backup og meta

Premium

เกลือแร่ กับประโยชน์สำคัญต่อร่างกายที่ไม่ควรมองข้าม

เกลือแร่ หรือ แร่ธาตุ คือสารอาหารที่ร่างกายต้องการในปริมาณไม่มาก แต่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการทำงานต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ช่วยควบคุมความดันโลหิตและการทำงานของหัวใจ  ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง หากร่างกายขาดเกลือแร่อาจทำให้ขาดความสมดุลของการทำงานในร่างกาย แต่เพราะร่างกายของเราไม่สามารถสังเคราะห์เกลือแร่ขึ้นมาได้เอง จึงจำเป็นต้องได้รับจากแหล่งภายนอก เช่น อาหารและเครื่องดื่ม

เกลือแร่ กับประโยชน์สำคัญต่อร่างกายที่ไม่ควรมองข้าม

ความสำคัญของเกลือแร่ต่อร่างกาย

เกลือแร่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้

  • ช่วยเสริมสร้างและฟื้นฟูโครงสร้างของร่างกาย เกลือแร่บางชนิด เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส มีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ส่วนธาตุเหล็กก็มีส่วนจำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ที่ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย
  • ช่วยควบคุมระบบการไหลเวียนโลหิต เกลือแร่อย่างโซเดียม มีบทบาทในการควบคุมความดันโลหิตและการทำงานของหัวใจ 
  • ช่วยควบคุมปริมาณของเหลวในร่างกาย โซเดียมและโพแทสเซียม ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของของเหลวระหว่างเซลล์และนอกเซลล์ ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำและอิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes)
  • ช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โพแทสเซียมและแมกนีเซียมทำหน้าที่ช่วยควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ รวมถึงหัวใจ ส่วนแคลเซียม แมกนีเซียม และโซเดียมทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท ช่วยในการเคลื่อนไหวและการทำงานของสมอง
  • ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย สังกะสี ทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นและต่อสู้กับเชื้อโรค และซีลีเนียมทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์
  • มีส่วนช่วยในกระบวนการเผาผลาญพลังงาน ไอโอดีน เป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนไทรอยด์ที่ช่วยควบคุมการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย นอกจากนี้ แมกนีเซียมและฟอสฟอรัสก็มีส่วนสำคัญต่อกระบวนการเผาผลาญและการผลิตพลังงานในเซลล์

ประเภทของเกลือแร่

เกลือแร่ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ

เกลือแร่หลัก (Macrominerals)

เกลือแร่หลัก คือกลุ่มของเกลือแร่ที่ร่างกายต้องการในปริมาณมากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อวัน โดยมีหน้าที่ช่วยควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ที่สำคัญในร่างกาย เช่น ระบบไหลเวียนโลหิต การเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน การทำงานของระบบประสาท และการทำงานของกล้ามเนื้อ

ตัวอย่างของเกลือแร่หลัก ได้แก่

เกลือแร่รอง (Trace Minerals)

เกลือแร่รอง แร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อวัน แต่มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการทางชีวภาพและการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย แม้ว่าร่างกายอาจต้องการแร่ธาตุเหล่านี้ในปริมาณน้อย แต่หากขาดไปก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายได้อย่างมีนัยสำคัญ

ตัวอย่างของเกลือแร่รอง ได้แก่

[embed-health-tool-bmr]

แหล่งของเกลือแร่ตามธรรมชาติ

แหล่งสำคัญของเกลือแร่ชนิดต่าง ๆ สามารถพบได้จากอาหารเหล่านี้

  • แคลเซียม พบได้มากในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น นมสด ชีส เนย โยเกิร์ต ผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักบุ้ง ตำลึง ผักโขม รวมถึงปลาที่กินได้ทั้งกระดูก เช่น ปลาซาร์ดีนซาตีน ปลากระป๋อง ถั่ว งา ข้าวโอ๊ต
  • ฟอสฟอรัส พบได้ในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ไข่แดง เนื้อสัตว์ ปลา ถั่ว เมล็ดธัญพืช 
  • โซเดียม พบได้มากในเกลือแกง และอาหารแปรรูปต่าง ๆ
  • โพแทสเซียม พบได้จากผลิตภัณฑ์จากนม กล้วย ลำไย ผลไม้แห้ง มันฝรั่ง ผักใบเขียว
  • คลอไรด์ พบได้จากเกลือแกง มะกอก และอาหารแปรรูป
  • แมกนีเซียม พบได้มากในผักใบเขียว ถั่วต่าง ๆ และ ธัญพืชเต็มเมล็ด
  • กำมะถัน พบได้ในโปรตีนจากสัตว์ ถั่ว กระเทียม หัวหอม
  • สังกะสี พบได้มากในหอยนางรม เนื้อสัตว์ ถั่ว เมล็ดธัญพืช
  • เหล็ก พบได้มากในเนื้อแดง เครื่องใน เช่น ตับ ผักใบเขียว 
  • ไอโอดีน พบได้ในเกลือแกงผสมไอโอดีน อาหารทะเล นม
  • ซีลีเนียม พบได้ในปลา ธัญพืช และถั่วบราซิล (Brazil nut)
  • แมงกานีส พบได้ในถั่ว ธัญพืชเต็มเมล็ด ชา
  • ทองแดง พบได้ในอาหารจำพวกเครื่องใน ถั่ว ดาร์กช็อกโกแลต หอยตลับ
  • ฟลูออไรด์ พบได้ในน้ำดื่มที่มีการเติมฟลูออไรด์
  • โครเมียม พบได้ในถั่ว ธัญพืช นม
  • โมลิบดีนัม พบได้มากในธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อสัตว์ ผัก

เกลือแร่ทดแทน แบบไหน กินยังไง

เกลือแร่ทดแทน คือเกลือแร่ที่รับประทานเพื่อช่วยชดเชยน้ำและแร่ธาตุที่ร่างกายสูญเสียไป โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ เกลือแร่สำหรับท้องเสีย และเกลือแร่สำหรับออกกำลังกาย

เกลือแร่สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย (Oral Rehydration Salts; ORS) 

เกลือแร่สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย จัดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ใช้สำหรับเพื่อชดเชยน้ำและแร่ธาตุที่สูญเสียไปเนื่องจากอาการท้องเสีย เกลือแร่ชนิดนี้มักจะมาในรูปแบบผงน้ำตาลเกลือแร่ มีส่วนผสมคือ โซเดียม เป็นหลัก

วิธีการรับประทาน: ผสมผงเกลือแร่ 1 ซอง ลงในน้ำสะอาดจากขวดที่เพิ่งเปิดใหม่ หรือน้ำต้มสุกทิ้งไว้ให้เย็น ปริมาตร 150-250 มล. หรือตามที่ระบุบนฉลากข้างซอง คนให้เข้ากัน ค่อย ๆ จิบ ไม่ควรดื่มให้หมดในทีเดียวเนื่องจากอาจจะทำให้อาการท้องเสียรุนแรงขึ้น และไม่เก็บไว้นานเกิน 24 ชั่วโมง

ข้อควรระวัง: ผู้ที่ภาวะบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับไต และผู้ที่กำลังใช้ยาควบคุมความดันโลหิต ควรระมัดระวังการรับประทานเกลือแร่ทดแทน และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทาน

เกลือแร่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย (Oral Rehydration Therapy; ORT)

เกลือแร่สำหรับผู้ที่สูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย มักจะอยู่ในรูปแบบของเครื่องดื่มพร้อมดื่มบรรจุขวด และไม่จัดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เกลือแร่ทดแทนชนิดนี้จะมีปริมาณของน้ำตาลที่มากกว่าเกลือแร่ทดแทน ORS เนื่องจากต้องการให้ร่างกายสามารถดึงน้ำและสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย และช่วยปรับสมดุลของน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปอย่างรวดเร็ว

วิธีการรับประทาน: ผลิตภัณฑ์เกลือแร่ ORT มักจะมาในรูปแบบของเครื่องดื่มพร้อมดื่มบรรจุขวด สามารถดื่มได้เลยตามคำแนะนำที่ฉลากข้างขวด

ข้อควรระวัง: เครื่องดื่มเกลือแร่ ORT ไม่สามารถดื่มเพื่อทดแทนการสูญเสียแร่ธาตุจากอาการท้องเสียและอาเจียนได้ เนื่องจากมีปริมาณของน้ำตาลที่มาก อาจส่งผลให้เกิดการดึงน้ำเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารมากขึ้น และส่งผลให้อาการท้องเสียหรืออาเจียนรุนแรงขึ้นได้

จะเป็นอย่างไรหากร่างกายขาดเกลือแร่?

หากร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในปริมาณมาก อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังนี้

ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) 

เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำและเหงื่อในปริมาณมาก เช่น จากอาการท้องเสีย การอาเจียน ความร้อน การออกกำลังกาย 

อาการที่พบทั่วไป เช่น

  • กระหายน้ำ 
  • ปากแห้ง 
  • อ่อนเพลีย 
  • ตาแห้ง 
  • ผิวแห้ง 
  • วิงเวียนศีรษะ 
  • ปวดหัว 
  • หน้ามืด 

อาการรุนแรง เช่น 

  • หายใจหอบ 
  • ความดันต่ำ 
  • หัวใจเต้นถี่ 
  • ไม่มีเหงื่อออก 
  • ปัสสาวะน้อยลง

หากพบว่ามีอาการของภาวะขาดน้ำ ควรให้จิบน้ำช้า ๆ หรือจิบเกลือแร่ ORS หากมีอาการรุนแรงควรรีบน้ำตัวส่งโรงพยาบาล

ภาวะเกลือแร่ไม่สมดุล (Electrolyte Imbalance)

เกิดขึ้นเมื่อร่างกายขาดเกลือแร่หรือแร่ธาตุบางอย่าง หรือมีแร่ธาตุบางชนิดมากเกินไป โดยอาจเป็นผลมาจากการบริโภคอาหารที่มีแร่ธาตุเหล่านั้นไม่เพียงพอหรือมากเกินไป หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของไต ส่งผลให้ร่างกายขับแร่ธาตุเหล่านั้นออกไปมากเกินควร 

โดยทั่วไปมักจะไม่แสดงอาการ หากมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม อาจเกิดอาการเหล่านี้ได้

  • ปากแห้ง กระหายน้ำมาก
  • อยู่ไม่สุข ลุกลี้ลุกลน
  • สับสน
  • อ่อนเพลีย
  • วิงเวียนศีรษะ
  • กล้ามเนื้อกระตุก หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • เหน็บชา
  • ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ
  • หายใจลำบาก
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ
  • มีอาการคัน

สำหรับการรักษาภาวะเกลือแร่ไม่สมดุลนั้นขึ้นอยู่กับแร่ธาตุที่ไม่สมดุล ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

  • Electrolyte Imbalance: Symptoms & Treatment. https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/24019-electrolyte-imbalance. Accessed on June 16, 2025.
  • Electrolyte Disorders: Symptoms, Causes, Types, and Treatment. https://www.healthline.com/health/electrolyte-disorders#treatment. Accessed on June 16, 2025.
  • Dehydration: Symptoms, Causes, Diagnosis, and Treatment. https://www.healthline.com/health/dehydration#treatment. Accessed on June 16, 2025.
  • การดูแลภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ในเด็ก (PDF). https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/sites/default/files/public/pdf/column/AtRama53_Co09.pdf. Accessed on June 16, 2025.
  • “เกลือแร่” คือ แร่ธาตุสำคัญของร่างกาย. https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/august-2019/oral-rehydration-salt#:~:text=“เกลือแร่”%20คือ%20แร่ธาตุ,ทำงานได้อย่างเป็นปกติ. Accessed on June 16, 2025.
  • Oral Rehydration Solution: Uses, Recipe, and Risks. https://www.healthline.com/health/oral-rehydration-solution#risks-and-side-effects. Accessed on June 16, 2025.
  • อาหารที่อุดมด้วยแร่ธาตุโพแทสเซียม. https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1008#:~:text=นม%20และผลิตภัณฑ์จากนม,แตงโม%20เมล็ดฟักทอง%20เม็ดมะม่วงหิมพานต์. Accessed on June 16, 2025.
  • Infographic: น้ำเกลือแร่กับการดูแลสุขภาพ. https://www.rama.mahidol.ac.th/sites/default/files/public/img/infographics/infographics170-100363.pdf. Accessed on June 16, 2025.
  • ข้อมูลทางโภชนาการเกี่ยวกับเกลือแร่. https://web.ku.ac.th/nk40/nk/data/11/spi_wd12.htm. Accessed on June 16, 2025.

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/07/2025

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย ได้รับการตรวจโดยแพทย์เวชปฏิบัติ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผงเกลือแร่ ORS ข้อบ่งใช้ และข้อควรระวัง

คนท้องกินเกลือแร่ได้ไหม และควรดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อท้องเสีย


ตรวจสอบข้อมูลโดย ได้รับการตรวจโดยแพทย์เวชปฏิบัติ · แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป · Hello คุณหมอ · เขียน โดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไข 07/07/2025

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา