backup og meta

วิธีทำทิชชู่เปียก หรือผ้าเช็ดอเนกประสงค์ ไว้ใช้เองที่บ้าน ประหยัดและสะอาดชัวร์

วิธีทำทิชชู่เปียก หรือผ้าเช็ดอเนกประสงค์ ไว้ใช้เองที่บ้าน ประหยัดและสะอาดชัวร์

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคกลายเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความต้องการของตลาดสูงมาก หากรู้ว่าที่ไหนมีขาย หลายคนเป็นต้องรีบไปหาซื้อมาไว้เพื่อใช้ต่อสู้กับเจ้าไวรัสตัวร้ายนี้ให้ได้ จนสินค้าเหล่านี้ขาดตลาดในหลาย ๆ พื้นที่ นอกจากแอลกอฮอล์น้ำ เจลแอลกอฮอล์ และน้ำยาฆ่าเชื้อแล้ว ทิชชู่เปียก หรือผ้าเช็ดอเนกประสงค์สูตรแอนตี้แบคทีเรีย หรือชนิดมีแอลกอฮอล์ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย รา ไวรัส ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนหาซื้อได้ลำบาก วันนี้ Hello คุณหมอ เลยมี วิธีทำทิชชู่เปียก ใช้เองมาฝาก บอกเลยว่าฆ่าเชื้อโรคได้ แถมยังประหยัดด้วย

วิธีทำทิชชู่เปียก แบบง่ายๆ

คุณสามารถทำทิชชู่เปียกสูตรฆ่าเชื้อโรค ไว้ใช้ที่บ้านหรือพกติดตัวไว้เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ตามต้องการได้ง่ายๆ ด้วยวิธีทำทิชชู่เปียกดังนี้

วิธีทำทิชชู่เปียก แบบใช้แล้วทิ้ง

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

  • ทิชชู่เนื้อหนา                  1 ม้วน
  • น้ำยาซักผ้าขาว              ⅓ ถ้วยตวง (สำหรับสูตรเข้มข้น) หรือ ½ ถ้วยตวง (สำหรับสูตรธรรมดา)
  • น้ำเปล่า                          1 แกลลอน (3.78 ลิตร)
  • ถุงมือยาง                       1 คู่
  • ภาชนะที่มีฝาปิดแน่นหนา สำหรับใส่ทิชชู่เปียก

วิธีทำ

  1. ผสมน้ำยาซักผ้าขาวกับน้ำเปล่าให้เข้ากันในภาชนะที่เตรียมไว้
  2. ใส่ทิชชู่ลงในภาชนะ กดให้น้ำยาชุ่มทั่วม้วนทิชชู่ ปิดฝา ทิ้งไว้อย่างน้อย 5 นาที ค่อยใช้งาน

วิธีทำทิชชู่เปียก แบบใช้ซ้ำได้

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

  • ผ้าไมโครไฟเบอร์ขนาดประมาณ 30×30 ซ.ม.         5-6 ผืน
  • น้ำยาซักผ้าขาว              ⅓ ถ้วยตวง (สำหรับสูตรเข้มข้น) หรือ ½ ถ้วยตวง (สำหรับสูตรธรรมดา)
  • น้ำเปล่า                          1 แกลลอน (3.78 ลิตร)
  • ถุงมือยาง                       1 คู่
  • ภาชนะที่มีฝาปิดแน่นหนา สำหรับใส่ผ้าเช็ดอเนกประสงค์

วิธีทำ

  1. ผสมน้ำยาซักผ้าขาวกับน้ำเปล่าให้เข้ากันในภาชนะที่เตรียมไว้
  2. ใส่ผ้าไมโครไฟเบอร์ลงในภาชนะ กดให้น้ำยาชุ่มทั่วผืนผ้า ปิดฝา ทิ้งไว้อย่างน้อย 5 นาที ค่อยใช้งาน

ข้อควรรู้ก่อนทำทิชชู่เปียกใช้เอง

  • น้ำยาซักผ้าขาวมีส่วนผสมที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ รวมถึงไวรัสโคโรนา 2019 ได้ แต่ก็มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง ฉะนั้น เมื่อนำมาใช้ทำทิชชู่เปียก คุณจึงต้องระมัดระวังอย่างดี คือ ต้องสวมถุงมือยาง และสวมแว่นตาป้องกัน (ถ้ามี) ระวังอย่าให้น้ำยาซักผ้าขาวสัมผัสกับร่างกาย หากโดนแล้วต้องรีบล้างน้ำเปล่าทันที
  • ก่อนนำน้ำยาซักผ้าขาวมาใช้ อย่าลืมสังเกตวันหมดอายุให้ดีด้วย เพราะหากน้ำยาซักผ้าขาวหมดอายุ อาจทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
  • หลังจากทำทิชชู่เปียกแล้ว ควรล้างมือด้วยน้ำสบู่และน้ำเปล่าให้สะอาด ทิ้งถุงมือยางในถุงพลาสติก แล้วผูกปากถุงให้ดีจึงค่อยนำไปทิ้งลงถังขยะ
  • เวลาจะทำทิชชู่เปียก ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าตัวเก่า หรือเสื้อผ้าที่เสียหายได้ เพราะน้ำยาซักผ้าขาว หากโดนเสื้อผ้า อาจทำให้เสื้อผ้าเสียหายหรือสีด่างได้
  • ควรทำทิชชู่เปียก และเก็บน้ำยาซักผ้าขาวให้ห่างจากเด็กหรือสัตว์เลี้ยง
  • อย่าผสมน้ำยาซักผ้าขาวกับสารเคมีอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอมโมเนีย เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่เป็นอันตราย ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บร้ายแรงได้
  • หากเทน้ำยาที่ผสมใส่ภาชนะที่เตรียมไว้แล้วน้ำยายังเหลือ คุณสามารถนำมาใส่ขวดสเปรย์ เอาไว้ฉีดพ่นทำความสะอาดพื้นผิวได้
  • ไม่ควรนำภาชนะที่นำมาใส่ทิชชู่หรือผ้าเปียกแล้ว ไปใส่อาหารหรือของใช้อื่น ๆ อีก

วิธีใช้งาน และเก็บทิชชู่เปียกทำเองแบบถูกต้อง

  • เพื่อความปลอดภัย คุณควรเก็บทิชชู่เปียกและผ้าเปียกสูตรฆ่าเชื้อโรค ตามวิธีดังต่อไปนี้
  • เก็บให้พ้นจากเด็ก สัตว์เลี้ยง อาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร ของใช้ (เช่น ของเล่นเด็ก ของใช้เด็ก) หากน้ำยาเปื้อนของเหล่านี้ ควรรอ 5 นาทีแล้วล้างด้วยน้ำอุ่นให้สะอาด และผึ่งให้แห้ง
  • สวมถุงมือยางทุกครั้งก่อนหยิบมาใช้งาน
  • ใช้ทิชชู่เปียก หรือผ้าเปียกเช็ดพื้นผิวที่ต้องการ แล้วทิ้งไว้ 5-10 นาที จากนั้นจึงใช้น้ำเปล่าเช็ดซ้ำ 1-2 รอบ ทิ้งไว้ให้แห้ง จึงจะฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • สำหรับผ้าเปียกแบบใช้ซ้ำได้ ควรซักให้สะอาดทุกครั้งหลังใช้งาน และแช่ในน้ำยาอย่างน้อย 5 นาที ก่อนนำกลับมาใช้งานอีกครั้ง
  • หากน้ำยาที่ผสมไว้ในภาชนะเริ่มเหลือน้อย คุณสามารถผสมน้ำยาใหม่ในสัดส่วนเดิมเติมเข้าไปได้
  • ทิชชู่เปียก หรือผ้าเปียกทำเองตามสูตรที่เรานำเสนอนี้จะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ดีที่สุด หากใช้งานภายใน 24 ชั่วโมงหลังทำเสร็จและเก็บไว้ในภาชนะที่เหมาะสม ฉะนั้น หากทำไว้นานแล้วยังใช้ไม่หมด ควรทิ้งแล้วทำใหม่ จะได้ใช้ฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เปลี่ยนเบบี้ไวพ์ (Baby wipe) เป็นทิชชู่เปียกชนิดฆ่าเชื้อได้ไหม

สำหรับใครที่มีทิชชู่เปียกแบบไร้แอลกอฮอล์ หรือทิชชู่เปียกสำหรับเด็กที่เรียกว่าเบบี้ไวพ์ และอยากเปลี่ยนให้เป็นทิชชู่เปียกแบบฆ่าเชื้อโรคได้ คุณก็สามารถทำได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • แช่เบบี้ไวพ์ในรับบิ้งแอลกอฮอล์หรือที่เรียกว่าเอทิลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 70% แต่ไม่ควรเกิน 90% เพราะจะระเหยเร็วเกินไป จนประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคลดลง

คุณต้องแน่ใจว่าเบบี้ไวพ์แช่แอลกอฮอล์จนชุ่มทุกส่วน และเมื่อนำไปเช็ดพื้นผิวที่ต้องการแล้ว ต้องปล่อยให้แห้งก่อนสัมผัสพื้นผิวดังกล่าว จึงจะฆ่าเชื้อโรคได้ดี

วิธีหนึ่งในการป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำก็คือ การทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ เป็นประจำ นั่นทำให้ทิชชู่เปียก หรือผ้าเช็ดอเนกประสงค์ชนิดฆ่าเชื้อโรคได้กลายเป็นสิ่งของจำเป็นที่คุณต้องใช้ในปริมาณมาก ฉะนั้น หากคุณทำทิชชู่เปียกหรือผ้าเปียกใช้เองตามวิธีที่เราแนะนำข้างต้น ก็จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้มากเลยทีเดียว

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Making DIY Disinfectant Wipes. https://www.healthline.com/health/how-to-make-disinfectant-wipes#summary. Accessed May 5, 2020

How to Make (and Use) a Disinfectant Against Coronavirus. https://www.nytimes.com/article/disinfectant-coronavirus.html. Accessed May 5, 2020

How to Make DIY Disinfectant Wipes. https://www.greenmatters.com/p/diy-disinfectant-wipes. Accessed May 5, 2020

How to Make Homemade Disinfecting Wipes. https://myheavenlyrecipes.com/how-to-make-homemade-disinfecting-wipes/. Accessed May 5, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

หน้ากากพลาสติก (Face Shield) ตัวช่วยในการป้องกันตนเองจาก เชื้อโควิด-19

กลัว ไวรัสโควิด-19 ติดมากับเสื้อผ้า ซักเสื้อผ้าอย่างไรให้สะอาดปราศจากไวรัส


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา