backup og meta

Visceral fat คืออะไร และควรป้องกันอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    Visceral fat คืออะไร และควรป้องกันอย่างไร

    Visceral fat  คือ ภาวะไขมันในช่องท้อง ที่เกิดจากไขมันสะสมบริเวณหน้าท้องทำให้มีพุง รูปร่างเปลี่ยนไป มีรอบเอวและน้ำหนักเกินเกณฑ์ อาจส่งผลให้เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจ โรคข้อเข่าเสื่อม ไขมันพอกตับ ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างการเคลื่อนไหวลำบาก ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการลดไขมันรวมถึงการป้องกันภาวะไขมันในช่องท้อง หรือขอคำปรึกษาจากคุณหมอเพื่อรับแผนการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม

    Visceral fat คืออะไร

    Visceral fat คือ ศัพท์ที่ใช้เรียกบุคคลที่เป็นภาวะไขมันในช่องท้อง เป็นภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันในช่องท้องชั้นลึกและล้อมรอบอวัยวะสำคัญ เช่น ตับ ลำไส้ กระเพาะอาหาร และอาจเกาะติดอยู่ตามผนังหน้าท้อง หรือหลอดเลือด ซึ่งอันตรายกว่าไขมันสะสมใต้ผิวหนัง โดยมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ไขมันมากเกินไป เช่น ของทอด อาหารแปรรูป ขนมหวาน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ขนมปังขาว ข้าวขาว เนื้อสัตว์ติดมัน รวมถึงขาดการออกกำลังกาย ที่อาจสังเกตได้จากพุงยื่นคล้ายแอปเปิ้ลหรือลูกแพร์ รอบเอวเกิน น้ำหนักเพิ่มขึ้น

    Visceral fat ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

    Visceral fat อาจส่งผลกระต่อสุขภาพ ดังนี้

    • ข้อเข่าเสื่อม น้ำหนักที่มากเกินไปจากการสะสมของไขมันอาจทำให้ข้อต่อบริเวณเข่าต้องรองรับน้ำหนักตัว ที่เพิ่มความเสี่ยงให้ข้อต่ออักเสบและข้อเข่าเสื่อม โดยอาจสังเกตได้จากอาการปวดเข่าขณะเคลื่อนไหวและเข่าบวม
    • หยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากไขมันที่สะสมในช่องท้องอาจทำให้พุงยื่นและมีขนาดใหญ่ รวมถึงน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการบีบอัดของผนังทรวงอกและปอด ทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ที่สังเกตได้จากอาการหายใจลำบาก อาการกรนอย่างหนัก และหยุดหายใจขณะหลับโดยไม่รู้ตัวที่อาจทำให้สะดุ้งตื่นแรงเนื่องจากขาดอากาศหายใจ
    • ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันที่สะสมในช่องท้องและตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอาจทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินในการจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
    • หัวใจทำงานผิดปกติ เกิดจากไขมันสะสมในหลอดเลือดมากเกินไป จนอาจทำให้ขวางการไหลเวียนของเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ ที่เสี่ยงให้หัวใจเต้นผิดปกติ มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก วิงเวียนศีรษะ เป็นลม และเสี่ยงต่อหัวใจวาย โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ
    • ไขมันพอกตับ การสะสมไขมันในช่องท้องชั้นลึกและปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับอาจทำให้ไขมันไปล้อมรอบตับที่ทำหน้าที่ในการต้านการติดเชื้อ สร้างโปรตีนให้กับร่างกาย ผลิตน้ำดีที่ช่วยในการย่อยอาหาร และเปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงาน หากไม่มีการลดไขมันจึงอาจทำให้ตับอักเสบ เนื้อเยื่อของตับถูกทำลายเป็นแผลที่เสี่ยงตับวายและโรคมะเร็งตับได้

    วิธีป้องกัน Visceral fat

    วิธีป้องกัน Visceral fat อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ควรเลือกอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ เพราะอาจทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ช่วยลดการรับประทานอาหารว่างระหว่างวันป้องกันไขมันไม่ดีสะสมในช่องท้อง อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต และไขมันไม่ดีสูง เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว ขนมหวาน ของทอด อาหารแปรรูป น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์และน้ำผลไม้ที่เพิ่มความหวานจากน้ำตาล เพราะอาจทำให้ไขมันสะสมในช่องท้องเพิ่มขึ้น
    • อ่านข้อมูลโภชนาการ ก่อนเลือกซื้ออาหาร เครื่องปรุง ขนม และเครื่องดื่มมารับประทาน ควรอ่านข้อมูลโภชนาการข้างฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อตรวจสอบว่ามีคาร์โบไฮเดรต แคลอรี่ ไขมัน และน้ำตาลสูงหรือไม่ เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดการสะสมไขมันในร่างกาย
    • ไม่ควรอดอาหาร การอดอาหารไม่ใช่ทางออกในการลดน้ำหนักและลดไขมัน โดยเฉพาะอาหารเช้าที่เป็นมื้อสำคัญ ที่ช่วยเพิ่มพลังงานให้ร่างกายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งการอดอาหารยังอาจกระตุ้นให้ความหิวเพิ่มขึ้น ทำให้รับประทานอาหารในมื้ออื่น ๆ มากขึ้น เสี่ยงน้ำหนักเพิ่มจนนำไปสู่โรคอ้วน
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกาย อาจอาจช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญไขมันและน้ำตาลจากอาหารเปลี่ยนเป็นพลังงาน ที่ป้องกันการสะสมของในมันในช่องท้อง โดยควรออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาที/วัน เป็นเวลา 5 วัน/สัปดาห์ เช่น การวิ่งเหยาะ การวิ่งบนลู่วิ่ง การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ กระโดดเชือก นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังกายในรูปแบบอื่น ๆ ที่ช่วยลดไขมันหน้าท้องซึ่งเป็นท่าทางเฉพาะ เช่น แพลงก์ เบอร์พี ท่าปั่นจักรยานบนอากาศ ท่าวีอัพ (V ups) ท่าเบสิก ครัช (Basic Crunch) อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ ปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อและข้อเข่า อาจจำเป็นต้องปรึกษาคุณหมอ เพื่อรับแผนการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
    • ลดความเครียด เพราะความเครียดอาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดที่ทำให้รู้สึกอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันไม่ดีสูง จึงเสี่ยงต่อการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้น หากต้องการลดความเครียดอาจเปลี่ยนเป็นรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพแทนหรือผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ นอนพักผ่อน เดินห้างสรรพสินค้า เล่นเกม 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา