หากวันใดวันนึงคุณรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวของคุณมีความผิดปกติต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน วิ่ง ที่อาจทำให้ สูญเสียการทรงตัว หรืออ่อนแรงลง โปรดหยุดพักทำกิจกรรมทุกอย่างในทันที และมาร่วมศึกษาเกี่ยวกับอาการดังกล่าวได้ในบทความของ Hello คุณหมอ นี้ เพื่อทราบสาเหตุ รวมถึงการป้องกันตนเองเบื้องต้น ไปพร้อม ๆ กันค่ะ
สาเหตุหลัก ที่ทำให้เรา สูญเสียการทรงตัว
การสูญเสียการทรงตัว ถือว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยส่วนใหญ่มักเกิดมาจากสาเหตุหลักต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ (Vestibular neuritis)
ปัญหาสูญเสียการทรงตัว อาจเกิดจากการติดเชื้อของไวรัสที่เข้าไปทำลายเส้นประสาทส่วนหูชั้นใน จนคุณเสียสมดุลระหว่างเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวนี้อาจหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากคุณมีความกังวลถึงอันตรายอื่น ๆ เพิ่มเติม สามารถเข้าขอรับการรักษาจากแพทย์ได้ในทันทีโดยไม่ต้องรอ
2. โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign paroxysmal positional vertigo ; BPPV)
เมื่อมีการก่อตัวของผลึกแคลเซียม หรือหินปูนเข้าไปเกาะในส่วนของหูชั้นในที่หนาจนเกินไป บางครั้งก็อาจสามารถทำให้คุณเกิด ปัญหาสูญเสียการทรงตัว เสียสมดุลทางด้านการเคลื่อนไหว เวียนศีรษะ ภาวะนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากที่สุดในช่วงวัยผู้ใหญ่
3. โรคเมเนียส์ (Meniere’s disease)
หลายคนอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว ถึงโรคเมเนียส์ หรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ที่ส่งผลทำให้คุณมีอาการวิงเวียนศีรษะอย่างกะทันหันรุนแรง สูญเสียการทรงตัว และการได้ยิน โดยอาจสามารถเกิดขึ้นได้กับช่วงอายุตั้งแต่ 20-40 ปี
4. ยาบางชนิด
ยาบางชนิดที่คุณกำลังกินอาจมีผลข้างเคียงโดยตรงต่อหูชั้นใน ทำให้เกิดมึนงง ง่วงซึม จนสูญเสียการทรงตัว เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยาต้านความวิตกกังวล ยาระงับประสาท
นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีอีกหลากหลายปัจจัยที่อาจทำให้คุณสามารถเผชิญกับการสูญเสียการทรงตัวได้ โดยอาจขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางสุขภาพของแต่ละบุคคล ดังนั้น หากต้องการทราบสาเหตุที่แน่ชัดอาจขอเข้ารับการตรวจสอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ในโรงพยาบาลใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยคุณ
สัญญาณเตือนที่ได้รับ ก่อนสูญเสียการทรงตัว
อาการที่บ่งบอกว่าคุณกำลัง สูญเสียการทรงตัว นั่นคือ การที่คุณรู้สึกว่าพื้นที่ หรือสิ่งรอบ ๆ หมุนวน จนทำให้คุณเคลื่อนไหวยาก และหมดสติได้ อีกทั้งยังมีสัญญาณเตือนอื่น ๆ ร่วม เพื่อให้คุณเกิดการสังเกตตนเองได้ง่ายขึ้น ดังนี้
- วิงเวียนศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องร่วง
- มองเห็นภาพซ้อน
- อัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลง
- วิตกกังวล
- มีปัญหาในการเดิน หรือเดินเซ
- ระดับของความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง
- อ่อนเพลีย
- สายตาพร่ามัว
การรักษา และการป้องกันของ ปัญหาสูญเสียการทรงตัว
ในการรักษาภาวะนี้ อาจขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์อาจใช้เทคนิคการรักษาโดยการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อลดอาการติดเชื้อแบคทีเรียในชั้นหู และลดอาการวิงเวียนศีรษะ
แต่ในสำหรับกรณีที่ผู้ป่วยประสบกับโรคเมเนียส์ แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดยา หรือผ่าตัด เพื่อเสริมสร้างความสมดุลในแรงดันหูไม่ให้เกิดเสียการทรงตัว นอกจากนี้คุณควรปฏิบัติตามคำสั่งของของแพทย์อย่างเคร่งครัด ด้วยการงดสูบบุหรี่ จำกัดคาเฟอีน ออกกำลังกาย ลดอาหารที่เค็มจัด งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน จึงจะช่วยป้องกันอีกขั้นไม่ให้คุณสูญเสียการทรงตัว จนเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ค่ะ
[embed-health-tool-bmi]