backup og meta

แน่นท้อง เกิดจากอะไร ควรรับประทานอาหารอย่างไร

แน่นท้อง เกิดจากอะไร ควรรับประทานอาหารอย่างไร

แน่นท้อง เป็นอาการปวดท้องส่วนบน มีแก๊สในกระเพาะอาหาร เรอบ่อย บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แสบร้อนหน้าอกร่วมด้วย โดยอาการแน่นท้องอาจมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารบางชนิด แพ้อาหาร รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร ดังนั้น หากเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมและไม่เป็นตัวกระตุ้น อาจช่วยบรรเทาอาการแน่นท้องได้ นอกจากนี้ อาจสังเกตตัวเองอยู่เสมอว่ามีอาการแพ้อาหารหรือมีอาการแน่นท้องเกิดขึ้นเมื่อรับประทานอะไร ซึ่งอาจช่วยป้องกันอาการแน่นท้องที่อาจเกิดขึ้นได้

[embed-health-tool-bmr]

แน่นท้อง เกิดจากอะไร

แน่นท้อง คือ อาการที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดท้องส่วนบน มีแก๊สในกระเพาะอาหาร เรอบ่อย บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แสบร้อนหน้าอก อิ่มเร็วแม้จะรับประทานอาหารเพียงเล็กน้อย โดยอาการแน่นท้องอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร การรับประทานยาบางชนิด แพ้อาหาร การรับประทานอาหารบางชนิด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหารโดยตรง ส่งผลทำให้ทางเดินอาหารอักเสบหรือทำงานมากเกินไปจนเกิดเป็นอาการแน่นท้องในที่สุด

อาหารที่ทำให้เกิดอาการแน่นท้อง

อาหารที่ควรระวังในการรับประทานเพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการแน่นท้อง อาจมีดังนี้

  • นมและผลิตภัณฑ์จากนมที่มีน้ำตาลแลคโตส
  • น้ำตาล เช่น น้ำตาลฟรุกโตส สารให้ความหวานเทียมอย่างซอร์บิทอล (Sorbitol)
  • ผักและผลไม้ เช่น หน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี่ กะหล่ำดาว กะหล่ำปลี แครอท มะเขือยาว หัวหอม ลูกเกด ลูกพรุน แอปเปิ้ล แอปริคอท ลูกพีช ลูกแพร์
  • พืชตระกูลถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วลันเตา ถั่วเขียว ถั่วเหลือง อัลมอนด์ ถั่วแมคคาเดเมีย วอลนัท ถั่วลิสง
  • ธัญพืชและเมล็ดพืช เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เมล็ดเจีย ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีท

อาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยแก๊สและใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ หากรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะก็อาจไม่ทำให้เกิดอาการแน่นท้อง แต่หากผู้ป่วยมีอาการแพ้อาหารหรือมีระบบย่อยอาหารไม่ดี และรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอาการแน่นท้องได้ เนื่องจาก แบคทีเรียในลำไส้ที่มีส่วนช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร อาจผลิตแก๊สออกมาในระหว่างการย่อยและหมักอาหาร ดังนั้น เมื่อรับประทานอาหารมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารที่มีเส้นใยไม่ละลายน้ำ ก็อาจทำให้แบคทีเรียผลิตแก๊สเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จนอาจทำให้มีอาการแน่นท้องเกิดขึ้น

อาหารที่ช่วยบรรเทาอาการแน่นท้อง

วิธีการป้องกันอาการแน่นท้อง คือ การรับประทานอาหารทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานอย่างเพียงพอตลอดทั้งวัน โดยอาจแบ่งการรับประทานอาหารออกเป็น 3 มื้อ เพื่อไม่ให้ลำไส้ย่อยอาหารปริมาณมากเกินไปในครั้งเดียวและสามารถช่วยลดการผลิตแก๊สที่ทำให้เกิดอาการแน่นท้องลงได้

นอกจากนี้ ยังอาจมีอาหารหลายชนิดที่สามารถช่วยบรรเทาอาการแน่นท้องได้ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประโยชน์ของอาหาร ดังนี้

  • ยี่หร่า

ยี่หร่าเป็นพืชที่มักใช้ประกอบอาหารและอาจใช้เป็นยาสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร ช่วยย่อยอาหาร เพิ่มการดูดซึมสารอาหารและอาจช่วยรักษาอาการแน่นท้องได้

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ใน The Journal of Life and Environmental Sciences เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของผงเมล็ดยี่หร่าในการย่อยสารอาหาร พบว่า ยี่หร่าเป็นพืชสมุนไพรที่อาจสามารถใช้รักษาโรคทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย รวมทั้งอาจช่วยระงับปวด ลดไข้ และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบ ต้านจุลชีพและปกป้องตับ

  • ขิง

ขิงอาจมีคุณสมบัติช่วยล้างสารพิษและเพิ่มการทำงานของกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจช่วยขับแก๊สและบรรเทาอาการแน่นท้องเนื่องจากอาหารไม่ย่อยได้

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร World Journal of Gastroenterology เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของขิงที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและอาการอาหารไม่ย่อย พบว่า ขิงอาจมีคุณสมบัติช่วยเร่งการล้างกระเพาะอาหาร โดยการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารทำให้การขับถ่ายดีขึ้น ซึ่งช่วยบรรเทาอาการแน่นท้อง ท้องอืด คลื่นไส้และอาเจียนในผู้ที่มีปัญหาอาหารไม่ย่อย

  • สะระแหน่

สะระแหน่เป็นสมุนไพรที่ช่วยในการขับลม ต้านจุลชีพ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ปรับภูมิคุ้มกันและปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการแน่นท้อง ปวดท้อง ท้องอืด ที่อาจเกิดจากปัญหาของระบบทางเดินอาหาร

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร BMC Complementary Medicine and Therapies เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับน้ำมันสะระแหน่ต่ออาการลำไส้แปรปรวน พบว่า น้ำมันสะระแหน่มีคุณสมบัติช่วยเคลือบลำไส้และอาจช่วยรักษาอาการลำไส้แปรปรวน ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง แก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องเสียได้

  • ขมิ้น

การรับประทานอาหารที่มีขมิ้นเป็นส่วนประกอบ เช่น แกงส้ม ชาขมิ้น อาหารเสริม อาจช่วยบรรเทาอาการแน่นท้องได้เป็นอย่างดี เพราะขมิ้นอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร ช่วยปรับการทำงานของลำไส้และยังช่วยขับลม ซึ่งอาจช่วยป้องกันปัญหาทางเดินอาหารที่อาจก่อให้เกิดอาการแน่นท้องได้

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Systematic Reviews เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของขมิ้นในการรักษาความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร พบว่า ขมิ้นมักใช้เป็นยาสมุนไพรในการรักษาโรคต่าง ๆ เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบ ต้านจุลชีพ ขับลมและลดอาการแน่นท้อง รวมถึงยังมีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งเมือกในผนังกระเพาะอาหารที่ช่วยป้องกันการอักเสบ ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้และการเกิดแผลที่เกิดจากความเครียดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารและอาจช่วยบรรเทาอาการแน่นท้องได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ท้องอืด…. อาหารไม่ย่อย (ตอนที่ 1). https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=690. Accessed June 2, 2022

Efficacy of turmeric in the treatment of digestive disorders: a systematic review and meta-analysis protocol. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4080703/. Accessed June 2, 2022

The impact of peppermint oil on the irritable bowel syndrome: a meta-analysis of the pooled clinical data. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6337770/. Accessed June 2, 2022

Effects of dietary fennel (Foeniculum vulgare Mill.) seed powder supplementation on growth performance, nutrient digestibility, small intestinal morphology, and carcass traits of broilers. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7847707/. Accessed June 2, 2022

Effect of ginger on gastric motility and symptoms of functional dyspepsia. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3016669/. Accessed June 2, 2022

Foods to Help You Ease Bloating. https://www.webmd.com/diet/ss/slideshow-foods-to-help-you-ease-bloating. Accessed June 2, 2022

Secrets to Gas Control. https://www.webmd.com/digestive-disorders/features/secrets-gas-control. Accessed June 2, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/06/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

กระเจี๊ยบเขียว สารอาหาร และข้อควรระวังในการบริโภค

4 วิตามินผิว ที่ได้จากการรับประทานอาหาร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 07/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา