เส้นเอ็นฉีกขาด (Ruptured Tendon) หมายถึงอาการที่เส้นเอ็นส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือเส้นเอ็นทั้งเส้นฉีกขาดออกจากกัน อาจเกิดขึ้นจากการออกแรงมากเกินไป หรือเกิดการบาดเจ็บ
คำจำกัดความ
เส้นเอ็นฉีกขาด คืออะไร
เส้นเอ็นฉีกขาด (Ruptured Tendon) หมายถึงอาการที่เส้นเอ็นส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือเส้นเอ็นทั้งเส้นฉีกขาดออกจากกัน เส้นเอ็นนั้นคือเนื้อเยื่อเส้นใย ที่ยึดให้กล้ามเนื้อติดเข้ากับกระดูก โดยปกติแล้วเส้นเอ็นนั้นจะมีความแข็งแรงมาก และสามารถรับแรงได้มากถึง 5 เท่าของน้ำหนักตัว แต่หากเราออกแรงมากเกินไป หรือเกิดการบาดเจ็บ เช่น จากการเล่นกีฬา หรือการหกล้ม ก็อาจทำให้เส้นเอ็นเกิดการฉีกขาดได้ นอกจากนี้ การใช้ยาบางอย่าง หรือโรคบางชนิดก็อาจทำให้เกิดอาการเส้นเอ็นฉีกขาดได้เช่นกัน
บริเวณที่อาจเกิดอาการเส้นเอ็นขาดได้มากที่สุดคือ
- เส้นเอ็นต้นขาด้านหน้า (Quadriceps)
- เอ็นร้อยหวาย (Achilles)
- เส้นเอ็นไหล่ (Rotator cuff)
- เส้นเอ็นไบเซ็ปส์ (Biceps)
เส้นเอ็นฉีกขาด พบบ่อยแค่ไหน
อาการเส้นเอ็นฉีกขาดนั้นพบได้ไม่ค่อยบ่อยเท่าไหร่นัก โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะพบอาการเส้นเอ็นฉีกขาดได้ในผู้สูงอายุ กับผู้ที่มีปัญหาเส้นเอ็นอ่อนแอจากปัจจัยต่างๆ อาการนี้หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ในภายหลัง
อาการ
อาการของเส้นเอ็นฉีกขาด
อาการที่อาจเป็นสัญญาณของเส้นเอ็นฉีกขาดมีดังต่อไปนี้
- รู้สึก หรือได้ยินเสียงฉีกขาดดังเปรี๊ยะ
- รู้สึกปวดอย่างรุนแรง
- มีรอยช้ำอย่างรวดเร็ว
- อ่อนแรง
- ไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนหรือขาข้างที่มีอาการเส้นเอ้นฉีกได้
- ไม่สามารถขยับบริเวณที่มีอาการเส้นเอ็นฉีกได้
- บริเวณที่มีอาการเส้นเอ็นฉีกขาดผิดรูป
- หากเกิดอาการเส้นเอ็นร้อยหวายฉีกขาด อาจทำให้คุณไม่สามารถยืนเขย่งบนปลายนิ้วเท้าได้
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
อาการเส้นเอ็นฉีกขาดนี้หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา อาจกลายไปเป็นปัญหาสำคัญ ดังนั้นจึงควรรีบติดต่อแพทย์ในทันที หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้
- หากคุณมีอาการปวดอย่างรุนแรงในบริเวณที่บาดเจ็บ และไม่ดีขึ้นแม้ว่าจะรับประทานยาแก้ปวดแล้ว
- หากแขนหรือขารู้สึกบวม ช้ำ และปวดอย่างรุนแรง
- หากคุณหายใจไม่ออก หน้ามืด
- หากคุณรู้สึกหรือได้ยินเสียงดังเปรี๊ยะ เหมือนกล้ามเนื้อฉีก
- หากแขนขามีลักษณะผิดรูป
สาเหตุ
สาเหตุของเส้นเอ็นฉีกขาด
สาเหตุโดยทั่วไปของอาการเส้นเอ็นฉีกขาดคือ
- อาการบาดเจ็บโดยตรง เช่น ที่เข่า ที่ข้อเท้า หรือที่ไหล่
- อายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้การไหลเวียนของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นลดลง ทำให้เส้นเอ็นอ่อนแอลง
- การยกของหนัก
- การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในเส้นเอ็น
- การใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด
โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของเส้นเอ็นฉีกขาด
ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เส้นเอ็นฉีกขาดมีดังต่อไปนี้
- อายุ ผู้สูงอายุมักจะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเกิดอาการนี้
- เพศ อาการเส้นเอ็นฉีกขาด อย่างเอ็นร้อยหวายฉีกขาด จะพบได้มากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
- กีฬา การเล่นกีฬาบางชนิด อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเส้นเอ็นฉีกขาดมากขึ้น โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องวิ่ง กระโดด และหยุดในเวลากะทันหัน เช่น เทนนิส บาสเก็ตบอล หรือฟุตบอล
- ยา การใช้ยาบางอย่าง เช่น ยาเสตียรดอยด์ หรือยาปฏิชีวนะ
- โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเส้นเอ็นมากยิ่งขึ้น
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยเอ็นฉีกขาด
แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายคร่าวๆ เพื่อดูว่าอาการบาดเจ็บของคุณเป็นอย่างไร คุณสามารถขยับตัวได้มากแค่ไหน นอกจากนี้ก็อาจจะตามด้วยการตรวจดังต่อไปนี้
- การเอกซเรย์ เพื่อดูว่าเส้นเอ็นนั้นฉีกขาดออกจากกระดูกเลยหรือไม่
- การแสกนเอ็มอาร์ไอ เพื่อแสดงให้เห็นภาพว่าเส้นเอ็นนั้นบาดเจ็บมากแค่ไหน
- การอัลตราซาวน์ โดยใช้คลื่นเสียงแสกนเพื่อฉายภาพภายในกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เพื่อดูว่าเส้นเอ็นฉีกขาดมากแค่ไหน
การรักษาเส้นเอ็นฉีกขาด
การรักษาอาการเส้นเอ็นฉีกขาดนั้นจะขึ้นอยู่กับ บริเวณที่เส้นเอ็นฉีก และความรุนแรงของอาการ โดอาจรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) หรือยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาในกลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาอาการบวม อาการปวด และช่วยลดไข้
- ยาพาราเซตามอล หรือยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อช่วยลดอาการปวด โดยไม่จำเป็นต้องรอแพทย์สั่งยา
- ยาสเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ และช่วยฟื้นฟูอาการเส้นเอ็นฉีกขาดบางส่วน
- อุปกรณ์ช่วยค้ำ เช่น ใส่เฝือก ใส่ไม้ค้ำ เพื่อช่วยพยุงอวัยวะ จำกัดการเคลื่อนไหว และช่วยปกป้องเส้นเอ็นไม่ให้เจอกับแรงกระแทกที่รุนแรง
- กายภาพบำบัด แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำกายภาพบำบัด เมื่ออาการปวดและอาการบวมลดลงแล้ว
- การผ่าตัด ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดเพื่อช่วยต่อเส้นเอ็นที่ขาดแล้วให้กลับมาติดกับกระดูกดังเดิม
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับอาการเส้นเอ็นฉีกขาด
- พักผ่อน พยายามอย่าเคลื่อนไหวมาก เพื่อรอเวลาให้อาการบาดเจ็บค่อยๆ ฟื้นฟูด้วยตัวเอง การฝืนขยับร่างกายมากเกินไป นอกจากจะทำให้เกิดอาการปวดแล้ว ยังอาจมีความเสี่ยงทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเกิดการอักเสบและฉีกขาดเพิ่มขึ้นอีกด้วย
- ประคบเย็น ประคบเย็นในบริเวณที่บาดเจ็บ ครั้งละ 15-20 นาที ทุกๆ 48 ชั่วโมง เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บ เสียหาย และช่วยลดอาการบวมกับอาการปวด
- ยกสูง หากเกิดอาการเส้นเอ็นฉีกขาด ในบริเวณที่ต่ำกว่าหัวใจ เช่น เส้นเอ็นร้อยหวายที่ข้อเท้า พยายามยกให้สูงขึ้นกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยลดอาการปวดและอาการบวมได้
หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
[embed-health-tool-bmi]