backup og meta

หายใจไม่ออก สาเหตุ และวิธีทำให้หายใจสะดวกขึ้น

หายใจไม่ออก สาเหตุ และวิธีทำให้หายใจสะดวกขึ้น

หายใจไม่ออก เป็นปัญหาระบบทางเดินหายใจที่มักเกิดขึ้นเวลาเหนื่อยมาก ๆ หรืออยู่ในบริเวณที่ไม่เอื้อต่อการหายใจ เช่น สถานที่แคบ สถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทน้อย อาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่สาเหตุอาจแตกต่างกันไป เช่น บางคนอาจมีอาการหายใจไม่ออกเพราะเหนื่อยจากการออกกำลังกาย ขณะที่บางคนอาจหายใจไม่ออกเนื่องจากปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหอบหืด อย่างไรก็ตาม หากรู้วิธีรับมือที่ถูกต้อง อาจบรรเทาอาการหายใจไม่ออก และช่วยให้หายใจสะดวกขึ้นได้

[embed-health-tool-heart-rate]

หายใจไม่ออก เกิดจากอะไร

อาการหายใจไม่ออก คือ ภาวะทางสุขภาพที่ทำให้หายใจไม่สะดวก หายใจลำบาก หายใจได้น้อย ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่อาการวิตกกังวล ไข้หวัด ความเครียด การออกกำลังกาย รวมถึงอาการสุขภาพต่าง ๆ ดังนี้

อาการทางสุขภาพเกี่ยวกับปอด

  • โรคหอบหืด
  • ปอดอักเสบ
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • โรคถุงลมโป่งพอง
  • โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
  • ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง
  • ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน

อาการทางสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจ

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ

วิธีบรรเทาอาการหายใจไม่ออก

วิธีเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาอาการหายใจไม่ออก และช่วยให้หายใจสะดวกขึ้นได้

หายใจออกทางปาก

หากมีอาการหายใจไม่ออก อาจลองหายใจเข้าทางจมูก และหายใจออกทางปาก วิธีนี้จะช่วยควบคุมการหายใจให้ถี่ขึ้นหรือช้าลงได้ตามต้องการ 

วิธีทำ

  1. ผ่อนคลายกล้ามเนื้อคอและไหล่
  2. ปิดปากไว้ และหายใจเข้าทางจมูกช้า ๆ 2 ครั้ง
  3. ห่อปากคล้ายกำลังผิวปาก
  4. ค่อย ๆ หายใจออกทางปากช้า ๆ นับ 1-4

นั่งเก้าอี้

เมื่อหายใจไม่ออก ให้ค่อย ๆ ลุกขึ้นนั่งเก้าอี้ เพื่อปรับระบบการหายใจ

วิธีทำ

  1. นั่งบนเก้าอี้ ให้เท้าแนบติดกับพื้น แล้วเอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย
  2. วางศอกไว้บนเข่า หรือใช้มือเท้าคางไว้ จากนั้นค่อย ๆ หายใจเข้า-ออก

ฟุบลงกับโต๊ะ

หากการนั่งกับเก้าอี้ยังไม่ช่วยให้รู้สึกหายใจสะดวกขึ้น ให้ลองฟุบหน้าลงกับโต๊ะ อาจช่วยให้หายใจได้ดีขึ้น

วิธีทำ

  1. นั่งบนเก้าอี้ ให้เท้าแนบติดกับพื้น หันหน้าเข้าหาโต๊ะ
  2. เอนหน้าอกไปข้างหน้าเล็กน้อย วางมือลงบนโต๊ะ
  3. วางศีรษะลงบนท่อนแขนที่วางบนโต๊ะ หรือหากมีหมอนก็ให้ใช้หมอนแทน เพื่อลดอาการปวดเมื่อยจากการนอนทับแขน จากนั้นค่อย ๆ หายใจเข้า-ออก

ยืนพิงผนัง

การยืนขณะที่มีอาการหายใจไม่ออก จะช่วยผ่อนคลายร่างกายและระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น

วิธีทำ

  1. ยืนพิงผนังหรือกำแพง ให้สะโพกแตะกับผนัง
  2. แยกเท้าออกจากกัน วางมือบนต้นขา
  3. ผ่อนคลายไหล่ลง เอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ค่อย ๆ หายใจเข้า-ออก

หายใจแบบใช้กะบังลม

การหายใจโดยใช้กระบังลม อาจช่วยบรรเทาอาการหายใจไม่ออกให้ดีขึ้น 

วิธีทำ

  1. นั่งลงบนเก้าอี้ งอเข่าเข้าหาเก้าอี้เล็กน้อย ผ่อนคลายศีรษะ คอ และไหล่
  2. วางมือไว้ที่หน้าท้อง
  3. หายใจเข้าทางจมูกช้า ๆ ให้สัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวภายในท้องภายใต้ฝ่ามือ
  4. หายใจออกทางปาก โดยขณะหายใจออกให้กระชับกล้ามเนื้อ เพื่อให้สัมผัสได้ถึงหน้าท้องที่ยุบลง
  5. เน้นหายใจออกมากกว่าหายใจเข้า และหายใจออกให้นานกว่าปกติ จากนั้นหายใจเข้าอีกครั้งช้า ๆ
  6. ทำซ้ำเป็นเวลา 5 นาที

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

โดยทั่วไปแล้วหากมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาทันที

  • หายใจไม่ออก และเป็นลมหรือหมดสติ
  • หายใจไม่ออก พร้อมกับมีอาการหัวใจวาย
  • หายใจไม่ออกโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีไข้สูง หนาวสั่น
  • หายใจไม่ออกบ่อยและถี่ และไม่มีทีท่าว่าอาการจะดีขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Breathing Problems. https://www.webmd.com/lung/breathing-problems-causes-tests-treatments#1. Accessed December 6, 2021

https://medlineplus.gov/breathingproblems.html

Breathing problems and exercise. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/breathing-problems-and-exercise. Accessed December 6, 2021

Shortness of breath. https://www.mayoclinic.org/symptoms/shortness-of-breath/basics/causes/sym-20050890. Accessed December 6, 2021

Shortness of breath. https://www.nhs.uk/conditions/shortness-of-breath/. Accessed December 6, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/09/2023

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ชาบรรเทาอาการหอบหืด ดื่มแล้วช่วยให้หายใจโล่งขึ้น

คัดจมูก สาเหตุ และวิธีการบรรเทาอาการ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 27/09/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา