backup og meta

โพแทสเซียมคืออะไร มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร

โพแทสเซียมคืออะไร มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร

โพแทสเซียมคืออะไร ? โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย พบได้ในอาหารหลาย ๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็น บร็อคโคลี่ มันฝรั่ง ส้ม นม โยเกิร์ต หรือเนื้อสัตว์ โพแทสเซียมมีประโยชน์หลายประการ เช่น ช่วยควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป ช่วยรักษาการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อให้เป็นปกติ ช่วยรักษาสมดุลของของเหลวในร่างกาย

[embed-health-tool-bmi]

โพแทสเซียมคืออะไร

โพแทสเซียม (Potassium) เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญอย่างหัวใจและไต เนื่องจากโพแทสเซียมมีคุณสมบัติในการช่วยควบคุมความดันโลหิต

ทั้งนี้ โพแทสเซียมสามารถพบได้ในอาหารหลาย ๆ ชนิด ได้แก่

  • ผัก เช่น บร็อคโคลี่ มันฝรั่ง มันเทศ เห็ด แตงกวา ฝักทอง มะเขือเทศ
  • ผลไม้สด เช่น อะโวคาโด กล้วย ส้ม แคนตาลูป และผลไม้แห้ง เช่น ลูกพรุน ลูกเกด
  • ถั่ว เช่น ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วปินโต (Pinto Beans) ถั่วเลนทิล (Lentils) เม็ดมะม่วงหิมพานต์
  • นม โยเกิร์ต
  • เนื้อสัตว์ เนื้อปลา

โพแทสเซียมสำคัญต่อร่างกายอย่างไร

โพแทสเซียม มีคุณสมบัติควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป จึงอาจมีส่วนช่วยลดโอกาสเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยทำหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • ขับโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย หากร่างกายมีระดับโซเดียมย่อมส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงเช่นเดียวกัน
  • ช่วยผ่อนคลายความตึงของหลอดเลือด ลดความเสี่ยงความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคโพแทสเซียมและผลกระทบต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ตีพิมพ์ในวารสาร The BMJ ปี พ.ศ. 2556 นักวิจัยได้ศึกษาผลการทดลองและผลการศึกษาจำนวนหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคโพแพสเซียม และผลกระทบต่อความดันโลหิต ไขมันในเลือด การทำงานของไต รวมถึงโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

นักวิจัยได้ข้อสรุปว่า การบริโภคโพแทสเซียมในปริมาณมากขึ้น อาจช่วยลดความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้ โดยไม่ส่งผลเสียต่อความเข้มข้นของไขมันในเลือด ความเข้มข้นของฮอร์โมนแคทีโคลามีน (Catecholamine) และการทำงานของไต

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่า การได้รับโพแทสเซียมในปริมาณที่ร่างกายต้องการ ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม นอกจากโพแทสเซียมจะมีประโยชน์ต่อการควบคุมความดันโลหิตแล้ว โพแทสเซียมยังมีความสำคัญต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • สัมพันธ์กับการทำงานของกระแสประสาท กระแสประสาทเป็นคลื่นในระบบประสาทที่ส่งผ่านคำสั่งจากสมองให้ไปควบคุมการทำงานของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการเต้นของหัวใจหรือการหดตัวของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ กระแสประสาทเกิดจากการเคลื่อนที่ของไอออนของธาตุโพแทสเซียม ดังนั้น การที่ร่างกายมีระดับโพแทสเซียมในเลือดลดลง จึงมักส่งผลให้สมองไม่สามารถส่งกระแสประสาทได้ตามปกติ
  • ลดความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน โรคกระดูกพรุนมักเกิดกับผู้ที่ร่างกายมีระดับแคลเซียมต่ำ การบริโภคโพแทสเซียมซึ่งมีคุณสมบัติลดการขับแคลเซียมทางปัสสาวะจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้
  • ป้องกันโรคนิ่วในไต นิ่วในไตเกิดจากการสะสมของสารอาหารต่าง ๆ เช่น แคลเซียม ในปัสสาวะ ทั้งนี้ โพสแทสเซียมมีคุณสมบัติลดการขับแคลเซียมทางปัสสาวะจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในไตได้

ใน 1 วันควรบริโภคโพแทสเซียมเท่าไร

ใน 1 วัน ร่างกายคนเราควรบริโภคโพแทสเซียมให้เพียงพอตามเกณฑ์ในแต่ละช่วงอายุดังต่อไปนี้

  • อายุ 0-6 เดือน ควรได้รับโพแทสเซียม 400 มิลลิกรัม/วัน
  • อายุ 7-12 เดือน ควรได้รับโพแทสเซียม 700 มิลลิกรัม/วัน
  • อายุ 1-3 ปี ควรได้รับโพแทสเซียม 3,000 มิลลิกรัม/วัน
  • อายุ 4-8 ปี ควรได้รับโพแทสเซียม 3,800 มิลลิกรัม/วัน
  • อายุ 9-13 ปี ควรได้รับโพแทสเซียม 4,500 มิลลิกรัม/วัน
  • อายุ 14 ปีขึ้นไป รวมถึงหญิงมีครรภ์ควรได้รับโพแทสเซียม 4,700 มิลลิกรัม/วัน

สำหรับหญิงให้นมบุตรควรได้รับโพแทสเซียม 5,100 มิลลิกรัม/วัน

หากร่างกายขาด โพแทสเซียม จะส่งผลอย่างไร

โดยปกติแล้ว ร่างกายมักได้รับโพแทสเซียมเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน เพราะโพแทสเซียมสามารถพบได้ในอาหารหลาย ๆ ชนิด

อย่างไรก็ตาม การมีเหงื่ออกมาก การอาเจียนหรือท้องเสียอย่างรุนแรง หรือการกินยาขับปัสสาวะหรือยาระบาย อาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดลดต่ำลงกว่าปกติ และเป็นสาเหตุให้ร่างกายมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้

  • อ่อนเพลีย
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • เป็นตะคริว
  • ท้องผูก
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ

โพแทสเซียม ในเลือดสูงกว่าปกติ มีอาการอย่างไร

ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง มักพบในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพไต ทำให้ไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกจากร่างกายได้ตามปกติ

เมื่อมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง มักมีอาการต่อไปนี้

  • อ่อนเพลีย หมดแรง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • หายใจไม่ออก
  • เจ็บหน้าอก
  • ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Effect of increased potassium intake on cardiovascular risk factors and disease: systematic review and meta-analyses. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23558164/. Accessed December 7, 2022

Potassium Rich Foods. https://www.webmd.com/diet/foods-rich-in-potassium. Accessed December 7, 2022

Potassium. https://www.webmd.com/diet/supplement-guide-potassium. Accessed December 7, 2022

High Blood Pressure & Kidney Disease. https://www.niddk.nih.gov/health-information/kidney-disease/high-blood-pressure#:~:text=urinary%20tract%20system.-,How%20does%20high%20blood%20pressure%20affect%20the%20kidneys,may%20no%20longer%20work%20properly. Accessed December 7, 2022

Potassium. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/potassium/#:~:text=Potassium%20is%20an%20essential%20mineral,foods%20and%20as%20a%20supplement. Accessed December 7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/12/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารหลัก 5 หมู่และประโยชน์ของสารอาหาร

เด็กขาดสารอาหาร เกิดจากอะไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 16/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา