backup og meta

รู้ก่อน เตรียมตัวทัน ของที่ควรกักตุน เพื่อรับมือในช่วงโรคระบาด Covid-19

รู้ก่อน เตรียมตัวทัน ของที่ควรกักตุน เพื่อรับมือในช่วงโรคระบาด Covid-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในปัจจุบัน ยังลงลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ อิตาลี อิหร่าน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และในไทย ที่ยังคงมีความน่าเป็นห่วง และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยมีจำนวนผู้ที่ยืนยันแล้วว่าติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน ไม่ต่ำกว่าวันละ 30 ราย และยังเป็นที่กังวลว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้อาจจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และเข้าสู่ระยะที่ 3 ในไม่ช้า ทำให้หลายๆ คนเริ่มกักตุนอาหารและของจำเป็น เผื่อในกรณีที่จะต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน แต่การจะกักตุนอาหาร ใช่ว่าสมควรจะซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า บทความนี้จะมาแนะนำให้คำแนะนำเกี่ยวกับ ของที่ควรกักตุน ที่ทุกคนควรรู้ สำหรับการเตรียมตัวอย่างเพียบพร้อม เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

หลังจากที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทำการยกระดับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ให้เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้ได้แพร่กระจาย และส่งผลกระทบไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะภายในประเทศอิตาลี ที่มีจำนวนยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นไปเกินกว่าหมื่นราย และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 พันรายขึ้นไป จนทางอิตาลีต้องประกาศให้มีการกักตัวอยู่ในบ้าน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

ความรุนแรงของการแพร่ระบาดนี้ ทำให้ประชาชนหลายๆ ประเทศเริ่มตื่นตัว และหันมากักตุนอาหารและสินค้ากันอย่างล้นหลาม ในอินเทอร์เน็ตก็เริ่มมีการเผยแพร่ภาพของ ชั้นวางสินค้าที่ว่างเปล่า เนื่องจากประชาชนแห่กันไปซื้ออาหารและของใช้เพื่อกักตุนรอรับมือกับวิกฤตโรคระบาดนี้ รวมไปจนถึงในประเทศไทย สังเกตได้จากจำนวนคนที่พากันมาจับจ่ายซื้อของตุน โดยเฉพาะพวกอาหารแห้งและน้ำดื่ม แม้ว่าทางกระทรวงสาธารณะสุขจะยืนยันว่าประเทศไทยนั้นยังไม่วิกฤตถึงขึ้นที่จะต้องกักตุนอาหาร แต่การเตรียมตัวให้พร้อมเสียก่อนก็ช่วยให้หลายๆ คนเกิดความสบายใจได้ไม่น้อย

ของที่ควรกักตุน เพื่อรับมือกับโรคระบาด

อาหาร

อาหารคือสิ่งสำคัญที่สุดที่คุณควรกักตุน และเป็นสิ่งแรกๆ ที่จะหมดก่อน เนื่องจากไม่ว่าใครต่างก็ต้องกินอาหารกันทั้งนั้น และหากคุณจำเป็นต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน คุณก็อาจไม่สามารถออกจากบ้านมาซื้อของกินได้ตามปกติ คุณควรซื้ออาหารกักตุนเผื่อสำหรับหลายสัปดาห์ และอย่าลืมคำนวณปริมาณให้เหมาะสมกับจำนวนของคนในบ้าน โดยอาหารที่ควรซื้อมีดังนี้

  • ข้าวสาร ข้าวสารเป็นอาหารหลักที่เรารับประทาน ทั้งยังเป็นของแห้งที่สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 2 ปี นับจากวันผลิต
  • น้ำดื่ม อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการใช้ชีวิต เพราะร่างกายของเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หากขาดน้ำเป็นเวลานานกว่า 3 วัน และในช่วงกักตัวเนื่องจากโรคระบาด น้ำสะอาดอาจจะเป็นสิ่งที่หายาก น้ำดื่มในขวดนั้นสามารถเก็บรักษาไว้ได้เป็นเวลานาน ขอเพียงแค่ระมัดระวังอย่าให้โดนแสงแดด
  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อีกหนึ่งอาหารยังชีพที่เหมาะสมกับการกักตุน เนื่องจากสามารถเก็บไว้ได้นาน และรับประทานได้ง่ายเพียงแค่ต้มน้ำร้อน แม้ว่าอาจจะไม่ค่อยมีคุณค่าทางสารอาหาร แต่ก็ช่วยให้อิ่มท้องได้
  • อาหารกระป๋อง อาหารกระป๋องพร้อมรับประทานต่างๆ เช่น ปลากระป๋อง ซุปกระป๋อง หรือเนื้อกระป๋อง สามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน ทั้งยังกินง่าย ไม่ต้องการการประกอบอาหารอะไรมากมาย
  • ผักและผลไม้ แม้จะอยู่ในช่วงกักตัว เราก็ควรจะรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อไม่เป็นการก่อโรคอื่นๆ ควรเลือกกักตุนผักและผลไม้แช่แข็ง ผักผลไม้กระป๋อง หรือผักผลไม้แห้ง เนื่องจากสามารถเก็บไว้ได้นาน และมีคุณค่าทางสารอาหารค่อนข้างสูง เช่น ถั่วแช่แข็ง มะเขือเทศตากแห้ง หรือเงาะกระป๋อง แต่หากอยากจะเลือกผักและผลไม้สด ควรเลือกผักที่สามารถเก็บไว้ได้นาน เช่น มันฝรั่ง แครอท ฟักทอง หัวหอม กระเทียม ส้ม องุ่น
  • น้ำผึ้ง น้ำผึ้งเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง สามารถเก็บไว้ได้นาน ทั้งยังมีความหวาน เหมาะสำหรับการปรุงรสชาติเพิ่มความหวานให้กับคนที่ชอบกินหวานอีกด้วย
  • น้ำพริกแห้ง น้ำพริกแห้งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนมักจะขาดไม่ได้ เพราะช่วยเพิ่มรสชาติของมื้ออาหารให้แซ่บ อร่อย ไม่น่าเบื่อ และน้ำพริกแห้งก็สามารถเก็บไว้ได้ค่อนข้างนานด้วยเช่นกัน
  • ถั่วและธัญพืชอบแห้ง เป็นแหล่งของโปรตีนและในอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ทั้งยังสามารถกินเป็นขนมขบเคี้ยวแก้เบื่อแบบดีต่อสุขภาพอีกด้วย
  • เส้นพาสต้า หากกินแต่ข้าว บางคนก็อาจจะเบื่อได้ อาหารจำพวกเส้นพาสต้าก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถเก็บได้นาน และนำไปประกอบอาหารต่างๆ ได้มากมาย
  • อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง นอกจากอาหารสำหรับคนแล้ว หากคุณมีสัตว์เลี้ยง อย่าลืมเตรียมอาหารเผื่อสำหรับสัตว์เลี้ยงตัวน้อยๆ ของคุณด้วย โดยพยายามเลือกเป็นอาหารแห้ง เช่น อาหารเม็ด เพราะสามารถเก็บไว้ได้นานกว่า

ยา

นอกจากการกักตุนอาหารแล้ว ยารักษาโรคก็เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรหลงลืม ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงโรคระบาด อาจทำให้ยารักษาโรคหายากกว่าปกติ โดยยาที่ควรมีติดบ้านมีดังต่อไปนี้

  • ยาแก้ปวด ทุกบ้านควรมียาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพราะยานี้สามารถช่วยบรรเทาอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่อาการปวดหัว ไปจนถึงช่วยลดไข้
  • แอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์นั้นนอกจากจะใช้ทำแผลได้แล้ว ยังช่วยฆ่าเชื้อโรคและสิ่งสกปรกได้ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สมควรมีติดบ้าน
  • ยารักษาโรคประจำตัว หากคุณมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน อย่าลืมเตรียมยาสำหรับโรคของคุณไว้ให้เรียบร้อย เผื่อในกรณีฉุกเฉิน
  • ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น ควรเตรียมชุดอุปกรณ์สำหรับการปฐมพยาบาล เช่น ผ้าพันแผล น้ำเกลือล้างแผล พลาสเตอร์ปิดแผล ไว้ให้เรียบร้อย

สิ่งของเครื่องใช้

ท้ายที่สุด อย่าลืมตระเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ สำหรับการใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น

  • อุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น สบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน ใช้สำหรับทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ และอาบน้ำ โดยเฉพาะสบู่สำหรับการล้างมือ ที่จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อไวรัส Covid-19 ได้
  • ถุงขยะ สำหรับทิ้งสิ่งที่ไม่ต้องการ โดยเฉพาะขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย ควรแยกทิ้งเป็นกิจจะลักษณะให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • กระดาษชำระ สำหรับเช็ดทำความสะอาดสิ่งสกปรกต่างๆ’

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to prepare for a pandemic situation https://www.ottawapublichealth.ca/en/public-health-topics/resources/Images/corona/Prep-for-Pandemic-COVID-19-Factsheet_EN-v10.pdf. Accessed 18 March 2020
How to prepare for the COVID-19 pandemic. https://www.ottawapublichealth.ca/en/public-health-topics/pandemic-preparedness.aspx. Accessed 18 March 2020
Coping with stress during the 2019-nCoV outbreak Emergency Responders: Tips for taking care of yourself https://emergency.cdc.gov/coping/responders.asp. Accessed 18 March 2020
A Guide: How To Prepare Your Home For Coronavirus. https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2020/02/26/809650625/a-guide-how-to-prepare-your-home-for-coronavirus. Accessed 18 March 2020
Novel Coronavirus (COVID-19) Situation https://experience.arcgis.com/experience/685d0ace521648f8a5beeeee1b9125cd. Accessed 18 March 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ติดโควิด ทํายังไง ต้องไปโรงพยาบาลหรือไม่ กักตัวกี่วัน

WHO เผยข้อมูล สัญญาณ อาการ การทำงาน และความรุนแรงของโควิด-19


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา