RSV คือ เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนบริเวณจมูกและคอ และในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างบริเวณปอด มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาว หรือประมาณเดือนกรกฎาคม-มกราคม โดยทั่วไปแล้ว RSV จะทำให้เด็กมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะ มีไข้ กินนมและอาหารได้น้อยลง หายใจลำบาก อาการแสดงจะปรากฏหลังได้รับเชื้อประมาณ 2-5 วัน และอาจมีอาการประมาณ 5-7 วัน ส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบ (ปอดบวม) โดยเฉพาะในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดซึ่งมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือในเด็กที่มีโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือปอด ก็อาจเสี่ยงเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและถึงขั้นเสียชีวิตได้
[embed-health-tool-vaccination-tool]
RSV คือ อะไร
อาร์เอสวี หรือ RSV คือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบได้บ่อยในเด็กเล็ก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกวัย เด็กส่วนใหญ่อาจติดเชื้อ RSV อย่างน้อย 1 ครั้งก่อนอายุถึง 2 ขวบ และอาจติดเชื้อซ้ำได้อีกในภายหลัง ส่วนใหญ่แล้วอาการจะรุนแรงที่สุดในช่วง 3-5 วันแรกที่มีอาการแสดง ก่อนอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด
ทั้งนี้ เด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ถือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงเกิดอาการของการติดเชื้อ RSV รุนแรงกว่าคนทั่วไป และเสี่ยงเสียชีวิตได้ อีกทั้งการติดเชื้อ RSV ตอนเป็นทารกยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหอบหืดได้ในภายหลัง คุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัวที่มีเด็กเล็กในบ้านจึงควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสตัวเด็ก หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กสัมผัสกับควันบุหรี่ และควรดูแลไม่ให้คนแปลกหน้าหรือคนในครอบครัวที่อาจนำเชื้อมาติดเด็กสัมผัสกับตัวเด็ก หรือจูบหอมเด็กเล็ก เพื่อลดความเสี่ยงที่เด็กจะติดเชื้อไวรัสชนิดนี้และโรคอื่น ๆ
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ RSV
เชื้อ RSV เป็นเชื้อที่ติดต่อผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ สามารถแพร่กระจายได้อย่างง่าย เนื่องจากเชื้อที่ปนเปื้อนมากับสารคัดหลั่งสามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง โดยจะมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวแข็ง เช่น โต๊ะ ราวเปลเด็ก ได้นานหลายชั่วโมง และอาจมีชีวิตสั้นกว่าหรือมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 30 นาทีเมื่ออยู่บนพื้นผิวที่อ่อนนุ่ม เช่น ทิชชู่ มือ เมื่อเด็กสัมผัสกับพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วสัมผัสกับตา ปาก จมูก หรือสูดหายใจรับละอองน้ำลายจากผู้ป่วยที่ไอหรือจามเข้าไป ก็อาจทำให้ติดเชื้อได้
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้การติดเชื้อ RSV รุนแรงขึ้น มีดังนี้
ปัจจัยเสี่ยงในเด็ก
- เด็กมีอายุน้อยกว่า 12 สัปดาห์
- เด็กคลอดก่อนกำหนดหรือเด็กมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ โดยเฉพาะเด็กที่เกิดก่อนอายุครรภ์ครบ 29 สัปดาห์
- เด็กคลอดก่อนกำหนดและเป็นโรคปอดเรื้อรัง
- เด็กเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด
- เด็กมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากการรักษาโรคหรือจากโรคที่เป็นอยู่
- เด็กมีระบบประสาทและกล้ามเนื้อผิดปกติ
- เด็กที่แม่สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์
- เด็กได้รับควันบุหรี่มือสอง
- เด็กเป็นภูมิแพ้และโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema)
- เด็กไม่ได้กินนมแม่
- เด็กใช้ชีวิตประจำวันในที่คนพลุกพล่านหรือมีเด็กจำนวนมาก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนเตรียมอนุบาล หรืออยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด
ปัจจัยเสี่ยงในผู้ใหญ่
- มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าปกติ
- เป็นผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจหรือโรคปอด
สัญญาณของการติดเชื้อ RSV
อาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ RSV อาจมีดังนี้
- คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล
- ปวดศีรษะเล็กน้อย
- เจ็บคอ
- ไอ
- มีไข้
- มีเสมหะจำนวนมาก
- ไม่สามารถกินหรือดื่มได้
- รู้สึกไม่สบายตัว
- หายใจมีเสียงหวีด
- หายใจเร็วกว่าปกติ หรือหายใจเหนื่อยหอบ
ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ RSV
การติดเชื้อ RSV อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี ดังต่อไปนี้
- โรคหลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) เกิดจากการติดเชื้อที่หลอดลมฝอย พบได้บ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี อาจทำให้เด็กจาม น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก ไอ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด ร้องไห้งอแง โดยทั่วไปอาการมักไม่รุนแรงและสามารถรักษาให้หายได้เองที่บ้าน
- โรคปอดบวม (Pneumonia) เกิดจากการติดเชื้อบริเวณปอดข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง เมื่อเชื้อลุกลามไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนล่างจะทำให้เด็กมีอาการหายใจเร็วกว่าปกติ และอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
วิธีรักษา RSV
การติดเชื้อ RSV เป็นการติดเชื้อไวรัสจึงไม่มียารักษาเฉพาะที่สามารถกำจัดไวรัสออกจากร่างกายได้ วิธีรักษา RSV โดยทั่วไปเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ดังนี้
- ให้สารน้ำ ให้เด็กกินนมมากขึ้น สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรให้ดื่มน้ำมาก ๆ ด้วย เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปและป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ
- กำจัดเสมหะ คุณพ่อคุณแม่สามารถดูดน้ำมูกในจมูกของเด็กออกได้ด้วยลูกยางชนิดนิ่มแบบใช้แล้วทิ้ง เพื่อช่วยให้ทางเดินหายใจของเด็กโล่งและเด็กหายใจได้สะดวกขึ้น
- ให้ออกซิเจนและใช้เครื่องช่วยหายใจ ในกรณีอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องให้ออกซิเจนหรือใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยให้เด็กหายใจได้ตามปกติ
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากเด็กมีอาการคล้ายเป็นหวัดร่วมกับมีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ RSV ระดับรุนแรง ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
- มีอาการของโรคหลอดลมฝอยอักเสบ เช่น หายใจเร็วกว่าปกติ รูจมูกบานและหันศีรษะไปมาขณะหายใจ หายใจมีเสียงหวีด
- มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ผิวแห้ง ถ่ายปัสสาวะน้อย
- หยุดหายใจหรือหายใจลำบาก
- ผิวหนัง ริมฝีปาก หรือลิ้นขาวซีดหรือเปลี่ยนเป็นสีเทา
- เซื่องซึมมากจนผิดสังเกต
นอกจากนี้ เด็กที่ติดเชื้อ RSV อย่างรุนแรงยังเสี่ยงติดเชื้ออื่น ๆ เช่น การติดเชื้อที่หู หากมีอาการต่อไปนี้ก็ควรรีบพาเด็กไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการและรับการรักษาอย่างเหมาะสมเช่นกัน
- อาการของการติดเชื้อ RSV แย่ลง หรือไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์
- เด็กนอนไม่ค่อยหลับ มีอาการงอแง เจ็บบริเวณหน้าอก ดึงหูตัวเอง หรือมีน้ำไหลออกจากหู
- เด็กอายุน้อยกว่า 12 สัปดาห์ (3 เดือน) มีไข้ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- เด็กทุกช่วงวัยมีไข้ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไปบ่อยครั้ง