backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ไข้หวัด คืออะไร อาการ สาเหตุ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 22/02/2023

ไข้หวัด คืออะไร อาการ สาเหตุ และการรักษา

ไข้หวัด (Common cold) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดมีหลายชนิด โดยไข้หวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาวหรือฤดูฝน เนื่องจากอากาศที่แห้งและเย็นช่วยสร้างสภาพที่เหมาะสมต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ซึ่งอาการของไข้หวัดมักเริ่มขึ้นด้วยอาการคอแห้ง น้ำมูกไหล และไอ รวมทั้งอาการเจ็บคอ ปวดศีรษะ ความอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ หรืออาจมีไข้เล็กน้อย ดังนั้น การพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาจช่วยสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดได้

คำจำกัดความ

ไข้หวัด คืออะไร

ไข้หวัด คือ อาการติดเชื้อไวรัสที่บริเวณจมูกและลำคอ (ช่องทางเดินหายใจส่วนบน) สามารถเกิดได้จากไวรัสหลายชนิด โรคนี้ไม่ค่อยเป็นอันตราย แม้อาการอาจจะทำให้รู้สึกไม่สบายมากก็ตาม

ไข้หวัดพบได้บ่อยได้แค่ไหน

ไข้หวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี จะมีความเสี่ยงในการเป็นไข้หวัดได้มากกว่า แต่ผู้ใหญ่ที่สุขภาพดีก็สามารถเป็นไข้หวัดได้ 2-3 ครั้ง/ปี อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถจัดการได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของไข้หวัด

อาการทั่วไปของไข้หวัด อาจมีดังนี้

  • น้ำมูกไหลและจมูกอุดตัน
  • เจ็บคอ
  • ไอ
  • จาม
  • เลือดคั่ง
  • ปวดตัว หรือปวดศีรษะในระดับเบา
  • เป็นไข้ต่ำ
  • รู้สึกไม่สบาย

น้ำมูกในจมูกอาจจะข้นขึ้น และเป็นสีเหลืองหรือสีเขียวในขณะที่เป็นไข้หวัด แต่ไม่ใช่ตัวบ่งชี้ถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

ควรเข้าพบคุณหมอทันที หากมีอาการดังต่อไปนี้

สำหรับผู้ใหญ่

  • มีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
  • มีไข้นานเกินกว่า 5 วัน
  • อาการไข้ที่หายไปแล้ว กำเริบอีกครั้ง
  • หายใจไม่ทั่วท้อง
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • เจ็บคอ ปวดศีรษะ หรือปวดไซนัสอย่างรุนแรง

สำหรับเด็ก

  • มีไข้ 38 องศาเซียลเซียส สำหรับเด็กแรกเกิดไปจนถึง 12 สัปดาห์
  • มีไข้เพิ่มสูงขึ้น และเป็นไข้นานกว่า 2 วัน สำหรับเด็กในทุกๆ ช่วงอายุ
  • มีอาการแย่ลง หรืออาการไม่ดีขึ้น
  • มีอาการรุนแรง เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ไอรุนแรง
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • ปวดหู
  • กระสับกระส่ายอย่างหนัก
  • มีอาการง่วงซึมอย่างผิดปกติ
  • เบื่ออาหาร

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของแต่ละบุคคล

สาเหตุ

สาเหตุของไข้หวัด

มีไวรัสหลายชนิดที่สามารถทำให้เกิดไข้หวัด แต่ไข้หวัดที่พบส่วนมากจะเกิดจากการติดเชื้อไรโนไวรัส (Rhinoviruses)

ไข้หวัดเป็นโรคติดต่อ โดยไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางปาก ดวงตา หรือจมูก เชื้อโรคนั้นจะอยู่ในอากาศและแพร่กระจายเมื่อมีคนไอ จาม หรือพูด

นอกจากนี้ ไวรัสยังสามารถแพร่กระจายได้ผ่านทางการสัมผัสผู้ที่เป็นไข้หวัด หรือมีการแบ่งปันสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เมื่อสัมผัสที่บริเวณดวงตา จมูก หรือปาก หลังจากสัมผัสกับเชื้อแล้วก็อาจทำให้เป็นไข้หวัดได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของไข้หวัด

ปัจจัยเสี่ยงของไข้หวัดอาจมีสาเหตุ ดังนี้

  • อายุ เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี จะมีความเสี่ยงในการเกิดไข้หวัดสูงมาก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในศูนย์ดูแลเด็ก
  • ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอ การมีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เนื่องจากโรคเรื้อรังหรืออาการอื่น ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงได้
  • ช่วงเวลาของปี ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะมีโอกาสเป็นไข้หวัดได้มากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดสามารถเป็นได้ทุกเวลา
  • สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นไข้หวัดขั้นรุนแรงสูงขึ้น
  • การสัมผัสกับเชื้อโรค หากต้องอยู่กับคนจำนวนมากก็อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อไวรัสไข้หวัดมากขึ้น

การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยไข้หวัด

ไข้หวัดส่วนใหญ่อาจวินิจฉัยได้ด้วยสัญญาณและอาการ อย่างไรก็ตาม หากคุณหมอสงสัยว่าอาจติดเชื้อแบคทีเรียหรือมีอาการอื่น ๆ คุณหมออาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจสอบวิธีอื่น ๆ เพื่อยืนยันอาการ

การรักษาไข้หวัด

ยังไม่มีวิธีรักษาสำหรับไข้หวัดโดยเฉพาะ การรักษาจะทำเพื่อบรรเทาสัญญาณและอาการของโรค ดังนี้

การบรรเทาอาการปวด

สำหรับไข้ เจ็บคอ และปวดศีรษะ คนส่วนใหญ่จะใช้ยาอะเซตามีโนเฟน เช่น ไทลินอล หรือใช้ยาบรรเทาปวดแบบเบาอื่น ๆ การใช้ยาอะเซตามีโนเฟน ควรใช้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ และใช้ด้วยความระมัดระวังในเด็กและวัยรุ่น

เด็กและวัยรุ่นที่กำลังฟื้นฟูจากโรคอีสุกอีใส หรืออาการที่เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เนื่องจากแอสไพรินมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการเรย์ (Reye’s syndrome) ในเด็ก ซึ่งเป็นโรคหายากแต่อันตรายถึงชีวิต ควรพิจารณาให้เด็กใช้ยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา ซึ่งเป็นยาสำหรับทารกหรือเด็กโดยเฉพาะ เช่น อะเซตามีโนเฟน ไอบูโพรเฟน

ยาพ่นแก้คัดจมูก

ผู้ใหญ่สามารถใช้ยาหยอด หรือยาพ่นแก้คัดจมูก ได้เป็นเวลาสูงสุด 5 วัน การใช้ยานี้ในระยะยาวสามารถทำให้เกิดการกลับมาเป็นซ้ำที่หนักกว่าเดิมได้ เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ไม่ควรใช้หยอดหรือยาพ่นแก้คัดจมูก

ยาไซรัปแก้ไอ

องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา และสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา ได้คัดค้านการใช้ยาแก้ไอแก้หวัดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี และยังไม่มีหลักฐานที่ดีว่า การเยียวยาด้วยตัวเองแบบนี้จะมีประโยชน์และปลอดภัยสำหรับเด็ก

หากใช้ยาแก้ไอหรือยาแก้หวัดกับเด็กโต ควรทำตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด อย่าใช้ยา 2 ชนิดที่มีส่วนประกอบสำคัญเหมือนกันในเวลาเดียวกัน เช่น ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) ยาแก้คัดจมูก และยาบรรเทาอาการปวด ส่วนประกอบชนิดเดียวที่มากเกินไป อาจทำให้ได้รับยาเกินขนาดได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาใด ๆ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยจัดการกับไข้หวัด

การปรับไลฟ์สไตล์บางประการอาจช่วยให้รับมือกับไข้หวัดได้ ดังนี้

  • ล้างมือเป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อของไวรัส
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีสารอาหารสูง เช่น ผักและผลไม้ที่มีสีเขียวเข้ม สีแดงหรือสีเหลือง และอย่าลืมรับประทานโปรตีนลีน ไขมันดี และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันอยู่ในสภาพที่ดี
  • งดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่จะลดความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับไข้หวัด
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกิดไปอาจทำให้มีโอกาสเป็นโรคแทรกซ้อนจากโรคหวัดได้

หากมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอเพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาเหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 22/02/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา