ประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อนที่อุดมไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด โดยเฉพาะพืช สมุนไพรไทย เช่น ว่านหางจระเข้ ขิง รางจืด ซึ่งนิยมใช้ยามาแต่โบราณเพราะเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยา หากบริโภคเข้าสู่ร่างกายอาจช่วยบรรเทาหรือป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคเหงือกอักเสบ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่สนับสนุนคุณสมบัติต่าง ๆ ของสมุนไพรไทยหลายชนิด
ประโยชน์ต่อสุขภาพของ สมุนไพรไทย
สมุนไพรไทย ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของสมุนไพรไทย ดังนี้
-
ว่านหางจระเข้
ว่านหางจระเข้ เป็นพืชเขตร้อนที่พบได้ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย มีต้นกำเนิดมาจากคาบสมุทรอาหรับ ลักษณะทั่วไปของว่านหางจระเข้ คือ ลำต้นเป็นปล้อง ใบอวบหนา ขอบใบหยักและมีปลายแหลม ภายในใบมีเนื้อวุ้นและมีเมือกใส ๆ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น หมักผม ขัดผิว พอกหน้า รวมทั้งบริโภคเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ
ว่านหางจระเข้มีสารกลุ่มแอนทราควิโนน (Anthraquinones) เช่น อีโมดิน (Emodin) กรดอโลอิติก (Aloetic Acid) อะโลอิน (Aloin) ซึ่งมีประสิทธิภาพต้านจุลชีพและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ซึ่งพบมากในช่องปาก และเป็นสาเหตุของภาวะเชื้อราในช่องปาก การบริโภคว่านหางจระเข้ จึงอาจช่วยรักษาสุขภาพช่องปากได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่งเรื่องประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากว่านหางจระเข้ต่อการเกิดคราบพลัคและโรคเหงือกอักเสบในเด็กที่ตีพิมพ์ในวารสาร Pediatric Dental Journal เมื่อปีพ.ศ. 2564 นักวิจัยแบ่งอาสาสมัครซึ่งเป็นเด็กอายุระหว่าง 8-12 ปี จำนวน 17 รายออกเป็น 3 กลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มใช้น้ำยาบ้วนปากที่แตกต่างกัน ได้แก่ น้ำยาบ้วนปากว่านหางจระเข้ น้ำยาบ้วนปากที่ผสมยาฆ่าเชื้อคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) และน้ำยาบ้วนปากที่เป็นยาหลอก โดยทดลองใช้เป็นเวลา 12 วันเท่า ๆ กัน เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากแต่ละรูปแบบ พบว่า น้ำยาบ้วนปากว่านหางจระเข้มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงสุขภาพช่องปาก และอาจช่วยป้องกันโรคเหงือกอักเสบในเด็กได้เช่นเดียวกับน้ำยาบ้วนปากที่ผสมยาฆ่าเชื้อคลอร์เฮกซิดีน
-
ขิง
ขิงเป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่ง มีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชีย ลำต้นอยู่เหนือดิน และมีเหง้าอยู่ใต้ดิน เหง้าขิงมีเปลือกสีเหลืองอ่อนและเนื้อสีเหลืองสด นิยมนำมาบริโภคและใช้เป็นยาสมุนไพร
ขิงประกอบด้วยสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic) หลายชนิดเช่น จินเจอรอล (Gingerol) โชกาออล (Shogaol) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระ กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต และต้านการอักเสบภายในร่างกาย ดังนั้น การบริโภคขิงจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขมันพอกตับ ภาวะไขมันในเลือดสูง เนื้องอก
งานวิจัยชิ้นหนึ่งว่าด้วยการบริโภคขิงทุกวันเพื่อป้องกันโรคเรื้อรังในผู้ใหญ่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition เมื่อปีพ.ศ. 2560 โดยการทดลองให้อาสาสมัครชายหญิงอายุระหว่าง 18-77 ปี จำนวน 4,628 ราย บริโภคขิงในปริมาณแตกต่างกัน 0-2 กรัม/วัน 2-4 กรัม/วัน และ 4-6 กรัม/วัน พบว่า ขิงอาจมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคเรื้อรังบางชนิดได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
-
รางจืด
รางจืด เป็นไม้เถา ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อหรือปล้อง สีเขียวสด และมีดอกสีม่วงหรือคราม มีสรรพคุณกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินของเซลล์ตับอ่อนซึ่งอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป และลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดจากน้ำใบรางจืดที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Southeast Asian Journal of Tropical Medicine and Public Health ปี พ.ศ. 2547 นักวิจัยทดลองให้หนูที่เป็นโรคเบาหวานบริโภคสารสกัดจากน้ำใบรางจืดความเข้มข้น 60 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 มิลลิลิตร/วัน เป็นเวลา 15 วัน พบว่า สารสกัดรางจืดอาจมีส่วนช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองลดลง รวมถึงอาจช่วยฟื้นฟูเซลล์ตับอ่อนที่เสียหายจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้
ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์ เพื่อยืนยันถึงสรรพคุณของรางจืดในการลดระดับน้ำตาลในเลือด
-
เอื้องหมายนา
เอื้องหมายนา หรือเอื้องเพชรม้าเป็นพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งพบได้ในประเทศจีน และประเทศอินเดีย ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 1-2 เมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นเป็นสีแดง และดอกสีขาว ปัจจุบันมักปลูกเป็นไม้ประดับ และสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามสวนสาธารณะ
เอื้องหมายนามีสารต่าง ๆ ที่ออกฤทธิ์ป้องกันโรคตับซึ่งเกิดจากสารพิษได้ เช่น ซาโปนิน (Saponin) สเตียรอยด์ (Steroid) ไกลโคไซด์ (Glycoside)
การศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติในการป้องกันการบาดเจ็บที่ตับจากการรับประทานยาพาราเซตามอลของเอื้องหมายนาที่ตีพิมพ์ในวารสาร African Journal of Traditional, Complementary and Alternative Medicines เมื่อปีพ.ศ. 2561 นักวิจัยได้ทดลองให้สัตว์ทดลองที่ตับได้รับบาดเจ็บจากฤทธิ์ของยาพาราเซตามอล บริโภคสารสกัดจากเอื้องหมายนา ผลปรากฏว่า สุขภาพตับของสัตว์ทดลองที่บาดเจ็บจากยาพาราเซตามอลนั้นแข็งแรงขึ้นเกือบเท่าภาวะปกติ
อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันสรรพคุณของเอื้องหมายนา
ข้อควรระวังในบริโภคสมุนไพรไทย
แม้สมุนไพรแต่ละชนิดจะมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในการบริโภค โดยเฉพาะหากบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปดังนี้
ว่านหางจระเข้
- ว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด การบริโภคว่านหางจระเข้ร่วมกับยาลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน จึงอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ และอาจเกิดปัญหาสุขภาพได้
- ว่านหางจระเข้ อาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะเมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก โดยอาการที่พบได้ ประกอบด้วยปวดท้องหรือท้องร่วง
ขิง
- ผู้ที่รับประทานยาต้านลิ่มเลือด ควรระมัดระวังเมื่อบริโภคร่วมกับขิง เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด อาจส่งผลให้กระบวนการแข็งตัวของเลือดผิดปกติได้
- หากบริโภคขิงมากเกินไป อาจทำให้รู้สึกแสบร้อนและเกิดแผลในช่องปาก รวมทั้งปวดท้อง แน่นท้อง มีแก๊สในกระเพาะ
รางจืด
- ผู้ที่เป็นเบาหวานควรระมัดระวังหากบริโภครางจืดร่วมกับยาที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด
- รางจืดอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ หากแพ้ไม่รุนแรง อาการที่พบจะเป็นผื่นแดงตามผิวหนังและอาการคัน แต่สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืดควรระมัดระวังการบริโภครางจืด เพราะอาจมีอาการแพ้รางจืดรุนแรงและเกิดผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก
เอื้องหมายนา
- หากบริโภคเอื้องหมายนามากเกินไป อาจทำให้เวียนศีรษะ อาเจียน หรือท้องร่วงได้
- ผู้ที่เป็นเบาหวานควรระมัดระวังหากบริโภคร่วมกับยาที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด
หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรควรบริโภคสมุนไพรไทยด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรบริโภคเพื่อใช้เป็นยาในการบำรุงครรภ์หรือรักษาโรคเพราะอาจเป็นอันตรายต่อครรภ์หรือทารกได้ หากไม่แน่ใจหรือมีข้อสงสัยควรปรึกษาคุณหมอก่อนบริโภคสมุนไพรไทย
[embed-health-tool-bmr]