backup og meta

เอ็นร้อยหวายฉีกขาด (Achilles Tendon Rupture)

เอ็นร้อยหวายฉีกขาด (Achilles Tendon Rupture)

เอ็นร้อยหวายเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกล้ามเนื้อน่องกับกระดูกส้นเท้า หากเอ็นร้อยหวายยืดเกินไปหรือหดตัวอย่างรวดเร็ว ก็อาจทำให้ เอ็นร้อยหวายฉีกขาด ได้

คำจำกัดความ

เอ็นร้อยหวายฉีกขาด คืออะไร

ภาวะเอ็นร้อยหวายฉีกขาดเป็นอาการบาดเจ็บของเอ็นร้อยหวาย ซึ่งเป็นเส้นเอ็นที่ใหญ่และหนาที่สุดในร่างกายที่อยู่เหนือส้นเท้า เชื่อมต่อส้นเท้ากับกล้ามเนื้อน่อง และส่งผลในการวิ่ง เดิน หรือกระโดด เมื่อเอ็นร้อยหวายยืดเกินขีดจำกัดหรือหดอย่างรวดเร็วก็สามารถส่งผลให้เอ็นร้อยหวายทั้งเส้นหรือบางส่วนฉีกขาดได้ เมื่อเอ็นร้อยหวายฉีกขาด คุณอาจได้ยินเสียงดัง “กึก” ตามด้วยอาการเจ็บแปลบที่บริเวณเหนือส้นเท้า ซึ่งส่งผลให้คุณเดินไม่ถนัดหรือขยับเท้าไม่ได้ คนส่วนใหญ่ที่เอ็นร้อยหวายฉีดขาดจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมเอ็นร้อยหวาย แต่ในบางกรณีก็สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด

เอ็นร้อยหวายฉีกขาด พบบ่อยแค่ไหน

ภาวะเอ็นร้อยหวายฉีกขาดนี้เป็นอาการบาดเจ็บที่สามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่พบมากกับผู้ที่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย แต่ภาวะนี้ก็สามารถจัดการได้ด้วยการลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของเอ็นร้อยหวายฉีกขาด

อาการของภาวะเอ็นร้อยหวายฉีกขาดที่พบได้ทั่วไป ได้แก่

  • อยู่ๆ ก็เจ็บแปลบ (เจ็บเหมือนโดนแทงหรือโดนเตะ) บริเวณเหนือส้นเท้า หรือที่น่อง ก่อนอาการจะลดลงเป็นปวดตื้อ ๆ (Dull Ache)
  • ได้ยินเสียง “กึก” จากบริเวณเหนือส้นเท้า
  • บริเวณเหนือส้นเท้าบวม
  • ยืนหรือเดินลำบาก โดยเฉพาะเวลาขึ้นลงเนินหรือบันได
  • งอข้อเท้าไม่ได้

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม ภาวะเอ็นร้อยหวายฉีกขาดถือเป็นเหตุฉุกเฉิน หากเกิดขึ้นควรเข้ารับการรักษาพยาบาลทันที และควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยหลักการ หลักการ R.I.C.E. คือ

  • R – Rest: พัก หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้เอ็นร้อยหวายยิ่งฉีกขาดหรือถูกทำลาย
  • I – Ice: ประคบน้ำแข็ง หรือประคบเย็น เพื่อลดอาการเจ็บปวด บวม ช้ำ
  • C – Compression: รัด หรือพันกระชับบริเวณเท้าและข้อเท้าเอาไว้ไม่ให้บวมมากขึ้น แต่อย่าพันหรือรัดแน่นเกินไปเพราะจะยิ่งทำให้บวมหนักกว่าเดิม
  • E – Elevation: ยก ข้อเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลลงได้สะดวก ช่วยลดอาการปวดบวม

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณคิดว่าเอ็นร้อยหวายฉีกขาด หรือขยับเท้าและข้อเท้าได้ลำบาก โปรดปรึกษาแพทย์ทันที เพราะภาวะเอ็นร้อยหวายฉีกขาดนี้ ยิ่งวินิจฉัยและรักษาช้า ก็จะยิ่งส่งผลเสียต่ออวัยวะ และอาจทำให้ความสามารถในการเคลื่อนไหวเท้าหรือข้อเท้าลดลง

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของเอ็นร้อยหวายฉีกขาด

เอ็นร้อยหวายฉีกขาดเกิดจากเอ็นร้อยหวายยืดตัวมากเกินไปหรือหดตัวกะทันหัน ซึ่งเป็นผลมาจากอุบัติเหตุ เช่น

  • ตกจากที่สูง
  • สะดุดล้ม
  • การเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่มีการกระโดด หรือการวิ่ง
  • อุบัติเหตุทางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือจักรยาน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของเอ็นร้อยหวายฉีกขาด

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะเอ็นร้อยหวายฉีกขาดนั้นมีอยู่หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณเป็นนักกีฬา หรือเล่นกีฬาประเภทที่ต้องมีการวิ่ง กระโดดหรือมีแรงกระแทกที่บริเวณเท้าและข้อเท้าสูง เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส

นอกจากนั้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้คุณเสี่ยงเอ็นร้อยหวายฉีกขาดได้ เช่น

  • มีอายุ 30 ปีขึ้นไป
  • เป็นผู้ชาย – ผู้ชายมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเอ็นร้อยหวายฉีกขาดสูงกว่าผู้หญิงถึง 5 เท่า
  • ได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์ – หากคุณได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อ หรือข้ออักเสบ ก็อาจทำให้เส้นเอ็นในบริเวณโดยรอบอ่อนแอลง จนส่งผลให้เอ็นร้อยหวายฉีกขาดง่ายได้
  • ใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด – ยาปฏิชีวนะในกลุ่มฟลูโอโรควิโนโลน (Fluoroquinolone antibiotics) เช่น ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเอ็นร้อยหวายฉีกขาดได้
  • มีภาวะสุขภาพบางประการ ประการ เช่น โรคเบาหวาน โรคของต่อมไทรอยด์ ภาวะไตวาย โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเกาต์ โรคเอสแอลอีหรือโรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus)
  • น้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน  – อาจทำให้เส้นเอ็นตึงเกร็งหรือเครียด จนฉีกขาดได้
  • คนในครอบครัวมีประวัติเอ็นร้อยหวายฉีกขาด

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยเอ็นร้อยหวายฉีกขาด

แพทย์จะสอบถามคุณเกี่ยวกับความรู้สึก อาการ บริเวณที่เกิดอาการ รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เอ็นร้อยหวายฉีกขาด และตรวจบริเวณเท้าและข้อเท้าเพื่อดูอาการบวม ช้ำ อาการกดเจ็บ หากเอ็นร้อยหวายฉีกขาดอย่างสมบูรณ์ เมื่อแพทย์คลำตรวจอาจพบช่องว่างหรือจุดที่เสียหายภายในเอ็นร้อยหวาย นอกจากนี้ แพทย์อาจลองให้คุณยกเท้า งอเท้า หรือขยับข้อเท้าดู หากคุณทำไม่ได้หรือทำได้ยาก นั่นอาจหมายความว่าเอ็นร้อยหวายฉีกขาด

การวินิจฉัยภาวะเอ็นร้อยหวายฉีกขาดในบางกรณี อาจต้องใช้การทดสอบดังต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • การเอกซเรย์
  • การอัลตร้าซาวด์
  • การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan)

การรักษาเอ็นร้อยหวายฉีกขาด

การรักษาภาวะเอ็นร้อยหวายฉีกขาดส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับอายุ ระดับความรุนแรงของอาการ และรูปแบบกิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวันของคุณ หากเป็นคนที่อายุยังน้อย หรือคนที่ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น นักกีฬา แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมเอ็นร้อยหวาย โดยเฉพาะเมื่อเอ็นร้อยหวายฉีกขาดแบบสมบูรณ์ แต่หากเป็นผู้สูงอายุ แพทย์มักรักษาด้วยวิธีอื่นที่ไม่ต้องผ่าตัด

วิธีรักษาเอ็นร้อยหวายฉีกขาดแบบไม่ต้องผ่าตัด

  • ใส่เฝือกเท้าและข้อเท้า หรือใส่รองเท้าเฝือก พร้อมใช้ไม้ค้ำยันรักแร้ เพื่อลดแรงกดทับ
  • ประคบด้วยน้ำแข็งเป็นระยะ เพื่อลดอาการบวมช้ำ
  • กินยาแก้ปวด

การรักษาภาวะเอ็นร้อยหวายฉีกขาดแบบไม่ต้องผ่าตัดมีข้อดีตรงที่ไม่เกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ผู้ป่วยเสี่ยงเกิดภาวะเอ็นร้อยหวายฉีกขาดซ้ำ และต้องใช้เวลารักษานานขึ้น

วิธีรักษาเอ็นร้อยหวายฉีกขาดด้วยการผ่าตัด

แพทย์จะผ่าตัดบริเวณเหนือส้นเท้าเพื่อเย็บเอ็นรอยหวายที่ฉีกขาดให้ติดกัน ในกรณีที่เอ็นร้อยหวายเสียหายรุนแรง แพทย์อาจต้องตัดเอ็นร้อยหวายในส่วนที่เสียหายออกแล้วแทนที่ด้วยเนื้อเยื่อหรือเส้นเอ็นจากบริเวณอื่นของเท้า

ข้อดีของการผ่าตัดรักษาเอ็นร้อยหวายอักเสบคือ มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ซ้ำต่ำกว่าการรักษาโดยไม่ผ่าตัด แต่ข้อเสียก็คือ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ใช้เวลารักษานานกว่า และเสี่ยงเกิดการติดเชื้อหรือเส้นประสาทถูกทำลายมากกว่า

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับเอ็นร้อยหวายอักเสบ

ไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยจัดการกับภาวะเอ็นร้อยหวายอักเสบได้

  • ยืดเหยียดและเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อน่องเป็นประจำ ช่วยให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นสามารถรองรับแรงกระแทกได้ดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บ
  • ออกกำลังกายให้หลากหลายรูปแบบ เช่น ออกกำลังกายแบบแรงกระแทกสูง (เช่น การวิ่ง) สลับกับออกกำลังกายแบบแรงกระแทกต่ำ (เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ) และพยายามเลี่ยงการวิ่งขึ้น-ลงเนิน หรือการกระโดด เพื่อไม่ให้เอ็นร้อยหวายตึงเครียดเกินไป
  • อย่าเพิ่มระดับความเข้มข้นของการออกกำลังกายกะทันหัน เช่น หากคุณอยากเปลี่ยนจากการเดินออกกำลังกายมาเป็นการวิ่ง ควรค่อยๆ ปรับจากเดิน ไปเป็นเดินเร็ว แล้วค่อยไปวิ่ง โดยระดับความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นต้องไม่เกิน 10% ต่อสัปดาห์
  • สวมรองเท้าที่พอดีกับขนาดเท้า และเหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำ เช่น หากต้องเดินเยอะ และพื้นขุรขระ ก็ไม่ควรสวมรองเท้าส้นสูง
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมกีฬาหรือกิจกรรมที่ใช่ร่างกายอย่างหนัก ถ้าคุณไม่อยู่ในสภาวะที่สามารถทำได้

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Achilles tendon rupture. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/achilles-tendon-rupture/symptoms-causes/syc-20353234. Accessed April 23, 2020

Achilles Tendon Rupture. https://www.medicinenet.com/achilles_tendon_rupture/article.htm. Accessed April 23, 2020

Achilles Tendon Rupture. https://www.foothealthfacts.org/conditions/achilles-tendon-rupture. Accessed April 23, 2020

Achilles Tendon Rupture. https://www.hopkinsmedicine.org/orthopaedic-surgery/specialty-areas/sports-medicine/conditions-we-treat/achilles-tendon-rupture.html. Accessed April 23, 2020

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/04/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

รองช้ำ สาเหตุ อาการ และการรักษา

เกมสนุกๆ เพื่อการ บริหารข้อเท้า ฝ่าเท้า ให้แข็งแรง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 30/04/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา