อาหารอ่อนๆ มักเป็นอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอาหารอ่อนๆ เป็นอาหารเนื้อนุ่ม เคี้ยวและกลืนง่าย ใยอาหารต่ำ ซึ่งทำให้ร่างกายดูดซึมได้ง่ายขึ้น เพื่อนำมาใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ใช้เป็นพลังงานในการฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วย และยังดีต่อการทำงานของระบบย่อยอาหารและลำไส้อีกด้วย
[embed-health-tool-bmi]
อาหารอ่อนๆ ดีต่อสุขภาพอย่างไร
อาหารอ่อนๆ คือ อาหารที่มีใยอาหารต่ำ เนื้อสัมผัสนุ่ม เคี้ยวง่าย กลืนง่าย กรดต่ำ และผ่านการปรุงสุกจนย่อยง่าย ช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างเต็มที่ โดยส่วนใหญ่อาหารอ่อนๆ มักเหมาะกับผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยพักฟื้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและใช้เป็นพลังงานในการฟื้นฟูร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง นอกจากนี้ อาหารอ่อนๆ ยังดีต่อการทำงานของระบบย่อยอาหารและลำไส้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาลำไส้และระบบย่อยอาหาร ดังนี้
- ปัญหาเกี่ยวกับการบดเคี้ยวและการกลืนอาหาร
- การติดเชื้อที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหาร
- แพ้อาหาร เช่น แพ้นมวัว แพ้แลคโตส ไวต่อน้ำตาลกลูโคส
- คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด ท้องผูก และท้องเสีย
- การตั้งครรภ์และให้นมบุตร
- ปัญหาลำไส้และกระเพาะอาหาร เช่น กระเพาะเป็นแผล โรคลำไส้อักเสบ โรคกรดไหลย้อน อาการลำไส้แปรปรวน โรคกระเพาะอาหาร โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis)
- การผ่าตัดร่างกาย ผ่าตัดบริเวณศีรษะ คอ ฟัน ปาก ท้อง หรือการผ่าตัดแก้ปัญหาทางเดินอาหาร หรือผ่าตัดกระเพาะอาหาร
- กลุ่มอาการการดูดซึมอาหารผิดปกติ (Malabsorption Syndromes)
- ผู้ที่กำลังรักษาโรคบางชนิด เช่น ฉายรังสี เคมีบำบัด การรักษาด้วยยาที่อาจทำให้มีอาการเบื่ออาหาร
อาหารอ่อน ๆ มีอะไรบ้าง
อาหารอ่อน ๆ ที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมได้ง่ายและดีต่อระบบย่อยอาหาร อาจมีดังนี้
- ธัญพืชที่มีเส้นใยต่ำ ซึ่งเป็นสารอาหารประเภทให้พลังงานกับร่างกาย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ถั่วลันเตา เมล็ดฟักทองต้ม มันฝรั่งนึ่ง อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ คือ ไม่ควรมากกว่า 2 กรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค เพราะการรับประทานเส้นใยที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
- เนื้อสัตว์ ควรเป็นอาหารประเภทโปรตีนไขมันต่ำ เนื้ออ่อนนุ่ม และมีเส้นใยกล้ามเนื้อน้อย เนื่องจากการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีลักษณะดังกล่าวจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารย่อยได้ง่ายขึ้นแต่ยังคงให้พลังงานสูงเหมือนเดิม เช่น เนื้อปลาทุกชนิด เนื้อไก่
- ผลไม้ ผลไม้สุก ผลไม้เนื้อนิ่ม และน้ำผลไม้คั้นสดทุกชนิด เช่น กล้วย มะละกอ แตงโม มะม่วงสุก แคนตาลูป น้ำมะพร้าว
- ผักปรุงสุก ด้วยการต้ม ลวก นึ่ง ย่าง หรือการนำไปปรุงเพื่อประกอบอาหาร เช่น แครอท ผักกาดขาว ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ฟักทอง บร็อคโคลี่ เนื่องจากความร้อนจะช่วยให้ผักและใยอาหารอ่อนตัวลง ช่วยให้รับประทานง่ายและย่อยง่ายมากขึ้น
ข้อควรระวังในการบริโภคอาหารอ่อน ๆ
อาหารอ่อน ๆ ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งหรือปรุงแต่งน้อย จึงอาจทำให้อาหารขาดรสชาติ ซึ่งหากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารจนร่างกายขาดสารอาหาร นอกจากนี้ การปรุงอาหารบางชนิดด้วยความร้ออาจทำให้สูญเสียสารอาหารที่มีประโยชน์ได้
ดังนั้น จึงควรจัดเมนูอาหารให้หลากหลายเพื่อป้องกันอาการเบื่ออาหาร หรือควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับสารอาหารที่ควรได้รับ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องพักฟื้นร่างกายเพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร