backup og meta

คน ขาดโพแทสเซียม ควร กิน อะไร และรักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/03/2024

    คน ขาดโพแทสเซียม ควร กิน อะไร และรักษาได้อย่างไร

    โพแทสเซียม (Potassium) เป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยในกระบวนการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะหัวใจและไต การขาดโพแทสเซียมอาจทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และหากขาดโพแทสเซียมรุนแรงก็อาจทำให้หายใจลำบาก อัมพาตชั่วคราว ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ การเรียนรู้ว่า คน ขาดโพแทสเซียม ควร กิน อะไร อาจช่วยให้ผู้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ สามารถควบคุมระดับโพแทสเซียมในเลือดได้ดีขึ้น

    โดยทั่วไป โพแทสเซียมสามารถพบได้ในแหล่งอาหารตามธรรมชาติหลายชนิด ทั้งในเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ต่าง ๆ จึงควรรับประทานอาหารให้หลากหลายเพื่อให้ได้รับโพแทสเซียมอย่างเพียงพอ

    โพแทสเซียม ช่วยอะไร

    โพแทสเซียมเป็นอิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) หรือแร่ธาตุชนิดนำไฟฟ้าได้ มีความสำคัญต่อการทำงานของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกาย ช่วยควบคุมระดับของเหลวและสมดุลของกรด-ด่างในร่างกาย กระตุ้นการทำงานของเส้นประสาท ช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัว ช่วยในการทำงานของระบบขับถ่าย และควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

    โดยปกติแล้ว ร่างกายจะไม่สามารถสังเคราะห์โพแทสเซียมได้เองและจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร จึงควรกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เพื่อให้ได้รับโพแทสเซียมและสารอาหารอื่น ๆ เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยกระทรวงสาธารณสุขแนะนําว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ควรบริโภคโพแทสเซียมอย่างน้อย 3,500 มิลลิกรัม/วัน

    คน ขาดโพแทสเซียม ควร กิน อะไร

    โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่พบในอาหารหลากหลายชนิด ทั้งผลไม้ ผัก เนื้อสัตว์ นมวัวผลิตภัณฑ์จากนมวัว พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี เป็นต้น ร่างกายสามารถดูดซึมโพแทสเซียมในอาหารประมาณ 85-90% ไปใช้เพื่อรักษาระดับโพแทสเซียมภายในเซลล์และนอกเซลล์ ดังนั้น หากมีข้อสงสัยที่ว่า โพแทสเซียมต่ำ ควร กินอะไร ก็ควรเลือกรับประทานอาหารเหล่านี้

    ผักที่มีโพแทสเซียมสูง ในปริมาณ 100 กรัม มีโพแทสเซียมประมาณ 270 มิลลิกรัม เช่น

    • กะหล่ำดอก กะหล่ำปลีม่วง
    • ผักพื้นบ้าน เช่น กระชาย กระถิน ผักหวาน รากบัว ลูกยอและน้ำลูกยอ ใบขี้เหล็ก
    • พืชหัว เช่น แห้ว เผือก มัน มันฝรั่ง รากบัว หัวผักกาด แครอท
    • มะเขือ เช่น มะเขือเปราะ มะเขือพวง
    • ผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง บรอกโคลี
    • เห็ด เช่น เห็ดกระดุม เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหูหนูแห้ง เห็ดตับเต่า เห็ดเผาะ
    • มะเขือเทศ
    • มะระจีน
    • ถั่วฝักยาว
    • ฟักทอง
    • เนยถั่ว

    ผักที่มีโพแทสเซียมปานกลาง ในปริมาณ 100 กรัม มีโพแทสเซียมประมาณ 150 มิลลิกรัม เช่น

    • กะหล่ำปลี แขนงกะหล่ำ
    • ผักกาดขาว
    • ข้าวโพดอ่อน
    • ขนุนอ่อน
    • ผักพื้นบ้าน เช่น น้ำเต้า ใบชะพลู ผักปลัง
    • ผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง คะน้า ผักโขม ผักชี ผักชีฝรั่ง ผักชีลาว ผักบุ้ง
    • พริก เช่น พริกยักษ์ พริกหวาน พริกหยวก
    • ฟักเขียว
    • มะเขือยาว
    • มะละกอดิบ
    • เห็ด เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดหอมสด
    • หอมหัวใหญ่

    ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ในปริมาณ 100 กรัม มีโพแทสเซียมประมาณ 270 มิลลิกรัม เช่น

    • แก้วมังกร
    • แคนตาลูป
    • แตงโม
    • แตงไทย
    • ฝรั่ง
    • ส้ม
    • มะละกอ
    • ทุเรียน
    • ลำไยแห้ง
    • อะโวคาโด
    • สตรอว์เบอร์รี
    • มะขามหวาน
    • น้ำผลไม้กล่อง

    ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมปานกลาง ในปริมาณ 100 กรัม มีโพแทสเซียมประมาณ 150 มิลลิกรัม เช่น

    • กีวี
    • กล้วย
    • เชอร์รี่
    • ลูกพีช
    • องุ่น
    • ลิ้นจี่
    • ชมพู่
    • ทับทิม
    • ลำไย
    • ลองกอง
    • ละมุด
    • ส้มโอ
    • เสาวรส
    • ขนุน
    • มะปราง
    • ผลไม้แห้ง

    ร่างกายขาดโพแทสเซียม จะมีอาการ อย่างไร

    โดยปกติ ร่างกายจะมีระดับโพแทสเซียมประมาณ 3.6-5.0 มิลลิโมล/ลิตร แต่หากร่างกายขาดโพแทสเซียมเป็นประจำ อาจนำไปสู่ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) คือ มีโพแทสเซียมในกระแสเลือดประมาณ 3.1-3.5 มิลลิโมล/ลิตร ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอาการท้องร่วง อาเจียน ภาวะไตวาย การใช้ยาบางชนิด และภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้ร่างกายขับโพแทสเซียมหรือทำให้โพแทสเซียมในเซลล์เปลี่ยนแปลงจนมีปริมาณน้อยกว่าปกติ

    โดยทั่วไป การขาดโพแทสเซียมมักไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ แต่หากมีภาวะโพแทสเซียมต่ำในระดับปานกลาง คือ มีโพแทสเซียมในกระแสเลือดประมาณ 2.5-3.0 มิลลิโมล/ลิตร อาจทำให้มีอาการเกร็งและปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง ไม่สบายตัว และในรายที่มีภาวะโพแทสเซียมต่ำในระดับรุนแรง คือ มีโพแทสเซียมในเลือดน้อยกว่า 2.5 มิลลิโมล/ลิตร อาจส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูก ทำให้เกิดอาการเกร็ง ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อไม่ได้ กล้ามเนื้อสลายตัว และอาจทำให้การทำงานของคลื่นหัวใจไฟฟ้าผิดปกติ

    วิธีรักษาภาวะขาดโพแทสเซียม

    สำหรับผู้ที่มีภาวะขาดโพแทสเซียม คุณหมออาจแนะนำให้กินโพแทสเซียมทดแทน เช่น โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride) เพื่อช่วยปรับระดับโพแทสเซียมในร่างกายให้กลับสู่ภาวะปกติ แต่หากเป็นกรณีรุนแรงดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยอาจต้องได้รับโพแทสเซียมผ่านหลอดเลือดดำ และคุณหมออาจวินิจฉัยและรักษาภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้นร่วมกับภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำด้วย

    • โพแทสเซียมในเลือดต่ำมาก จนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
    • โพแทสเซียมในเลือดต่ำจนทำให้ผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • กินโพแทสเซียมทดแทนระยะหนึ่งแล้ว แต่ระดับโพแทสเซียมยังไม่กลับสู่ระดับปกติ
    • สูญเสียโพแทสเซียมเร็วจนการกินโพแทสเซียมเสริมไม่สามารถทดแทนปริมาณโพแทสเซียมที่ร่างกายสูญเสียไปได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/03/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา