backup og meta

ประโยชน์ของเสาวรส และข้อควรระวังในการบริโภค

ประโยชน์ของเสาวรส และข้อควรระวังในการบริโภค

เสาวรส เป็นผลไม้ที่มีลักษณะกลม ผลสุกมีสีม่วง เหลืองหรือส้ม มีเมล็ดจำนวนมากซึ่งรับประทานได้ มีรสเปรี้ยว อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาจช่วยส่งเสริมการทำงานของอินซูลิน ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ดีต่อระบบย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ อาจช่วยลดความวิตกกังวล

คุณค่าทางโภชนาการของเสาวรส

เสาวรสปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 97 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 23 กรัม
  • น้ำตาล 11 กรัม
  • ไฟเบอร์ 10 กรัม
  • โปรตีน 2.2 กรัม
  • ไขมัน 0.7 กรัม
  • โพแทสเซียม 348 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 28 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ เสาวรสยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี 6 ธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ไนอะซิน (Niacin)

ประโยชน์ของเสาวรส ที่มีต่อสุขภาพ

เสาวรสมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของเสาวรสในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. อาจช่วยปรับปรุงการทำงานของอินซูลิน

เสาวรสอุดมไปด้วยวิตามินซี มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยเพิ่มการทำงานของอินซูลินในการเผาผลาญน้ำตาลเป็นพลังงาน โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Preventive Nutrition and Food Science เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของการดื่มน้ำเสาวรสที่มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติของหัวใจ (Cardiac Autonomic Function หรือ CAF) และน้ำตาลในเลือดของผู้ที่มีสุขภาพดี พบว่า เสาวรสเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันที่รบกวนการเผาผลาญกลูโคสด้วยการทำลายเอนไซม์และกลไกการทำงานของเซลล์ในร่างกาย การบริโภคเสาวรสที่อุดมไปด้วยวิตามินซี จึงอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยเพิ่มการทำงานของอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  1. อาจช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน

เสาวรสอุดมไปด้วยวิตามินซีที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อและการทำลายจากสารอนุมูลอิสระ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินซีที่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน พบว่า วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยในการปรับปรุงภูมิคุ้มกันโดยการสนับสนุนการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน สนับสนุนการทำงานของเยื่อบุผิวที่ต่อต้านเชื้อโรคและส่งเสริมการป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชันของผิวหนังที่ก่อให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อ

  1. อาจช่วยบำรุงหัวใจ

เสาวรสอุดมไปด้วยโพแทสเซียม ซึ่งอาจช่วยทำให้หัวใจเต้นปกติ ช่วยควบคุมความดันโลหิต และอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ส่งเสริมสุขภาพหัวใจและลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Hypertension Reports เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของโพแทสเซียมซึ่งมีส่วนช่วยในการจัดการกับความดันโลหิตสูง พบว่า โพแทสเซียมช่วยควบคุมความดันโลหิต โดยผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ได้รับโพแทสเซียมอย่างเพียงพอมีความดันโลหิตที่ลดลง อาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจตาย

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Preventive Nutrition and Food Science เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของการดื่มน้ำเสาวรสที่มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติของหัวใจ (Cardiac Autonomic Function หรือ CAF) และน้ำตาลในเลือดในผู้ที่มีสุขภาพดี พบว่า การบริโภควิตามินซีส่งผลดีต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติของหัวใจในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว อาจมีศักยภาพในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดและช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจ

  1. อาจดีต่อระบบย่อยอาหาร

เสาวรสอุดมไปด้วยไฟเบอร์ที่ดีต่อระบบย่อยอาหาร โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของไฟเบอร์และพรีไบโอติกที่ส่งผลต่อสุขภาพ พบว่า การบริโภคใยอาหารสูงส่งผลดีต่อสุขภาพลำไส้ ระบบย่อยอาหาร ช่วยในการขับถ่ายและช่วยควบคุมน้ำหนัก รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

ข้อควรระวังในการบริโภคเสาวรส

ข้อควรระวังในการบริโภคเสาวรสที่ควรรู้ มีดังนี้

  • เสาวรสมีน้ำยางตามธรรมชาติที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ในบางคนได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Allergy เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2540 ศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มอาการแพ้ลาเทก ฟรุต ซินโดรม (Latex-Fruit Syndrome) พบว่า ผลไม้หลายชนิดมีน้ำยางตามธรรมชาติที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ เช่น มะละกอ อะโวคาโด กล้วย เกาลัด เสาวรส มะเดื่อ แตงโม มะม่วง กีวี่ สับปะรด พีช มะเขือเทศ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้อาหารในผู้ป่วยที่แพ้ยางธรรมชาติ
  • เนื้อเสาวรสมีสารประกอบที่มีความเป็นพิษที่พบตามธรรมชาติในพืชบางชนิด เรียกว่า ไซยาโนเจนิคไกลโคไซด์ (Cyanogenic Glycosides) ซึ่งอาจทำให้เกิดพิษไซยาไนด์ (Cyanide) ในร่างกายปริมาณมาก หากสะสมเป็นเวลานานอาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นแดง ส่วนใหญ่มักพบในผลไม้ที่ยังไม่สุก โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร  Food Additives & Contaminants เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับไซยาโนเจนิคไกลโคไซด์ในอาหารจากพืช พบว่า ไซยาโนเจนิคไกลโคไซด์พบในพืชหลายชนิด เช่น เสาวรส ผักโขม มันสำปะหลัง หน่อไม้ อัลมอนด์ เมล็ดแฟลกซ์ โดยความเป็นพิษของไซยาโนเจนิคไกลโคไซด์เกิดจากการย่อยสลายของเอนไซม์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดพิษไซยาไนด์เฉียบพลันและยังอาจเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นช้าลง โรคผิวหนัง

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Passion Fruit. https://www.webmd.com/food-recipes/passion-fruit-health-benefits. Accessed March 23, 2022

Vitamin C and Immune Function. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29099763/. Accessed March 23, 2022

The importance of potassium in managing hypertension. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21403995/. Accessed March 23, 2022

Acute Effects of Passion Fruit Juice Supplementation on Cardiac Autonomic Function and Blood Glucose in Healthy Subjects. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6779082/. Accessed March 23, 2022

Cyanogenic glycosides in plant-based foods available in New Zealand. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23984870/. Accessed March 23, 2022

“Latex-fruit syndrome”: frequency of cross-reacting IgE antibodies. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/9188921/. Accessed March 23, 2022

Fiber and prebiotics: mechanisms and health benefits. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23609775/. Accessed March 23, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/04/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิตามินบี ช่วยอะไร และอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี

มันฝรั่ง สารอาหาร ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 07/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา