backup og meta

ผลไม้ ผู้ป่วยเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยง มีอะไรบ้าง

ผลไม้ ผู้ป่วยเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยง มีอะไรบ้าง

ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานผลไม้เป็นประจำเพื่อให้ได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ก็ควรเลือกผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ซึ่งจะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่พุ่งสูงเร็วเกินไป ส่วน ผลไม้ ผู้ป่วยเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง เช่น แตงโม สับปะรด เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดพุ่งสูงเร็วเกินไป จนทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น การรับประทานผลไม้ให้ถูกชนิดอาจช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้

[embed-health-tool-bmi]

ค่าดัชนีน้ำตาลในอาหาร คืออะไร

ค่าดัชนีน้ำตาล หรือ Glycaemic index (GI) คือดัชนีที่ใช้วัดระดับคาร์โบไฮเดรตในอาหาร มีค่าตั้งแต่ 0-100 แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับต่ำ (ไม่เกิน 55) ระดับปานกลาง (56-69) และระดับสูง (70 ขึ้นไป) ซึ่งจะแสดงถึงความเร็วในการเปลี่ยนอาหารที่รับประทานไปเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดว่าใช้เวลาช้าหรือเร็วเท่าไหร่

โดยทั่วไป อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดได้เร็ว ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ในขณะที่อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดได้ช้าและคงที่กว่า ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดค่อย ๆ เพิ่มขึ้นแบบไม่แปรปรวน อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย

สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงอีกประการหนึ่งคือ ปริมาณการรับประทาน เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำในปริมาณมากก็สามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานได้ไม่ต่างกับการรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงในปริมาณเล็กน้อย ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยการจัดสัดส่วนของปริมาณอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 15 กรัม ต่อการรับประทาน 1 ครั้ง หรือ 1 ส่วน ตัวอย่างการรับประทานผลไม้ 1 ส่วน เช่น

  • แอปเปิลขนาดกลาง 1/2 ผล
  • กล้วยขนาดกลาง 1/2 ผล
  • ส้มขนาดกลาง 1 ผล
  • แบล็กเบอร์รี 1 ถ้วย
  • บลูเบอร์รี 3/4 ถ้วย
  • ราสเบอร์รี 1 ถ้วย
  • แคนตาลูปหั่นเต๋า 1 ถ้วย
  • ลูกเกด 1/8 ถ้วย

ผลไม้ ผู้ป่วยเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยง มีอะไรบ้าง

โดยทั่วไป คนเราไม่ควรงดรับประทานผลไม้ เนื่องจากเป็นอาหารที่มีประโยชน์ อุดมไปด้วยแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม รวมถึงวิตามิน เช่น วิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี อีกทั้งยังมีใยอาหารที่มีบทบาทสำคัญในการชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด อย่างไรก็ตาม ผลไม้ ผู้ป่วยเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยง หรือรับประทานแต่น้อย คือ ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงในเวลาอันสั้น เมื่อรับประทานผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงบ่อยครั้ง อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังและควบคุมโรคเบาหวานได้ยากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น เบาหวานขึ้นตา ไตวาย ชาปลายเท้า

ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงและปานกลาง เช่น

  • แตงโม มีค่าดัชนีน้ำตาล 76 ± 4
  • ลูกเกด มีค่าดัชนีน้ำตาล 64
  • กล้วยสุก มีค่าดัชนีน้ำตาล 62
  • สับปะรด มีค่าดัชนีน้ำตาล 59 ± 8
  • องุ่น มีค่าดัชนีน้ำตาล 59

นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง (Glycemic Load) เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงได้เช่นกัน ปกติแล้ว ร่างกายของคนทั่วไปควรได้รับน้ำตาลอิสระ (Free sugar) ซึ่งหมายถึงน้ำตาลที่เพิ่มในอาหารและน้ำตาลในอาหารตามธรรมชาติ ไม่เกิน 30 กรัม/วัน (ประมาณน้ำตาล 7 ก้อน) เด็กอายุ 7-10 ปี ไม่เกิน 24 กรัม/วัน (ประมาณน้ำตาล 6 ก้อน) และเด็กอายุ 4-6 ปี ไม่เกิน 19 กรัม/วัน (น้ำตาล 5 ก้อน) ส่วนผู้ป่วยเบาหวานควรจำกัดปริมาณน้ำตาลอิสระให้ไม่เกิน 10% ของปริมาณพลังงาน (แคลอรี) ที่รับเข้าไปในแต่ละวัน

ผลไม้น้ำตาลสูงที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงหรือกินแต่น้อย เช่น

  • ทุเรียนหมอนทอง 100 กรัม มีปริมาณน้ำตาลทั้งหมด 21.3 กรัม หรือ 5.3 ช้อนชา
  • เงาะโรงเรียน 100 กรัม มีปริมาณน้ำตาลทั้งหมด 17.9 กรัม หรือ 4.5 ช้อนชา
  • กล้วยเนื้อทอง 100 กรัม มีปริมาณน้ำตาลทั้งหมด 17 กรัม หรือ 4.3 ช้อนชา
  • มะปรางหวาน 100 กรัม มีปริมาณน้ำตาลทั้งหมด 16.8 กรัม หรือ 4.2 ช้อนชา
  • น้อยหน่าหนัง 100 กรัม มีปริมาณน้ำตาลทั้งหมด 16.3 กรัม หรือ 4.0 ช้อนชา
  • มะยงชิด 100 กรัม มีปริมาณน้ำตาลทั้งหมด 13 กรัม หรือ 3.3 ช้อนชา

ผลไม้ที่ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานได้

ผลไม้ที่อาจเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่ ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ซึ่งมักเป็นผลไม้ที่มีใยอาหารสูง มีน้ำตาลและไขมันต่ำ ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานผลไม้และอาหารชนิดต่าง ๆ ให้หลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน

ตัวอย่างผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (ปริมาณ 120 กรัม)

  • มะม่วงดิบ มีค่าดัชนีน้ำตาล 51 ± 5
  • กล้วยดิบ มีค่าดัชนีน้ำตาล 51 ± 3
  • ลูกพีชกระป๋อง มีค่าดัชนีน้ำตาล 43 ± 5
  • ส้ม มีค่าดัชนีน้ำตาล 43 ± 3
  • แอปเปิล มีค่าดัชนีน้ำตาล 36 ± 2
  • เกรปฟรุต มีค่าดัชนีน้ำตาล 25

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Fruit. https://diabetes.org/healthy-living/recipes-nutrition/eating-well/fruit. Accessed November 18, 2022

Diabetes and Fruit. https://www.webmd.com/diabetes/fruit-diabetes. Accessed November 18, 2022

Diabetes diet: Should I avoid sweet fruits?. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/expert-answers/diabetes/faq-20057835. Accessed November 18, 2022

Fruit and Diabetes – Can I Eat Fruit?. https://www.diabetes.co.uk/food/fruit.html. Accessed November 18, 2022

Glycemic index for 60+ foods. https://www.health.harvard.edu/diseases-and-conditions/glycemic-index-and-glycemic-load-for-100-foods. Accessed November 18, 2022

Food and keeping active. https://www.nhs.uk/conditions/type-2-diabetes/food-and-keeping-active/. Accessed November 18, 2022

Low-glycemic index diet: What’s behind the claims?. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/nutrition-and-healthy-eating/in-depth/low-glycemic-index-diet/art-20048478. Accessed November 18, 2022

ปริมาณ น้ำตาล ใน ผล ไม้ ไทย – สำนักโภชนาการ. https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/thai-food-composition-table/download?id=39842&mid=31993&mkey=m_document&lang=th&did=13912. Accessed November 18, 2022

Sugar: the facts. https://www.nhs.uk/live-well/eat-well/food-types/how-does-sugar-in-our-diet-affect-our-health/#:~:text=Adults%20should%20have%20no%20more,day%20(5%20sugar%20cubes). Accessed November 18, 2022

Sugar & diabetes. https://www.diabetes.ca/advocacy—policies/our-policy-positions/sugar—diabetes. Accessed November 18, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/11/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ กับ เบาหวาน มีประโยชน์อย่างไร

5 เมนูอาหารโรคเบาหวาน และวิธีควบคุมอาการเบาหวาน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา