) หรือเชื้อลิสทีเรีย (Listeria) จะแสดงอาการนานกว่านั้น หรือประมาณ 1-2 สัปดาห์

    นอกจากนี้ ในบางกรณี อาหารเป็นพิษอาจนำไปสู่อาการป่วยระดับรุนแรงที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เช่น โรคข้ออักเสบเรื้อรัง ความเสียหายเกี่ยวกับสมองหรือเส้นประสาท การแท้งบุตร

    อาหารเป็นพิษ ดูแลตัวเองอย่างไร

    เมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษ อาจดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

    • ดื่มน้ำในปริมาณมาก เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปเมื่อท้องร่วง ควรดื่มน้ำเปล่า น้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาหารเป็นพิษไม่ควรบริโภคเครื่องดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไป เพราะคาเฟอีนและแอลกอฮอล์มีฤทธิ์เร่งการทำงานของลำไส้ และอาจทำให้ท้องร่วงรุนแรงกว่าเดิมได้
    • เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม เช่น กล้วย ข้าว ขนมปังปิ้ง ซึ่งย่อยง่ายและไม่รบกวนการทำงานของระบบย่อยอาหาร รวมถึงโยเกิร์ต ซึ่งมีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) หรือเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของอาการท้องร่วง งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องประสิทธิภาพของการรักษาอาการท้องร่วงแบบเฉียบพลันในเด็ก เผยแพร่ในวารสาร Translational Pediatrics ปี พ.ศ. 2564 นักวิจัยได้ศึกษางานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่เผยแพร่ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2563 และพบข้อสรุปว่า การบริโภคอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ช่วยให้อาการท้องร่วงหายเร็วขึ้น และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาอาการท้องร่วงหลังได้รับการรักษาไปแล้ว 2 วัน
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของลำไส้ เช่น นม ชีส ของทอด อาหารรสเผ็ด อาหารไขมันสูง อาหารน้ำตาลสูง รวมถึงผักอย่างมันฝรั่ง ดอกกะหล่ำ หรือถั่วลันเตา เนื่องจากมีใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำซึ่งมีคุณสมบัติเสมือนยาระบาย
    • รับประทานยา ซึ่งมีฤทธิ์รักษาบรรเทาอาการท้องเสียและสามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น บิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth Subsalicylate) หรือยาโลเพอราไมด์ (Loperamide)

    อาหารเป็นพิษ อาการ แบบไหนควรไปพบคุณหมอ

    หากพบว่า อาหารเป็นพิษ ควรไปพบคุณหมอเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้

    • อาเจียนหลายครั้ง
    • อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด
    • ท้องร่วงติดต่อกันนานเกิน 3 วัน
    • ปวดท้องอย่างรุนแรง
    • มีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส เมื่อวัดไข้ทางปาก
    • มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น กระหายน้ำ ปากแห้ง หมดแรง มึนงง ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย

    นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และผู้ที่บริโภคยาปรับภูมิอยู่ ควรไปพบคุณหมอหากมีอาการอาหารเป็นพิษ

    อาหารเป็นพิษ หลีกเลี่ยงได้อย่างไร

    ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำวิธีป้องกันร่างกายจากการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือสารพิษในอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษ ดังนี้

    • ล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร
    • แยกอาหารที่มักปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย ออกจากอาหารอื่น ๆ โดยวางให้เป็นสัดส่วนในตะกร้าหรือในตู้เย็น เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ไข่
    • ปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง เพื่อกำจัดเชื้อโรคในอาหาร
    • ไม่วางอาหารทิ้งไว้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะในบริเวณที่ร้อนหรือในวันที่อากาศร้อน ทั้งนี้ อาหารที่เน่าเสียง่ายควรรีบเก็บเข้าตู้เย็นเมื่อไม่รับประทานแล้วภายใน 2 ชั่วโมง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา