backup og meta

กล้วยน้ำว้า ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี · โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/09/2022

    กล้วยน้ำว้า ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

    กล้วยน้ำว้า คือ กล้วยสายพันธุ์หนึ่ง ที่มีลักษณะสั้นและอ้วน หากเป็นกล้วยน้ำว้าดิบจะมีเปลือกสีเขียว แต่ถ้าหากกล้วยสุกจะเปลี่ยนเป็นเปลือกสีเหลือง นิยมรับประทานแบบสด หรือนำมาประกอบอาหารต่าง ๆ เช่น ไอศกรีม สลัด นอกจากนี้ กล้วยน้ำว้ายังมีสารอาหารและวิตามินมากมาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี แมกนีเซียม ที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ปรับปรุงการทำงานของระบบทางเดินอาหาร และอาจช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลได้

    คุณค่าโภชนาการของกล้วยน้ำว้า

    กล้วยน้ำว้าขนาดกลาง 1 ลูก ให้พลังงานประมาณ 105 กิโลแคลอรี่ และสารอาหารอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

    • คาร์โบไฮเดรต 27 กรัม ประกอบด้วย น้ำตาล 14.4 กรัม ไฟเบอร์ 3.1 กรัม
    • โพแทสเซียม 422 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 31.9 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 26 มิลลิกรัม
    • วิตามินซี 10.3 มิลลิกรัม
    • เบต้าแคโรทีน 30.7 ไมโครกรัม
    • โฟเลต 23.6 ไมโครกรัม

    นอกจากนี้ กล้วยน้ำว้ายังมีวิตามินเอ วิตามินบี 6 ธาตุเหล็ก และแมงกานีส ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ช่วยบำรุงสายตา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและการทำงานของระบบประสาท

    ประโยชน์ของกล้วยน้ำว้า

    กล้วยน้ำว้ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของกล้วยน้ำว้าในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    • อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

    กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง มีส่วนช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจช่วยป้องกันน้ำตาลในเลือดพุ่งสูง และอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน

    ากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เผยแพร่ในวารสาร Indian Journal of Experimental Biology เมื่อปี พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคกล้วย โดยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงรับประทานกล้วยเป็นอาหารเช้าในปริมาณ 250-500 กรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์ และวัดระดับไขมันในเลือดและน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร ทุก ๆ 4 สัปดาห์ พบว่า การรับประทานกล้วยไม่ได้เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด แต่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ

  • อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

  • กล้วยน้ำว้ามีโพแทสเซียมสูง ที่อาจช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและการทำงานกล้ามเนื้อหัวใจให้เป็นปกติ และช่วยลดระดับความดันโลหิต ที่อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจลดลงได้

    จากการศึกษาชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคโพแทสเซียมกับโรคหัวใจและหลอดเลือด เผยแพร่ในวารสาร Journal of the American College of Cardiology เมื่อปี พ.ศ. 2554  โดยนักวิจัยได้ศึกษางานวิจัย 11 ชิ้น ที่มีผู้เข้าร่วมทั้งผู้ชายและผู้หญิงจำนวน 247,510 คน พบว่า การรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคหลอดเลือดสมองได้

    • อาจช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน

    กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่มีฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก ป้องกันกระดูกเสื่อมสภาพเมื่ออายุมากขึ้นที่อาจนำไปสู่โรคกระดูกพรุน

    จากการศึกษาชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคผักและผลไม้ในปริมาณที่มากขึ้นกับการเพิ่มขึ้นของความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูก และความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนที่ลดลงในวัยกลางคนและผู้สูงอายุชาวจีน เผยแพร่ในวารสาร PLoS One ปี พ.ศ. 2560 โดยนักวิจัยได้ทำการศึกษาผู้หญิงจำนวน 2,083 ราย และผู้ชาย 1,006 ราย ที่อยู่ในช่วงอายุ 40-75 ปี โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว เกี่ยวกับการบริโภคอาหาร รวมถึงตรวจความหนาแน่นของกระดูกสันหลัง สะโพก คอ และขา พบว่า การบริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้นอาจสัมพันธ์กับการลดลงของความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน อีกทั้งยังช่วยให้มีดัชนีมวลกายต่ำ ที่อาจช่วยป้องกันโรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ได้

  • อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง

  • กล้วยน้ำว้ามีวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยป้องกันเซลล์เสื่อมสภาพจากอนุมูลอิสระ จึงอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ยังมีสารประกอบทางพฤกษศาสตร์ เช่น กรดเฟรูลิก (Ferulic acid) โปรโตคาเทคไฮด์อัลดีไฮด์ (Protocatechualdehyde) กรดคลอโรจีนิค (Chlorogenic Acid) ที่อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้เช่นเดียวกัน

    งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพในการป้องกันและรักษามะเร็งของกล้วย ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Oncology ปี พ.ศ. 2564 โดยรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลต่าง ๆ เช่น PubMed, ScienceDirect และ Scopus พบว่า กล้วยมีสารประกอบทางพฤกษศาสตร์ เช่น กรดเฟอรูลิก (Ferulic acid) โปรโตคาเทคไฮด์อัลดีไฮด์  (Protocatechuic acid) กรดคลอโรจีนิค (Chlorogenic acid) ที่แสดงให้เห็นว่ามีส่วนช่วยต้านมะเร็ง หยุดการแพร่กระจาย การลุกลามและการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งหลอดอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาและการทดลองเพิ่มเติมในอนาคต

    ข้อควรระวังในการบริโภคกล้วยน้ำว้า

    กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง (Glycemic Index: GI) ซึ่งเป็นค่าบ่งชี้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูง และส่งผลกระทบต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน หรือทำให้ผู้ที่ป่วยโรคเบาหวานมีอาการแย่ลง ดังนั้น จึงควรรับประทานในปริมาณที่พอดี ประมาณ 1-2 ลูก/วัน

    นอกจากนี้ กล้วยน้ำว้ายังมีโพแทสเซียมสูง ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ หรือผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่อง ควรจำกัดการรับประทานกล้วยน้ำว้า เพราะอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

    สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้กล้วยน้ำว้าหรือกล้วยชนิดอื่น ๆ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกล้วยน้ำว้า และหากสังเกตว่ามีอาการหายใจลำบาก อาการคัน ลมพิษ ควรเข้าพบคุณหมอทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

    โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา