backup og meta

ง่วงเกินทน ผล็อยหลับแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ คุณอาจเป็น โรคลมหลับ หรือภาวะง่วงเกิน

ง่วงเกินทน ผล็อยหลับแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ คุณอาจเป็น โรคลมหลับ หรือภาวะง่วงเกิน

โรคลมหลับ หรือภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy) คืออะไร

โรคลมหลับ หรือภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy) เป็นโรคทางระบบประสาทที่ส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมวงจรการนอนหลับและตื่นนอน ทำให้ผู้ป่วยควบคุมความอยากนอนกลางวันไม่ได้ และนอนกลางวันมากผิดปกติ แบบที่เรียกว่า หลับกลางอากาศ คือสามารถผล็อยหลับได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรอยู่ก็ตาม พอตื่นมาก็จะรู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า แต่เผลอแป๊บเดียวก็อาจผล็อยหลับไปอีกครั้ง

โรคลมหลับ เกิดจากสาเหตุใด

ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคลมหลับ หรือภาวะง่วงเกิน แต่พบว่าผู้ที่เป็นโรคลมหลับและภาวะคาทาเพล็กซี (Cataplexy) ซึ่งเป็นอาการหนึ่งโรคลมหลับ ส่วนใหญ่จะมีระดับของโปรตีนในสมองที่เรียกว่า ไฮโปคริติน (Hypocretin) ต่ำกว่าปกติ ซึ่งหน้าที่อย่างหนึ่งของไฮโปคริตินก็คือ การควบคุมวงจรการนอนหลับและตื่นนอนทำงานเป็นปกติ เมื่อในสมองมีสารนี้น้อยลง รอบการนอนก็เลยผิดปกติ โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การที่ไฮโปคริตินลดลงนั้นเป็นผลมาจากการกลายพันธุ์ของยีน และปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน

แต่นอกจากความผิดปกติของสารไฮโปคริตินในสมองแล้ว โรคลมหลับหรือภาวะง่วงเกินทนนี้ ก็อาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด การติดเชื้อ (เช่น ไข้หวัดหมู) การได้รับวัคซีนบางชนิด

สัญญาณและอาการของโรคลมหลับ

หากคุณมีอาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณว่าคุณเป็นโรคลมหลับ

  • นอนกลางวันมากผิดปกติ

ปัญหานอนกลางวันมากผิดปกติ เป็นสัญญาณแรกที่พบได้มากในผู้ที่เป็นโรคลมหลับ และปัญหานี้อาจทำให้คุณรู้สึกง่วงซึม ไม่ตื่นตัว และโฟกัสกับการทำงาน หรือกิจวัตรประจำวันได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

  • หลับแบบเฉียบพลัน

ผู้ป่วยจะมีอาการหลับเฉียบพลัน (Sleep attack) คือ ผล็อยหลับแบบไม่มีปีมีขลุ่ย หลับได้ทุกสถานการณ์ เช่น คุยกับเพื่อนอยู่ดีๆ เพื่อนหันมาเห็นอีกทีคุณก็หลับไปแล้ว บางครั้งอาจแค่ 2-3 นาที หรือบางทีก็เกินครึ่งชั่วโมง พอตื่นมาก็รู้สึกกระปรี้กระเปร่าได้สักพัก แล้วก็ผล็อยหลับไปอีก และหากไม่ได้รับการรักษา ก็อาจเกิดอาการนี้ได้วันละหลายครั้ง

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน

ผู้ที่เป็นโรคลมหลับจะมีภาวะที่เรียกว่าคาทาเพล็กซี คือ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบเฉียบพลัน หรือควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ชั่วคราว ซึ่งมักเกิดในขณะที่มีอารมณ์รุนแรง เช่น โกรธ ตกใจ ดีใจ หัวเราะ เครียดจัด หรือหลังจากเกิดอารมณ์เหล่านั้น อาการที่สังเกตได้ เช่น ขากรรไกรตก คอตก แขนตก เข่าอ่อน พูดตะกุกตะกัก เห็นภาพซ้อน โดยอาการอาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาที หรืออาจนานเป็นชั่วโมงก็ได้ และบางคนอาจมีอาการวันละหลายๆ ครั้ง ในขณะที่บางคนกลับมีอาการปีละแค่ไม่กี่ครั้ง

  • เห็นภาพหลอน

มีทั้งภาพหลอนช่วงเคลิ้มหลับ (Hypnagogic hallucination) และภาพหลอนช่วงใกล้ตื่นนอน (Hypnopompic hallucination) โดยภาพหลอนที่เกิดขึ้นอาจดูแจ่มจ้าหรือน่ากลัวมาก เช่น เห็นเป็นสัตว์ประหลาด เห็นสิ่งที่คุณกลัว เห็นอื่นคนอยู่ในห้อง และในบางครั้ง อาจได้ยินเสียงหลอนด้วย

  • มีภาวะผีอำ

โรคลมหลับมักทำให้ผู้ป่วยมีภาวะผีอำ (Sleep paralysis) คือ ขยับแขนขาไม่ได้ พูดไม่ได้ชั่วคราวในช่วงที่กำลังจะหลับหรือกำลังจะตื่นนอน หรือบางคนอาจรู้สึกหายใจไม่ออกด้วย โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นไม่กี่วินาทีไปจนถึงหลายนาที และถึงแม้จะไม่เป็นอันตราย แต่คนที่เกิดภาวะผีอำมักเห็นภาพหลอน หรือได้ยินเสียงหลอนด้วย เลยยิ่งตกใจกลัวมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการปวดศีรษะ มีปัญหาด้านความจำ ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ชอบฝันร้ายด้วย และอาการของโรคลมหลับบางอาการอาจรุนแรงขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วงเวลาหลายปี ในขณะที่บางอาการก็เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และรุนแรงขึ้นมากในเวลาแค่มีกี่สัปดาห์

โรคลมหลับ กับปัญหาที่อาจตามมา

ผู้ที่เป็นโรคลมหลับ หรือภาวะง่วงเกินอาจมีปัญหาในการนอนหลับอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)  และอาจแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมาโดยอัตโนมัติ ในขณะที่อาการของโรคลมหลับกำเริบได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผล็อยหลับไปในขณะที่กำลังเขียนหนังสือ พิมพ์งาน หรือขับรถ แต่กลับทำกิจกรรมเหล่านั้นต่อไปได้แม้จะหลับอยู่ และเมื่อตื่นขึ้นมา กลับจำไม่ได้ว่าตัวเองทำอะไรลงไป ซึ่งหลายๆ ครั้ง อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น หากเกิดขณะขับรถ หรือใช้เครื่องจักร นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคลมหลับยังเสี่ยงน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนได้ด้วย

โรคลมหลับ กับโรคนอนเกิน (Hypersomnia) ต่างกันยังไง

แม้อาการของโรคนอนเกิน (Hypersomnia) และโรคลมหลับจะดูคล้ายกัน แต่ทั้งสองโรคก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ผู้ที่เป็นโรคนอนเกินจะรู้สึกว่าตัวเองนอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ แม้จะเพิ่งนอนหลับไปหลายชั่วโมงก็ตาม ทั้งยังมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และเฉื่อยชาอยู่ตลอดเวลา แต่ความง่วงนอนที่เกิดขึ้น ก็ยังอยู่ในระดับที่สามารถต้านทานได้ ในขณะที่หากเป็นโรคลมหลับ ผู้ป่วยจะง่วงนอน และหลับแบบเฉียบพลัน โดยที่ตัวเองไม่สามารถต้านทานได้เลย อีกทั้งโรคลมหลับยังเป็นโรคที่พบได้ยากกว่า แต่ก็ถือว่ารุนแรงกว่าโรคนอนเกินด้วย

เป็นโรคลมหลับ รับมือยังไงดี

ตอนนี้ยังไม่มียารักษาโรคลมหลับโดยเฉพาะ และแพทย์ต้องรักษาตามอาการด้วยยาบางชนิด เช่น

  • ยากระตุ้น ที่ช่วยกระตุ้นประสาทส่วนกลาง ทำให้ตื่นตัว
  • ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclics Antidepressant)
  • ยาโซเดียมออกซีเบต (Sodium Oxybate) ช่วยรักษาภาวะคาทาเพล็กซี

นอกจากการใช้ยาแล้ว การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเหล่านี้ ก็ช่วยให้คุณรับมือกับโรคลมหลับได้ดีขึ้นเช่นกัน

  • นอนหลับและตื่นนอนให้เป็นเวลา ไม่ว่าจะเป็นวันธรรมดา หรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
  • งีบกลางวัน วันละ 20 นาที แล้วคุณจะง่วงนอนน้อยลง และตื่นตัวอยู่ได้หลายชั่วโมง
  • งดเครื่องดื่มแอลกออล์ และนิโคติน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน
  • ออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางเป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้คุณตื่นตัวในช่วงกลางวัน และนอนหลับในตอนกลางคืนได้ดีขึ้น แต่ควรออกกำลังกายก่อนเวลานอนอย่างน้อย 4-5 ชั่วโมง ไม่งั้นจะยิ่งทำให้นอนไม่หลับ

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Narcolepsy. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/narcolepsy/symptoms-causes/syc-20375497. Accessed January 6, 2020

Narcolepsy. https://www.webmd.com/sleep-disorders/guide/narcolepsy#1. Accessed January 6, 2020

Narcolepsy Fact Sheet. https://www.ninds.nih.gov/Disorders/Patient-Caregiver-Education/Fact-Sheets/Narcolepsy-Fact-Sheet. Accessed January 6, 2020

Narcolepsy. https://www.healthline.com/health/narcolepsy. Accessed January 6, 2020

Narcolepsy. https://www.nhs.uk/conditions/narcolepsy/. Accessed January 6, 2020

Hypersomnia vs. Narcolepsy. https://www.therecoveryvillage.com/mental-health/hypersomnia/related/hypersomnia-vs-narcolepsy/#gref. Accessed January 6, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

13/08/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

การวินิจฉัยพฤติกรรมการนอนหลับ การทดสอบสำหรับผู้มีปัญหาการนอนหลับ

เคล็ดลับน่ารู้ ท่านอน แต่ละท่า มีข้อดีข้อด้อยอย่างไรกัน?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 13/08/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา