backup og meta

ประโยชน์ของพริก ชนิดต่าง ๆ มีอะไรบ้าง

ประโยชน์ของพริก ชนิดต่าง ๆ มีอะไรบ้าง

พริกเป็นพืชชนิดหนึ่ง มีรสเผ็ดร้อนเป็นเอกลักษณ์ ในประเทศไทยมีหลายสายพันธุ์ เช่น พริกขี้หนู พริกจินดา พริกกะเหรี่ยง พริกชี้ฟ้า นิยมนำไปประกอบอาหารเมนูต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ ทั้งนี้ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันพบว่า ประโยชน์ของพริก มีหลายประการ เช่น อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง บรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร ลดน้ำหนัก

[embed-health-tool-bmr]

พริก ที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด

คนไทยส่วนใหญ่นิยมบริโภคอาหารรสจัด มีการปลูกพริกอย่างแพร่หลาย โดยในประเทศไทยมี พริก หลายสายพันธุ์ที่พบได้ง่ายและหาซื้อได้ทั่วไป ดังนี้

  • พริกไทย ลักษณะเป็นเม็ดกลมสีเขียว ในหนึ่งฝักมีพริกเม็ดเล็ก ๆ อยู่เป็นพวง และเมื่อแห้งแล้วจะกลายเป็นสีดำ ทั้งนี้ ต้นกำเนิดของพริกไทยมาจากอินเดีย นิยมรับประทานแบบป่นแห้งโดยใช้โรยหรือเหยาะลงบนอาหาร
  • พริกขี้หนู เป็นพริกที่มีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ ผลมีขนาดเล็ก รูปทรงยาวเรียว ผลดิบเป็นสีเขียวเมื่อสุกเป็นสีแดง พริกขี้หนูมีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น พริกแด้ พริกนก พริกแจว มะระตี้
  • พริกหวาน มีขนาดเท่า ๆ กำปั้น รูปทรงคล้ายระฆัง โดยพริกหวานที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 3 สี คือแดง เหลือง และเขียว บางครั้งจึงเรียกกันว่าพริก 3 สี
  • พริกชี้ฟ้า คล้ายกับพริกขี้หนู แต่มีขนาดใหญ่กว่า รูปร่างโค้งงอเล็กน้อย และเปลือกมีผิวมันลื่น
  • พริกหยวก เป็นพริกรูปทรงยาวเรียวคล้ายพริกขี้หนู แต่ผลใหญ่กว่า อวบน้ำ และมีสีเขียวอ่อน

ประโยชน์ของพริก มีอะไรบ้าง

พริก ชนิดต่าง ๆ เต็มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของพริกชนิดต่าง ๆ ดังนี้

อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง

การรับประทานพริกไทยอาจช่วยต้านมะเร็งได้ เพราะสารไพเพอรีน (Piperine) ในพริกไทยมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น การการยับยั้งเซลล์ต้นกำเนิดของมะเร็ง การปรับปรุงระบบการฟื้นตัวของเซลล์ให้เป็นปกติ

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับสารไพเพอรีนและเคมีบำบัดมะเร็ง ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Cell and Developmental Biology ปี พ.ศ. 2561 ระบุว่า สารไพเพอรีนมีคุณสมบัติปรับการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ และยับยั้งการลุกลามและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

นอกจากนี้ สารไพเพอรีนยังช่วยในการส่งเสริมการดูดซึมสารเคมีบำบัดในการรักษามะเร็งด้วย

อาจบรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร

พริกหลาย ๆ ชนิดมีสารแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งนอกจากให้รสชาติเผ็ดร้อนแล้วยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ และยังอาจช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ของโรคกระเพาะอาหารได้ เช่น ปวดบริเวณลิ้นปี่ ท้องอืด คลื่นไส้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับการรักษาโรคกระเพาะอาหารแปรปรวนด้วยพริกขี้หนู เผยแพร่ในวารสาร Alimentary Pharmacology & Therapeutics ปี พ.ศ. 2545 นักวิจัยได้ทดลองให้ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารแปรปรวน (Functional Dyspepsia) จำนวน 30 ราย กลุ่มแรก รับประทานพริกขี้หนูป่นจำนวน 2.5 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 5 สัปดาห์ กลุ่มที่สองรับประทานยาหลอก โดยทั้งสองกลุ่มต่างจดบันทึกเพื่อให้คะแนนระดับความรุนแรงของอาการโรคกระเพาะอาหาร พบว่า กลุ่มที่รับประทานพริกขี้หนูป่นให้คะแนนระดับความรุนแรงของอาการต่ำกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า พริกขี้หนูมีประสิทธิภาพลดระดับความรุนแรงของอาการโรคกระเพาะอาหารแปรปรวน โดยอาจเป็นผลจากคุณสมบัติของสารแคปไซซิน

อาจช่วยลดน้ำหนัก

ในพริกมีสารแคปไซซินซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างเซลล์ไขมันในร่างกาย ดังนั้น การบริโภคพริกขี้หนู พริกหยวก หรือพริกชี้ฟ้า จึงอาจช่วยลดน้ำหนักได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องแคปไซซินและประสิทธิภาพในการลดความอ้วน เผยแพร่ในวารสาร Bioscience Reports ปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า แคปไซซินมีบทบาทหลายประการต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย โดยเฉพาะในส่วนของการลดน้ำหนัก

อาจช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง

การขาดแคลนธาตุเหล็กเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลหิตจาง และการรับประทานพริกหวานอาจช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้ เพราะพริกหวานอุดมไปด้วยวิตามินซีซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ลำไส้ดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารได้มากขึ้นโดยในพริกหวาน 100 กรัม ประกอบด้วยวิตามินซี 80.4 มิลลิกรัม

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของวิตามินซีในการเผาผลาญธาตุเหล็กในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ตีพิมพ์ในวารสาร Free Radical Biology and Medicine ปี พ.ศ. 2557 อธิบายโดยอ้างถึงหลักฐานงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นว่า นอกจากวิตามินซีอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการดูดซึมธาตุเหล็กในลำไส้แล้ว วิตามินซีในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ยังช่วยปรับการดูดซึมและการเผาผลาญธาตุเหล็กในระดับเซลล์ได้ด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cancer Chemoprevention and Piperine: Molecular Mechanisms and Therapeutic Opportunities. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5818432/#:~:text=Piperine%20is%20known%20to%20affect,invasion%2C%20metastasis%2C%20and%20angiogenesis. Accessed December 20, 2022

The active role of vitamin C in mammalian iron metabolism: much more than just enhanced iron absorption!.

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25048971/. Accessed December 20, 2022

Dietary capsaicin and its anti-obesity potency: from mechanism to clinical implications. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5426284/. Accessed December 20, 2022

The treatment of functional dyspepsia with red pepper. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/12030948/#:~:text=Conclusions%3A%20%3A%20Red%20pepper%20was%20more,potential%20therapy%20for%20functional%20dyspepsia. Accessed December 20, 2022

Health Benefits of Banana Peppers. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-banana-peppers. Accessed December 20, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/12/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

พริกหวาน ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

พริกไทยดำ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา