backup og meta

เป็นลม ล้มพับ อยู่ ๆ ก็หมดสติ เกิดจากอะไรได้บ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 6 วันก่อน

    เป็นลม ล้มพับ อยู่ ๆ ก็หมดสติ เกิดจากอะไรได้บ้าง

    อาการที่เรียกว่า เป็นลม ที่เราเคยเห็นกัน ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือว่าเคยเห็นในละคร เป็นอาการที่อยู่ ๆ ก็ หมดสติอย่างกะทันหัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เป็นลมก็แตกต่างกันออกไป บางคนก็เป็นลมเมื่ออยู่กลางแดด บางคนเป็นลมเมื่อเจอเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ วันนี้ Hello คุณหมอ จะชวนทุกคนไปรู้จักกับ อาการเป็นลม ว่าจริง ๆ แล้วเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง เมื่อเจอคนเป็นลมควรช่วยเหลืออย่างไรดี

    เข้าใจอาการที่เรียกว่า เป็นลม

    อาการเป็นลม เป็นอาการที่ หมดสติอย่างกะทันหัน ในช่วงเวลาหนึ่ง อย่างสั้น ๆ เนื่องจากสมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาจากปอด ระบบไหลเวียนเลือด หรือภาวะคาร์บอนมอนออกไซด์เป็นพิษ (Carbon Monoxide Poisoning) ส่วนใหญ่ก่อนที่จะเป็นลมมักจะมีอาการมึนงง วิงเวียน อ่อนเพลีย อ่อนแรง และรู้สึกคลื่นไส้ สำหรับบางคนอาจมีอาการที่เรียกว่า “วูบ” ซึ่งเป็นอาการที่เสียงรอบ ๆ ตัวค่อย ๆ เบาลงหรือดับไป ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เป็นลมมักจะฟื้นตัวภายในระยะเวลาภายในไม่กี่นาที หากไม่มีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย

    อาการเป็นลม เป็นกลไกหนึ่งของร่างกาย เมื่อระดับเลือดและออกซิเจนในสมองลดลง จนต่ำเกินไป ร่างกายจะทำการปิดตัวเองหรือชัตดาวน์ส่วนที่ไม่สำคัญของร่างกาย เพื่อให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญอื่น ๆ ในร่างกาย เมื่อสมองพบว่าระดับออกซิเจนต่ำลง การหายใจจะเร็วขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจก็จะเพิ่มขึ้น เพื่อให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิตในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากนั้นสมองจะได้รับเลือดพิเศษ การหายใจถี่หอบ (Hyperventilation) จะทำให้ความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ จนส่งผลให้หมดสติในระยะสั้น กล้ามเนื้ออ่อนแอลง และเป็นลม

    สาเหตุที่ทำให้ เป็นลม หมดสติอย่างกะทันหัน

    ในหลาย ๆ กรณีก็ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าสาเหตุของการเป็นลมนั้นเกิดขึ้นจากอะไร การเป็นลมนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

    • ความกลัว บาดแผลทางใจ (Emotional Trauma)
    • อาการปวดอย่างรุนแรง
    • ความดันโลหิตลดลงอย่างรุนแรง
    • น้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น จากโรคเบาหวาน
    • หายใจถี่หอบ หายใจเร็วเกินไป
    • ร่างกายขาดน้ำ
    • ยื่นอยู่ในท่าเดิม ๆ ตำแหน่งเดิมนานเกินไป
    • ลุก-นั่งขึ้นยืนเร็วเกินไป
    • ทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากเกินไปในสภาพอากาศที่ร้อน
    • อาการชัก
    • บริโภคแอลกอฮอล์หรือยามากเกินไป

    สำหรับผู้ที่มีอาการเป็นลม เมื่อหันศีรษะไปทางด้านใดด้านหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเซ็นเตอร์ในเส้นเลือดที่คอมีความไวเป็นพิเศษ ซึ่งความอ่อนไหวของเส้นเลือดนี้อาจทำให้เป็นลมได้ นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่าง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) หัวใจเต้นผิดปกติ ความวิตกกังวล และโรคปอดเรื้อรัง ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นลมได้ง่ายอีกด้วย

    ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ เป็นลม อย่างไรได้บ้าง

    สำหรับผู้ที่เป็นลม เนื่องจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การรักษาโรคเหล่านั้นให้ดีขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นลมอีกในอนาคต นอกจากนี้ การป้องกันไม่ให้เกิดอาการเป็นลมอีก ควรพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นทำให้เป็นลม เช่น ยืนนาน ๆ ร่างกายขาดน้ำ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด

    ทำอย่างไรเมื่อพบเจอคนเป็นลม หมดสติอย่างกะทันหัน

    เมื่อรู้สึกว่าตัวเองจะเป็นลมควรปฏิบัติตัว ดังนี้

    • หาที่ปลอดภัยนั่งพักหรือนอน
    • เมื่อนั่งให้วางศีรษะไว้ระหว่างเข่าทั้งสองข้าง
    • เมื่อต้องยืน ควรยืนขึ้นอย่างช้า ๆ

    สำหรับผู้ที่พบเจอคนที่เป็นลมหรือกำลังจะเป็นลม ควรช่วยเหลือและปฏิบัติดังนี้

    • จับเขานอนหงาย
    • หากยังหายใจอยู่ ให้จับขายกขึ้นสูงกว่าระดับหัวใจประมาณ 12 นิ้ว เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น
    • พยายามคลายเข็มขัด เนคไท และเสื้อผ้าที่รัดรูป เพื่อที่ผู้เป็นลมจะได้หายใจได้สะดวกและรู้สึกสบายตัว
    • หากผู้ที่เป็นลมมีสติสัมปชัญญะ อย่าปล่อยให้พวกเขาลุกขึ้นเร็วเกินไป
    • หากเขาหมดสตินานกว่าหนึ่งนาที ควรจัดให้อยู่ในท่าพักฟื้น (Recovery Position) ซึ่งท่านี้จะช่วยป้องกันลิ้นไปอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้เขาปลอดภัยและควรขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉินทันที

    เมื่อพบผู้ที่เป็นลมนั้นไม่หายใจ ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

    • ตรวจดูการหายใจ อาการไอ หรือการเคลื่อนไหวอื่น ๆ
    • ตรวจดูให้แน่ใจว่า ระบบทางเดินหายใจโล่ง
    • หากไม่มีสัญญาณของการหายใจ หรือการไหลเวียนโลหิต ให้เริ่มทำซีพีอาร์ CPR ในทันที และทำ CPR ต่อไปจนกว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์หรือบุคคลนั้นเริ่มหายใจได้เอง
    • ควรจัดให้เขาอยู่ในท่าพักฟื้น และอยู่กับพวกเขาจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง
    • หากบุคคลนั้นมีเลือดออกหลังจากหกล้ม ให้กดที่บาดแผลโดยตรง เพื่อห้ามเลือด

    การรักษาอาการเป็นลมเบื้องต้น ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ หากไม่มีโรคประจำตัว ที่เป็นสาเหตุของการเป็นลม ก็อาจจะไม่ต้องเข้ารับการรักษาอาการเป็นลมที่เกิดขึ้น เพียงแต่ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้ เป็นลม เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยง ในการเป็นลมได้มากขึ้นแล้ว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 6 วันก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา