backup og meta

Bell Pepper (พริกหวาน) ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 21/12/2022

    Bell Pepper (พริกหวาน) ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

    Bell Pepper หรือพริกหวาน เป็นพืชท้องถิ่นของทวีปอเมริกา ซึ่งต่อมามีการนำไปปลูกในทวีปยุโรปแล้วแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก โดยทั่วไป พริกหวานมีผลขนาดประมาณกำปั้น รูปร่างคล้ายระฆัง และมีสีสันมากมาย โดยสีที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทยคือสีแดง สีเหลือง และสีเขียว พริกหวานมีสารอาหารและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ เช่น วิตามินซี แคลเซียม ทองแดง ทั้งนี้ มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันที่สนับสนุนว่า การบริโภคพริกหวานอาจช่วยรักษาสุขภาพดวงตาและป้องกันภาวะโลหิตจางได้

    คุณค่าทางโภชนาการของ Bell Pepper

    พริกหวานสด 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 31 กิโลแคลอรี่ รวมถึงให้สารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

    • คาร์โบไฮเดรต 6.65 กรัม
    • โปรตีน 0.9 กรัม
    • ไขมัน 0.13 กรัม
    • โพแทสเซียม 213 มิลลิกรัม
    • วิตามินซี 142 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 11 มิลลิกรัม
    • แคลเซียม 6 มิลลิกรัม

    นอกจากนี้ พริกหวาน ยังประกอบด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น โซเดียม ซีลีเนียม (Selenium) สังกะสี ทองแดง แมงกานีส กับวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินบี 7 วิตามินบี 9

    ประโยชน์ของ Bell Pepper ต่อสุขภาพ

    พริกหวานอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของพริกหวาน ดังนี้

    อาจช่วยบำรุงสุขภาพดวงตา

    พริกหวานมีสารลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยบำรุงสายตา และช่วยลดความเสี่ยงโรคต้อกระจกและโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องบทบาทของลูทีนและซีแซนทีนต่อสุขภาพดวงตา เผยแพร่ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2556 ระบุว่า ลูทีนและซีแซนทีนเป็นสารที่ให้สีส้มในอาหารหลาย ๆ ชนิด เช่น พริกหวาน เนื้อปลาแซลมอน ข้าวโพด โดยสารทั้ง 2 ชนิดนี้จัดเป็นส่วนประกอบของจอประสาทตา มีคุณสมบัติช่วยปกป้องจุดภาพชัดของดวงตาเสียหายจากแสงสีฟ้า

    นอกจากนี้ หากได้รับลูทีนและซีแซนทีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อาจเป็นสาเหตุของโรคต้อกระจกและโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม ซึ่งอาจทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นได้

    อาจช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง

    การขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลหิตจาง ในพริกหวานมีธาตุเหล็กในอัตรา 0.3 มิลลิกรัม/100 กรัม และยังอุดมไปด้วยวิตามินซีซึ่งช่วยให้ลำไส้ดูดซึมธาตุเหล็กได้มากขึ้น การรับประทานพริกหวานจึงอาจช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและประสิทธิภาพต้านอนุมูลอิสระของพริกหวาน ตีพิมพ์ในวารสาร Antioxidants ปี พ.ศ. 2558 ระบุว่า พริกหวานอุดมไปด้วยวิตามินซีซึ่งจะเข้มข้นมากขึ้น เมื่อพริกหวานสุกงอมหรือเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง

    ในขณะเดียวกัน งานวิจัยเรื่องบทบาทของวิตามินซีในการเผาผลาญธาตุเหล็กในร่างกายสิ่งมีชีวิต ตีพิมพ์ในวารสาร Free Radical Biology and Medicine ปี พ.ศ. 2557 อธิบายโดยอ้างถึงหลักฐานงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นว่า นอกจากวิตามินซีในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการดูดซึมธาตุเหล็กในลำไส้แล้ว ยังอาจช่วยปรับปรุงการดูดซึมและการเผาผลาญธาตุเหล็กในระดับเซลล์ได้ด้วย

    อาจช่วยบรรเทาโรคลำไส้แปรปรวน

    ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนจะมีลำไส้ที่อ่อนไหวกว่าคนทั่วไป และมักจะมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูกได้ง่าย เมื่อบริโภคอาหารบางชนิด

    ในพริกหวานมีสารแคพไซซิน (Capsaicin) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านสารอนุมูลอิสระ ช่วยลดการเจ็บปวดและการอักเสบ การบริโภคพริกหวานจึงอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคลำไส้แปรปรวน

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องประสิทธิภาพของพริกหวานต่ออาการของโรคลำไส้แปรปรวน เผยแพร่ในวารสาร Digestive Diseases and Sciences ปี พ.ศ. 2554 นักวิจัยแบ่งผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้บริโภคผงพริกหวานในรูปแบบยาเม็ด วันละ 4 เม็ด เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ส่วนอีกกลุ่มให้บริโภคยาหลอก ในระยะเวลาเท่า ๆ กัน

    เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง นักวิจัยเปรียบเทียบผลลัพธ์ของทั้ง 2 กลุ่ม และพบว่ากลุ่มที่บริโภคผงพริกหวานในรูปแบบยาเม็ด มีอาการป่วยที่ทุเลาลงกว่ากลุ่มที่บริโภคยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ

    ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การบริโภคผงพริกหวานอาจช่วยบรรเทาโรคลำไส้แปรปรวนได้ อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าการบริโภคพริกหวานสดหรือเมนูพริกหวานอาจช่วยบรรเทาโรคลำไส้แปรปรวนได้จริง

    ข้อควรระวังในการบริโภค Bell Pepper

    แม้ว่าพริกหวานจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม ควรบริโภคพริกหวานด้วยความระมัดระวัง ดังนี้

    • การบริโภคพริกหวานอาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้ แม้จะพบได้น้อยมาก โดยผู้ที่แพ้จะมีอาการ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเสีย ท้องร่วง
    • ผู้ที่แพ้ฝุ่น แพ้เกสรดอกไม้ แพ้ผักบางชนิด อาจแพ้พริกหวานร่วมด้วย หากระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่แพ้ฝุ่นส่งสัญญาณให้ร่างกายว่าสารประกอบของพริกหวานเป็นสารเดียวกันกับสารประกอบของฝุ่นที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้
    • หญิงตั้งครรภ์และหญิงในระยะให้นมบุตร สามารถบริโภคพริกหวานได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมากเกินไป และควรบริโภคผักและผลไม้ให้หลากหลายเพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 21/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา