backup og meta

เฮเซลนัท ประโยชน์ และข้อควรระวังในการรับประทาน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/05/2022

    เฮเซลนัท ประโยชน์ และข้อควรระวังในการรับประทาน

    เฮเซลนัท (Hazelnut) คือ พืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ มีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรี มีเปลือกสีน้ำตาลห่อหุ้มเมล็ดสีขาวภายใน ซึ่งจำเป็นต้องกะเทาะเปลือกออกก่อนรับประทาน เฮเซลนัทมีสารอาหารมากมาย เช่น โอเมก้า 3 แมกนีเซียม โพแทสเซียม วิตามินบี ที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ และลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งบางชนิดได้

    คุณค่าโภชนาการของเฮเซลนัท

    เฮเซลนัท 100 กรัม ให้พลังงาน 628 แคลอรี่ และมีสารอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

    • ไขมัน 60.8 กรัม
    • คาร์โบไฮเดรต 16.70 กรัม
    • โปรตีน 15 กรัม
    • ไฟเบอร์ 9.7 กรัม
    • โพแทสเซียม 680 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 290 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 163 มิลลิกรัม
    • แคลเซียม 114 มิลลิกรัม
    • ธาตุเหล็ก 4.7 มิลลิกรัม

    นอกจากนี้ เฮเซลนัทยังมีวิตามินบี วิตามินอี และแมงกานีส ที่อาจช่วยต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการอักเสบ และช่วยควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น จังหวะการเต้นของหัวใจ การทำงานของระบบประสาท

    ประโยชน์ของเฮเซลนัทที่มีต่อสุขภาพ

    เฮเซลนัทมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของเฮเซลนัทในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    • อาจช่วยลดคอเลสเตอรอล

    เฮเซลนัทอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ที่อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน จากการศึกษาในวารสาร Nutrients พ.ศ. 2559 ได้ศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานเฮเซลนัทที่ส่งผลต่อไขมันในเลือดและน้ำหนักตัว โดยทบทวนการศึกษา 9 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วม 425 คน (ผู้ชาย 195 คน ผู้หญิง 230 คน) อายุ 18-55 ปี โดยให้รับประทานอาหารที่มีเฮเซลนัท 29-69 กรัม/วัน เป็นเวลา 28-84 วัน พบว่า การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยเฮเซลนัทอาจช่วยลดไขมันไม่ดีและไขมันโดยรวมได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่ลดไขมันดี แต่อาจไม่ส่งผลกระทบต่อระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) และค่าดัชนีมวลกาย จึงจำเป็นต้องการทำวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบผลในระยะยาวของการรับประทานเฮเซลนัท

    • อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

    เฮเซลนัทเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงและอุดมไปด้วยไขมันดี ที่อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ จากการศึกษาในวารสาร Journal of Research in Medical Sciences ปี พ.ศ. 2556 ที่ศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานถั่วและความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า เฮเซลนัทมีไขมันไม่อิ่มตัว มีเส้นใยอาหาร โปรตีน และสารไฟโตสเตอรอล (Phytosterols) ซึ่งเป็นสารประกอบตามธรรมชาติของพืช ที่อาจช่วยระดับลดคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณการรับประทานเฮเซลนัทที่เหมาะสมในระยะยาวและปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการรับประทานในแต่ละวัน

    • อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

    เฮเซลนัทมีวิตามินอีที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) จากอนุมูลอิสระที่สร้างความเสียหายให้แก่เซลล์ นำไปสู่การอักเสบ และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก

    จากการศึกษาในวารสาร Annals of Saudi Medicine ปี พ.ศ. 2550 ที่ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของวิตามินอีในการป้องกันโรคมะเร็ง โดยทบทวนการศึกษา 12 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิตามินอีเพื่อการป้องกันโรคมะเร็ง พบว่า วิตามินอีอาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจไม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งอื่น ๆ ได้ ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีวิตามินอี อย่างเฮเซลนัท จึงอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ แต่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้วิตามินอีเพื่อป้องกันโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติม

    ข้อควรระวังในการรับประทานเฮเซลนัท

    ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ถั่ว อาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานเฮเซลนัท เพราะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ลมพิษ อาการคัน อาการบวม หายใจลำบาก อีกทั้งยังควรเช็กข้อมูลโภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนเลือกซื้ออาหารทุกครั้ง หรือแจ้งให้ร้านอาหารทราบ เพื่อป้องกันการเผลอรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของเฮเซลนัท

    นอกจากนี้ เฮเซลนัทยังมีแคลอรี่ค่อนข้างสูง การรับประทานเฮเซลนัทในปริมาณมากจึงอาจเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ดังนั้นจึงควรจำกัดการรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ไม่เกิน 28 กรัม/วัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา