ใบเตย เป็นสมุนไพรและเครื่องเทศที่นิยมนำมาสกัดเป็นน้ำ หรือผง เพื่อประกอบอาหารให้ได้รสชาติ สี และกลิ่นที่หอม หรือใช้เป็นน้ำมันหอมระเหย ใบเตยมีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาจช่วยลดอาการปวดข้ออักเสบ ป้องกันโรคหัวใจ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ ยังอาจนำมาใช้เป็นยารักษาอาการท้องผูก ฝี และอาการไข้หวัดได้อีกด้วย
คุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารของใบเตย
ใบเตยเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายและอาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ข้ออักเสบ ปวดข้อ แต่ใบเตยมีเส้นใยมากและเหนียวจึงไม่สามารถนำมารับประทานโดยตรงได้ จึงนิยมสกัดเป็นน้ำหรือบดเป็นผงเพื่อนำไปประกอบอาหารหรือทำเป็นยา
จากการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Advances in Pharmacological and Pharmaceutical Sciences ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2557 ระบุว่า ใบเตยเป็นยาอายุรเวทของอินเดียนิยมใช้รักษาตามประเพณี อาจช่วยรักษาอาการปวดศีรษะ โรคไขข้อ อาการกระตุก หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคลมบ้าหมู บาดแผล ฝี หิด โรคเม็ดเลือดขาว แผลในกระเพาะอาหาร อาการจุกเสียด โรคตับอักเสบ ไข้ทรพิษ โรคเรื้อน ซิฟิลิส มะเร็ง และเป็นยาบำรุงหัวใจ
สารอาหารของใบเตยปริมาณ 100 กรัม ประกอบด้วย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไฟเบอร์ เหล็ก แคลเซียม วิตามินซี เบตาแคโรทีน ไทอามีน ไรโบฟลาวิน ไนอาซิน
จากงานวิจัยในวารสาร Asia Pacific Journal of Clinical Nutrition ประเทศออสเตรเลีย ปี พ.ศ. 2546 และในวารสาร Journal of Food Composition and Analysis มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ ประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2549 พบว่า ผลใบเตยอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ที่มีความสำคัญต่อสุขภาพดวงตาและระบบภูมิคุ้มกัน ผลใบเตยในสัดส่วน 100 กรัม อาจมีเบตาแคโรทีน 43-80% ต่อความต้องการในแต่ละวัน
นอกจากนี้ ใบเตยยังมีธาตุเหล็กสูงและเป็นแหล่งใยอาหาร จากงานวิจัยในวารสาร Journal of Research in Medical Sciences ประเทศอิหร่าน ระบุว่า ธาตุเหล็กอาจช่วยให้เลือดและออกซิเจนไหลเวียนดี และป้องกันโรคโลหิตจางได้
ประโยชน์ของใบเตย
ใบเตยมีวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งยังอุดมด้วยวิตามินเอซึ่งเป็นสารประกอบสำคัญสำหรับสุขภาพดวงตา แม้ยังจะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม แต่ใบเตยก็นิยมนำมาประกอบอาหารและใช้ทำยาแผนโบราณมาอย่างยาวนาน ซึ่งอาจช่วยบำรุงสุขภาพ ดังนี้
อาจช่วยลดอาการโรคข้ออักเสบและปวดข้อ
จากงานวิจัยในวารสาร Advances in Pharmacological and Pharmaceutical Sciences ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2557 ระบุว่า น้ำมันที่ได้จากสารสกัดจากใบเตยมีไฟโตเคมิคอล (Phytochemicals) ที่มีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการของโรคข้ออักเสบ และอาจช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ปวดหัวและปวดหูได้อีกด้วย
อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
การรับประทานใบเตยอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร รวมถึงอาจช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน จากการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Pharmacognosy Magazine ประเทศอินเดีย ปี พ.ศ. 2558 ระบุว่า ผู้ที่ดื่มชาใบเตยหลังรับประทานอาหารมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำกว่าผู้ที่ไม่ดื่มชาใบเตย
อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจ
ใบเตยอุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาหลอดเลือดแดงหัวใจตีบเนื่องจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์ในหลอดเลือด จากการวิจัยในวารสาร Food & Nutrition Research ปี พ.ศ. 2558 พบว่า แคโรทีนอยด์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดความดันโลหิต ลดกรดไซโตไคน์ (Cytokine Acid) ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพช่องปาก
ใบเตยมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพช่องปากได้ จากงานวิจัยในวารสาร Advances in Pharmacological and Pharmaceutical Sciences ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2557 ระบุว่า ใบเตยมีกลิ่นหอม ดังนั้น การเคี้ยวใบเตยอาจช่วยลดกลิ่นปากได้ และใบเตยยังเป็นสมุนไพรมีฤทธิ์ต้านไวรัส อาจช่วยให้เกล็ดเลือดแข็งตัว ต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบที่อาจช่วยลดอาการเลือดออกตามไรฟันได้
อาจช่วยเสริมสุขภาพผิวให้ดียิ่งขึ้น
ใบเตยแห้งอาจนำมาบดใช้เป็นยาสำหรับรักษาอาการผิวไหม้เล็กน้อยจากการถูกแดดเผา จากการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Malawi Medical ปี พ.ศ. 2548 แสดงให้เห็นว่า ใบเตยมีกรดแทนนิก (Tannic Acid) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระมีฤทธิ์ที่อาจช่วยให้ผิวไหม้จากแดดเย็นลงได้
ความเสี่ยงในการบริโภคใบเตย
อาจยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันความเสี่ยงของการรับประทานใบเตยที่เพียงพอ แต่ใบเตยอาจมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ หากรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้ นอกจากนั้น การนำใบเตยไปเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารโดยผ่านความร้อน อาจทำให้สูญเสียคุณประโยชน์ได้
[embed-health-tool-bmr]